“ซาเบโก” จิ๊กซอว์ “ไทยเบฟ” เปลี่ยนเกมผู้ตาม สู่ผู้นำเบียร์อาเซียน (มีคลิป)

การซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions : M&A) เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ “ไทยเบฟ” ใช้ในการขยายธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสร้างการเจริญเติบโตในภูมิภาคอาเซียน และล่าสุดไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2561 (ปีงบประมาณเริ่ม ต.ค. 60 – ก.ย. 61) บริษัทเพิ่งสรุปการซื้อกิจการทั้งหมด 4 ดีล มูลค่า 2 แสนล้านบาท ได้แก่

  1. ซื้อหุ้น 53.59% ในบริษัท ไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น หรือ ซาเบโก (Sabeco) มูลค่า 156,000 ล้านบาท
  2. ซื้อหุ้น 75% ของบริษัท Grand Royal Group ผู้ผลิตสุรารายใหญ่สุดของเมียนมา มูลค่า 25,000 ล้านบาท
  3. ซื้อแฟรนไชส์ ร้าน KFC จำนวน 252 สาขา มูลค่า 11,400 ล้านบาท
  4. ซื้อหุ้น 76% ในกิจการร้านอาหารไทยประเภท HOT POT ของ บริษัท Spice of Asia จำนวน 10 สาขา จาก 4 แบรนด์ เช่น Chilli Thai Restaurant, Eat Pot ฯ  มูลค่า 115 ล้านบาท
  5. หลังจากนี้ไป สิ่งที่จะดำเนินการ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า บริษัทจะระดมออกหุ้นกู้ (บอนด์) เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ระยะสั้นมูลค่า 2 แสนล้านบาท

รายละเอียดการออกหุ้นกู้จะดำเนินการทั้งสิ้น 4 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยเดือนมีนาคมนี้จะออกหุ้นกู้ก้อนแรกมูลค่า 50,000 ล้านบาท และครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นในไตรมาส 4

แม้บริทมีแผนออกหุ้นกู้ 4 ครั้ง แต่ไม่จำเป็นต้องทำครบ เพราะบริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดอิสระ (Free cash flow) ประมาณ 30,000 ล้านบาท สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์เพื่อชำระหนี้ได้ด้วย   

การบริการจัดการด้านการเงินถือเป็นกลยุทธ์สำคัญมากของไทยเบฟ และทาง “เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” ย้ำให้วินัยทางการเงิน เพราะในแต่ละปี บริษัทมีการซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง หากปล่อยให้หนี้สินต่อทุน (D/E) สูง อาจทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงได้

++ ซื้อกิจการดันมาร์เก็ตแคปพุ่ง

นอกจากนี้ หลังได้ 4 กิจการมาอยู่ใต้ไทยเบฟ ส่งผลให้มูลค่าตามราคาตลาด (market cap) ของบริษัทขยายตัวมากขึ้น จากข้อมูล ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ไทยเบฟมีมาร์เก็คแคปราว 500,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมกับมาร์เก็ตแคปของบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) มูลค่าราว 82,000 ล้านบาท และบริษัท ซาเบโก ที่บริษัทเพิ่งเข้าไปถือหุ้น

อย่างไรก็ตาม การที่มาร์เก็ตแคปของไทยเบฟพุ่งขึ้น ส่งผลให้การเทียบชั้นกับบริษัทเครื่องดื่มในภูมิภาค “เอเชีย” เห็นชัดเจนมากขึ้น ว่าบริษัทจากประเทศไหนใหญ่กว่ากัน เพราะที่ผ่านมามีข้อมูลช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา “คู่แข่ง” สำคัญในเอเชีย คือ คิริน อาซาฮี ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มจากญี่ปุ่น และซานมิเกล เบอร์ 1 เบียร์ของฟิลิปปินส์ ล้วนมีมาร์เก็ตแคปไล่เลี่ยกัน

