JOOX บริการเพลงสตรีมมิ่งประกาศชัด จะไม่เป็นแค่แอปฯ ฟังเพลง แต่กำลังลุย 4 ทางหลักเพื่อผันตัวเองเป็นแพลตฟอร์มบันเทิง จัดทัพดึงเนื้อหารายการวิทยุมาสร้างสีสัน–ผุดงานอีเวนต์–ใช้คาราโอเกะจุดกระแสโซเชียล–ลุยโครงการหนุนนักร้องหน้าใหม่เพื่อเนื้อหา exclusive
JOOX แอปพลิเคชั่นฟังเพลงออนไลน์ในเครือ “เทนเซ็นต์” จากจีน ฉลองครบรอบ 2 ปีที่เปิดให้บริการในไทยไปหมาดๆ ด้วยการประกาศยอดคลิกฟังเพลงปีเดียว 2 พันล้านครั้ง
แต่ความน่าสนใจของ JOOX วันนี้ อยู่ที่ยุทธศาสตร์หลากหลาย เช่น คาราโอเกะซึ่งผู้บริหาร JOOX บอกว่า จะ “สร้างพฤติกรรมคาราโอเกะใหม่” ให้คนไทยสนใจร้องเพลงเดียวกัน โดยคาราโอเกะเป็นเพียง 1 ใน 4 ภารกิจหลักที่ JOOX จะทำในปีนี้เพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นแค่ “ที่ฟังเพลง” อย่างเดียว
ภารกิจสร้างพฤติกรรมคาราโอเกะใหม่ของ JOOX ถูกประกาศโดย “กฤตธี มโนลีหกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด และผู้บริหาร JOOX ประเทศไทย ที่ย้ำว่า JOOX ในอนาคตจะไม่ได้เป็นแหล่งฟังเพลงออนไลน์ แต่จะครบเครื่องเหมือนรายการวิทยุ
สิ่งที่ JOOX ทำขณะนี้คือการดึงรายการผีมาสร้างสีสัน คู่ไปกับการจัดอีเวนต์ โครงการหนุนนักร้องหน้าใหม่เพื่อสร้างเนื้อหา exclusive และที่สำคัญคือ “คาราโอเกะ” ที่จะเป็นไพ่เด็ดในการสร้างโซเชียลบน JOOX
“ปีนี้ JOOX จะเริ่มทำคาราโอเกะ ให้เป็นเนื้อหาที่เน้นโซเชียลได้ JOOX จะแสดงให้เห็นว่าระบบคาราโอเกะไม่จำเป็นต้องมีเพลงมากมายมหาศาล แต่เราจะบอกว่าเพลงนี้เป็นเทรนด์ จงมาร้องกับเรา” กฤตธี อธิบาย “คาราโอเกะสำคัญอย่างไร คำตอบคือคาราโอเกะสามารถเชื่อมระหว่างคนนี้ไปอีกคนหนึ่ง ผู้ร้องคาราโอเกะบน JOOX สามารถแชร์เพลงที่ร้อง สามารถไลก์ ใครได้ใลก์มากก็จะมาอยู่บนชาร์จ นี่สิ่งที่เราพยายามโปรโมต”
กฤตธี บอกว่า ฟีเจอร์ใหม่อย่างคาราโอเกะ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนเพิ่มคอนเทนต์สำหรับการฟังที่หลากหลายมากขึ้น โดยนับจากที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม วันนี้มีผู้ใช้งานร้องราคาโอเกะกับ JOOX เกือบ 20 ล้านครั้งแล้ว คาดว่า JOOX จะโหมโปรโมตในช่วงไตรมาส 2-3 ร่วมกับแบรนด์ใหญ่อย่าง “ช้าง“
คาราโอเกะเป็นเพียง 1 ในหลายแผนของ JOOX ที่ต้องการสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบเสียงที่หลากหลาย อย่างรายการผี “หลอนศาสตร์ by The Shock” ก็จะมี ดีเจป๋อง–กพล ทองพลับ มาร่วมด้วย ขณะเดียวกัน JOOX ก็ต้องการเป็นพื้นที่สื่อกลางให้ศิลปิน และคนทำงานเพลงได้โปรโมตผลงาน พูดคุยกับแฟนเพลง และสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรม
“ปี 2561 JOOX ตั้งเป้าเป็น Entertainment Platform สำหรับทุกคน โดยเพิ่มมิติของคอนเทนต์ให้มากขึ้น JOOX จะกลายเป็นมากกว่ามิวสิกแอปพลิเคชั่นที่ใช้ฟังเพลงอย่างเดียว”
กฤตธี ระบุว่า JOOX เริ่มโปรโมตศิลปินหน้าใหม่ผ่านแคมเปญ “Spotlight Artist” และเป็นช่องทางให้ศิลปินกับแฟนเพลงได้พูดคุยกันอย่างใกล้ชิดแล้ว และกำลังทำ “Fan Space” ไลฟ์สตรีมมิ่งแบบส่วนตัวผ่าน JOOX Live
