เมื่อ “A&W” ก็ยังต้องมี “บิงซู” หลังผนึกเครือซีพี เพิ่มไลน์เมนูนางเอกในร้าน

การทำธุรกิจในสังเวียนเดียวกัน นอกจากเห็นแบรนด์แข่งขันกันแล้ว ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องจับมือกัน เพื่อ Co-Branding เพื่อทำตลาดและขยายฐานลูกค้าร่วมกันมากขึ้น

ล่าสุดผู้เล่นในตลาดอาหารบริการด่วน (QSR) บริษัท เอ็นพีพี ฟู๊ด อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (NPPF) ผู้บริหารแฟรนไชส์ร้านอาหารบริการด่วน A&W ร้านปิ้งย่างแบรนด์มิยาบิ และคาเฟ่ขนมหวานมิสเตอร์โจนส์ออร์แฟเนจ  (Mr.Jones’ Orphanage) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัท ซีพี บีแอนด์เอฟ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ CP B&F ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เพื่อพัฒนาธุรกิจอาหารให้  win win ทั้ง 2 ฝ่าย

การร่วมมือครั้งนี้เอ็นพีพีเอฟ อาศัยจุดแข็งของ ซีพี บีแอนด์เอฟ ที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจอาหารมานานกว่า 20 ปี มาเป็นพันธมิตรนำอาหารประเภทเบเกอรี่ ไอศกรีม บิงซู และเครื่องดื่มเข้าไปจำหน่ายในร้าน A&W  ช่วยเพิ่มเมนูรายการสินค้าภายในร้านให้มีความวาไรตี้มากขึ้น จากเดิมร้านมีเมนูพระเอกของร้านคือ ไก่ทอด รูทเบียร์ เคอร์ลี่ฟรายส์ และวาฟเฟิล

ส่วนร้านมิสเตอร์โจนส์ออร์แฟเนจ นอกจากมีเค้ก เบเกอรี่ โทสต์ต่างๆ ก็ได้ “บิงซู” มาเป็นแม่เหล็กของร้านเพิ่ม รับเทรนด์น้ำแข็งไสเกาหลีที่มาแรงมาก

อย่างไรก็ตาม ซีพี บีแอนด์เอฟ ไม่ได้แค่นำสินค้าไปจำหน่าย แต่ยกร้านกาแฟไปตั้งเป็น coffee corner ให้เป็นส่วนหนึ่งของร้านพร้อมเสิร์ฟลูกค้าด้วย

ส่วนซีพี ได้ประโยชน์จากการจับมือครั้งนี้ คือการขยาย “ช่องทางขาย” ให้ร้านกาแฟมีสาขาครอบคลุมตลาดมากขึ้น เพิ่มการขายเมล็ดกาแฟได้ด้วย รับเทรนด์ธุรกิจร้านกาแฟมูลค่า 17,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง 15% จากปี 2559-60 (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

“การร่วมมือครั้งนี้ช่วยเพิ่มศักยภาพธุกิจอาหารและเครื่องดื่มให้ร้าน A&W มีความมั่นคงมากขึ้น และในอนาคตบริษัทจะร่วมกับซีพี บีแอนด์เอฟ พัฒนาสินค้าอื่น ๆ เพื่อเข้าไปจำหน่ายในร้านอาหารของเครือซีพีอีกทางหนึ่งด้วย สร้างการเติบโตต่อเนื่อง” นักกีล ซึง กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิปปอน แพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ NPP กล่าว

กลุ่มเอ็นพีพี และเครือซีพีถือเป็นพันธมิตรกันมานาน เพราะบริษัทรับจ้างผลิตสินค้าในรูปแบบ Private Label หรือเฮาส์แบรนด์ให้กับซีพีออลล์เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก

นักกีล กล่าวอีกว่า ทิศทางการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้จะขยายร้าน A&W เพิ่มจำนวน 30 สาขา จากปัจจุบันมี 33 สาขา จากร้าน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.รูปแบบผลิตภัณฑ์ครบวงจร (Full Restaurant) ให้บริการตามสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม) ห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 2.รูปแบบผลิตภัณฑ์ขนมหวาน (Sweet & Treat) และภายใน 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทตั้งเป้ามีร้าน A&W ให้บริการจำนวน 100 สาขาทั่วประเทศ

เอ็นพีพี มีรายได้ในปี 2559 ประมาณ 1,020 ล้านบาท ขาดทุนราว 137 ล้านบาท โดยธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มทำรายได้หลัก 42.03ตามด้วยบรรจภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนตัว 31.32บรรจุภัณฑ์พลาสติก 12.55ขวด PET 11.31ธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ 1.97และธุรกิจติดตั้งสื่อโฆษณา 0.82%.