++ ซาเบโก “จิ๊กซอว์” พลิกไทยเบฟขึ้นเบอร์ 1 เบียร์อาเซียน

“ฐาปน” ยังเล่าด้วยว่า หลังการซื้อกิจการในปีที่ผ่านมา “ซาเบโก” คือพันธมิตรที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับไทยเบฟสูงสุด เพราะช่วยให้พอร์ตโฟลิโอเบียร์ของทั้ง 2 บริษัทขึ้นเป็น “ผู้นำตลาดเบียร์” ในภูมิภาคอาเซียนตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 จากปลายปี 2560 เบียร์ช้างเป็น “ผู้ตาม” อันดับ 6 มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 9% เท่านั้น

ทั้งนี้ ซาเบโกมีแบรนด์เบียร์ที่เป็นเรือธง คือ ไซ่ง่อนเบียร์ และแบรนด์ 333 ซึ่งเป็นเบอร์ 1 มีส่วนแบ่งทางการตลาด 46% ในตลาดเบียร์เวียดนาม และมีส่วนแบ่งทางการตลาด 17% ในระดับอาเซียน

เมื่อรวมแบรนด์เบียร์ของซาเบโกและแบรนด์ช้าง ทำให้เรามีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมเป็น 26% ซึ่งถือว่าเราคือผู้เล่นรายใหญ่สุดในอาเซียน

สำหรับภาพรวมตลาดเบียร์ในอาเซียนมีมูลค่าในเชิงปริมาณกว่า 9,000 ล้านลิตร และ ณ สิ้นปี 2560 จากการรวบรวมผลประกอบการของบริษัทในตลาด ข้อมูลจากยูโรมินิเตอร์และนิเคอิ อาเซียนรีวิว พบว่า บริษัทต่างๆ มีส่วนแบ่งทางการตลาดดังนี้

  • อันดับ 1 คือซานมิเกล จากฟิลิปปินส์ มีส่วนแบ่งทางการตลาด 19%
  • ซาเบโก เวียดนาม 17%
  • ไฮเนเก้น เนเธอร์แลนด์ 14%
  • สิงห์ ของบุญรอดบริเวอรี่ 13%
  • คาร์ลสเบิร์กของเดนมาร์ก 12%
  • ช้าง 9%
  • ฮาเบโก เวียดนาม มีส่วนแบ่งตลาด 7%

++ โจทย์หนักนอนแอลกอฮอล์

ในการซื้อ 4 กิจการปีที่แล้ว มี 2 กิจการคือซาเบโก เวียดนาม และ Grand Royal Group เมียนมา เป็น “ตัวแปร” สำคัญทำให้รายได้ของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยเบฟมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 78% ลดสัดส่วนรายได้กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ให้ลดลงเหลือ 22% จากเดิมสัดส่วนรายได้ทั้ง 2 กลุ่มขยับใกล้เข้ากันมากขึ้นที่ 55% ต่อ 45% และใกล้จะถึงเป้าหมายตามวิชั่น 2020 ที่ไทยเบฟต้องการเห็นสัดส่วนรายได้จากทั้ง 2 กลุ่มเท่ากันที่ 50%

สถานการณ์ดังกล่าว กลายเป็นงานหนักของกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม ชาเขียว น้ำอัดลม ต้องสปีดรายได้ให้ไปถึง 50% ใหม่

“ก่อนนี้กลุ่มธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ทำรายได้เกือบครึ่งแล้วนะ มาตามแผนอยู่แล้ว พอมีซาเบโก และวิสกี้เมียนมา นอนแอลกอฮอล์จึงลดลง แต่เรายังโฟกัสให้นอนแอลกอฮอล์โต จึงเป็นภาระที่ต้องผลักดันธุรกิจต่อไป”