Spotlight Artist ถือเป็นช่องทางสร้างเพลง exclusive ให้ JOOX จุดนี้ผู้บริหาร JOOX อธิบายว่า หน้าที่ของ JOOX คือจะฟังเพลงอินดี้เพื่อมองว่าเพลงใดมีโอกาสโต จากนั้น JOOX จะประสานงานเพื่อให้ศิลปินสร้างงานที่สามารถฟังได้เฉพาะบน JOOX โดยอัตราการฟังเพลงอินดี้บน JOOX ขณะนี้คิดเป็น 6-7% เทียบกับกับการฟังเพลงไทยทั้งหมด
“เนื้อหาเพลง JOOX ไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่เราทำสัญญาให้ผู้ถือลิขสิทธิ์เพลงแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัล แล้วทำสัญญา 1 ปี ศิลปินยังส่งเพลงไปให้บริการที่แพลตฟอร์มอื่นได้ด้วย ทำให้ก่อนหน้านี้ หลายศิลปินไม่มีเนื้อหาเอ็กซ์คลูซีฟกับ JOOX เราจึงตั้งใจจะทำพื้นที่นี้ขึ้นมา”
สำหรับ JOOX Live การถ่ายสดงานแสดงดนตรีบางงานจะถูกดึงมาถ่ายทอดทางโทรทัศน์ด้วย บางอีเวนต์ถูกถ่ายทอดทาง Workpoint คู่ไป จุดนี้ JOOX ย้ำว่าปีนี้จะเดินหน้าจัดงานอีเวนต์เพิ่มอีก โดยงานใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ JOOX Thailand Music Awards ปี 2018
“เราไม่อยากบอกว่า JOOX จะลุยใช้ทีวีเป็นหน้าจอที่ 2 หรือ second screen แต่เรามองไว้หลายค่าย ไม่ได้ปิดกั้นเฉพาะความร่วมมือกับ Workpoint” แต่ก็ไม่เปิดเผยว่า JOOX จะร่วมมือกันใครเป็นรายต่อไป
ทั้งหมดนี้ JOOX เชื่อว่าจะทำให้ระยะเวลาที่ผู้ใช้อยู่ในระบบ JOOX ยาวนานขึ้น โดยการศึกษาล่าสุด JOOX พบว่าผู้ใช้อยู่กับ JOOX ประมาณ 90 นาที (สถิติทั่วภูมิภาค) สัดส่วนนี้แม้จะโตขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ก็ยังไม่เท่าคู่แข่งอย่าง Spotify ที่ทำสำรวจมาทั่วโลกพบว่า ผู้ใช้มักอยู่กับบริการสตรีมมิ่งเพลงมากกว่า 120 นาที ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ JOOX มองว่ากำลังรออยู่
วันนี้ใครฟัง JOOX?
ในยอดฟังเพลงปีเดียว 2 พันล้านครั้ง JOOX ระบุว่า รายได้ของธุรกิจเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวหรือ 400% แต่ก็ถือว่ายังเล็กอยู่ โดยผู้ใช้ 70% เป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 34 ปี ถือว่ากลุ่มผู้ฟัง JOOX เป็นกลุ่มเด็กมัธยม นักศึกษา และคนเริ่มหางาน
“บริการ JOOX ถือเป็นมิติใหม่ที่ทำให้ผู้ใช้ฟังเพลงได้สะดวก และฟังเพลงได้มากขึ้น ผู้ใช้ JOOX ปัจจุบัน 48% อยู่ใน กทม. ผมมองว่าสัดส่วนผู้ใช้งานระหว่างต่างจังหวัด และ กทม.ไม่ต่างจากสัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ต ซึ่งประเทศไทยอยู่ที่สัดส่วน 50-50 จุดนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นอย่างโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือบางคนยังใช้ MP3 อยู่ หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรให้รู้จัก JOOX”
ขณะนี้ ผู้บริหาร JOOX ยอมรับว่าจำนวน subscriber หรือฐานสมาชิกบริการ JOOX VIP ที่เสียค่าบริการยังน้อยอยู่ โดยอยู่ระดับต่ำกว่าประเทศอื่นในอาเซียน แต่ถึงอย่างนั้น รายได้หลัก JOOX ราว 50-50 ก็ยังมาจากผู้ใช้และโฆษณาในสัดส่วนใกล้เคียงกัน
ในส่วนฐานผู้ใช้อายุเกิน 34 ปี ผู้บริหาร JOOX ยอมรับว่าการเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ที่อายุมากขึ้นอาจต้องใช้เวลา ดังนั้น JOOX จึงให้ความสำคัญที่กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งหากทำได้ กลุ่มนี้จะเติบโตมาแทนที่
สตรีมมิ่งไทยวันนี้แข่งกันที่ไหน?
กฤตธี ยืนยันว่า ตลาดสตรีมมิ่งวันนี้แข่งกันที่ “ความเป็นโลคอล” สำหรับประเทศไทยคือเพลงไทย โดยคู่แข่งไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ และกระแสอย่างเพลงเกาหลี หรือการแข่งขันราคาก็ไม่ใช่หัวใจหลักที่จะดึงลูกค้าได้ในระยะยาว
“ในตลาดวันนี้แข่งขันราคากันก็จริง เราก็มีกับ AIS ที่ให้ลูกค้าสมัครใช้ JOOX ได้ในราคาพิเศษ และกำลังคุยกับ DTAC ด้วย แต่ในภาพรวมก็ต้องแข่งกันที่เซอร์วิส เราเป็นโลคอล ทั้งเนื้อหา เรามีเคป็อปชาร์ต แต่สุดท้าย คนไทยก็ฟังเพลงไทย จุดเด่นของพวกเรา ไม่ใช่มีอยู่แค่ค่ายใหญ่ แต่มีเพลงอินดี้ให้ฟังเยอะ วันนี้การฟังเพลง 70-80% บน JOOX เป็นการฟังเพลงไทยล้วนๆ”
กฤตธี ยกตัวอย่าง เพลงเกาหลี ที่มีอัตราฟังสูงจริง แต่ก็คิดเป็น 7% ของภาพรวม ขณะที่เพลงลูกทุ่งยังไม่นิยมบน JOOX จุดนี้ JOOX ระบุว่ากำลังคิดหาทางอยู่ว่าจะทำให้เพลงลูกทุ่ง “แมสขึ้น” ได้อย่างไร
“ตลาดเพลงสตรีมมิ่งไทย ถือว่ายังเล็กมากเมื่อเทียบระดับโลก ตอนนี้มีมูลค่าตลาดเพลงทั่วโลก 17 ล้านดอลล์ ราว 50% มาจากบริการสตรีมมิ่ง” กฤตธีระบุ “ถามว่าคนที่นิยมฟังเพลงฟรี จะมีแนวโน้มมาใช้สตรีมมิ่งไหม? ผมคิดว่ามี 2 ปัจจัย คือ 1 พฤติกรรมคน แต่ 2 คือความสะดวก JOOX จึงพยายามทำให้มีช่องทางจ่ายเงินมากขึ้น วันนี้เรามีเซเว่น–อีเลฟเว่น, แฟมิลี่มาร์ท และอีกหลายวอลเล็ต หน้าที่เราคือสร้างชาแนลใหม่ให้มีช่องทางจ่ายเงินที่สบายและสะดวก”
JOOX ย้ำว่า การเป็นเบอร์ 1 ไม่จำเป็นต้องดูเฉพาะเรื่องรายได้ JOOX จึงต้องการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ขึ้นมา เพื่อผลักดันให้เกิดพฤติกรรมใหม่ในตลาด
นอกจากนี้ AI และ Cloud ก็เป็นส่วนธุรกิจที่ JOOX กำลังโฟกัส โดยจะนำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ของสนุก ที่ผ่านมา สนุกดูแล 2 ส่วนคือเนื้อหาและเว็บไซต์ แต่วันนี้มีให้บริการแอปพลิเคชั่นอื่นร่วมด้วย เป้าหมายคือการทำให้บริการของสนุกรู้จักกับผู้ใช้มากขึ้น.
บทสรุป JOOX ยุคใหม่ และสถิติที่น่าสนใจ
• ถ้าดูตัวเลขธุรกิจเพลงทั่วโลก รายได้ของธุรกิจเพลงลดลงเรื่อยๆ แต่ 2 ปีหลังสุด พบการเติบโตครั้งแรกในรอบ 17 ปี โดยปี 2016 รายได้วงการเพลงเพิ่มขึ้น 17.7% สะท้อนว่ารายได้จากการขายแผ่นซีดีลดลง สวนทางรายได้ดิจิทัลเพิ่มขึ้น ทำให้ปี 2016 ถือเป็นปีแรกที่เม็ดเงินวงการเพลงโลกเติบโต
• เทรนด์เอเชียเหมือนเทรนด์ทั่วโลก ตลาดสตรีมมิ่งโตกว่าดาวน์โหลด เพิ่มขึ้นจาก 12% มาเป็น 53% แสดงว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ดาวน์โหลดแล้ว กดแล้วฟังเพลงเลย ต่างจากก่อนนี้ที่แฟนเพลงคิดว่าต้องเป็นเจ้าของเพลง
• พฤติกรรมผู้บริโภควันนี้ฟังออนไลน์แบบสตรีมมิ่งมากขึ้นถึงเกือบ 100% แถมเป็นการฟังเพลงผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึง 71% ในปีที่ผ่านมา
• ตลาดที่ JOOX อยู่ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ จำนวนผู้ใช้รวมทั้งหมด 64 ล้านคน ยอดดาวน์โหลดแอปเฉพาะในประเทศไทยคือ 50 ล้านครั้ง เพิ่มจาก 25 ล้านครั้งในปีก่อนหน้า ยอดกดฟังเพลงคือ 2 พันล้านเพลง
• 65% ของยูเซอร์ไทย สตรีมเพลงผ่าน JOOX แบบออนไลน์ ที่เหลือเป็นการฟังแบบออฟไลน์ โดย JOOX มี 200 เพลย์ลิสต์ในช่วงแรก วันนี้เพิ่มเป็น 6 ล้านเพลย์ลิสต์ สะท้อนว่าคนรุ่นใหม่ชอบสร้างรายการเพลงแล้วแชร์ให้คนอื่นฟังด้วย
• JOOX ยืนยันตลาดเพลงสตรีมมิ่งไทยวันนี้แข่งกันที่ “เพลงไทย” ไม่ใช่ราคา และไม่ใช่เกาหลี
• 2017 คือปีที่ 2 ที่ JOOX เริ่มจัดอีเวนต์ โดยพยายามเข้าหาคนบนออฟไลน์ โดยปลายปีที่ผ่านมา มีการจัดงานแสดงสดให้ศิลปินท็อป 100 ของ JOOX มาร่วมกันสร้างเสียงเพลง ถือเป็นมิติแรกที่ JOOX เริ่มขายตั๋ว และยอดขายทำได้ระดับ “ดี” งานนี้เองที่มีการถ่ายทอดทั้งบน JOOX และ Workpoint
• JOOX ยังจัดอีเวนต์ที่ 18 จังหวัด 20 โรงเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อเข้าถึงนักเรียนนักศึกษาในหัวเมืองใหญ่ จุดนี้ JOOX พยายามสร้างคอมมูนิตี้ และมีการจัดงานการกุศลโดยร่วมมือกับ 50 ศิลปิน โดย JOOX เปลี่ยนวิวเป็นเงิน มอบให้เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ
• ปีนี้ JOOX จะออกไปต่างจังหวัดมากขึ้น และจะมีอีเวนต์ใหญ่ 21 มีนาคมนี้ เพื่อจะย้ำให้ศิลปินรู้ว่าทุกคนมีคุณค่ากับสังคม
• สุดท้ายแล้ว JOOX จะเน้นทำคอนเทนต์แนวใหม่ขึ้นมา แล้วนำไปวางบนแพลตฟอร์มอื่นด้วย JOOX เรียกสิ่งที่ทำนี้ว่า O2O คือการจะไปยังโลกออฟไลน์ด้วย โดย JOOX บอกว่าจะเผยแพร่ ทำให้ฟอร์แมตเนื้อหาของ JOOX ไปโชว์ที่รายการอื่น
• JOOX จะดึงรายการวิทยุมาไว้บน JOOX เช่นรายการผี ทำให้ JOOX เป็นมากกว่าการฟังเพลง แต่เป็นแพลตฟอร์ม ให้ศิลปินเชื่อมกับคนฟังได้ โดยศิลปินก็สามารถมาร้องเกะกับแฟนเพลงได้ เป็นอีโคซิสเต็มที่คลุมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ได้แท้จริง