++ อาศัยพลังโลคัลแชมเปี้ยนสานภาค 2 วิชั่น 2020

ไทยเบฟกำหนดวิชั่น 2020 เมื่ปลายปี 2014 หรือ พ.ศ. 2558 เมื่อมาถึงปี 2561 ถือเป็น “ครึ่งทาง” และเข้าสู่ช่วงที่ 2 ของวิชั่นแล้ว โดย 3 ปีจากนี้ไป “ฐาปน” จะให้ความสำคัญกับ 3 กลยุทธ์ จากทั้งหมด 5 กลยุทธ์ เพื่อขยายตลาด ได้แก่ 1.สร้างตราสินค้าให้โดนใจ (Brands) จะต้องมีกิจกรรมการตลาดให้ครบทุกช่องทางออนแอร์ ออนไลน์ ออนกราวน์ 2.การขายและกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง (Reach) หาทางให้สินค้าเข้าถึงตลาด และผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด และ 3.ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) สร้าง WAR Team การออกไปทำงานในตลาดต่างประเทศมากขึ้น

ส่วนอีก 2 กลยุทธ์ คือการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ (Growth) ทั้งรายได้และกำไร ผลงานไทยเบฟทำออกมาได้ดีพอตัว และความหลากหลายของตลาดและผลิตภัณฑ์ (Diversify) มีสินค้าตั้งแต่นมถั่วเหลืองราคา 10 บาท ไปจนถึงซิงเกิลมอลต์ราคาหลักเกือบแสนบาท สินค้าในพอร์ตโฟลิโอมีครบทั้งเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ และขายในหลายประเทศ “ฐาปน” บอกว่าข้อนี้บริษัททำได้อย่างดี

ทว่า การได้พันธมิตร 2 รายใหม่ ซาเบโก และแกรนด์รอยัล จะยิ่งทำให้ 5 กลยุทธ์ของไทยเบฟแกร่งยิ่งขึ้นด้วย

“การเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์กับโลคัลแชมเปี้ยนในประเทศเขา เป็นการทำให้พอร์ตโฟลิโอของไทยเบฟหลากหลายขึ้น ช่วยย้ำให้เห็นว่าเราไม่ได้เข้าไปต๊อกแต๊ก แล้วฝึกฝนเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่เราเข้าไปเพื่อทำงานให้จริงจัง สร้างประโยชน์ผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น”

++ เวียดนาม เมียนมา ขุมทรัพย์เบียร์-เหล้า

ไทยเบฟมีสินค้าส่งออกและทำหลายสิบประเทศทั่วโลก แต่ถ้ามองเฉพาะอาเซียน บริษัทให้ความมสำคัญกับตลาด 2 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม มุ่งไปที่ตลาดเบียร์ เพราะมีขนาด 4,400 ล้านลิตร ใหญ่กว่าไทย 2 เท่า ประชากรกว่า 92 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ บริษัทสามารถหาโอกาสสร้างการเติบโตได้ระยะยาว

เมียนมา บริษัทโฟกัสที่ตลาดเหล้า เพราะเป็นตลาดใหญ่ เมื่อเทียบกับเบียร์มีมูลค่าเพียง 100 กว่าล้านลิตรเท่านั้น มีขนาดประชากร 52 ล้านคน จึงอาศัยจุดแข็งของแกรนด์รอยัล ที่เป็นผู้นำตลาดวิสกี้ ยอดขาย 60 ล้านลิตรต่อปี และเป็นแบรนด์ติดท็อป 50 ของทำเนียบแบรนด์สุราชั้นนำของโลกด้วย 

“เราโฟกัสอาเซียน เพราะเป็นตลาดใหม่ หรือ Emerging Market ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วสุดในโลก อย่างเวียดนามจีดีพีโต 7% ยิ่งรวมโอกาสทางการค้าจากอาเซียนบวก 3 บวก 6 บวก 9 จะกินตลาดได้กว่าครึ่งโลก”

++ ขยายเคเอฟซี 50 สาขา ใน 2 ปี

อย่างไรก็ตาม หลังซื้อกิจการร้านเคเอฟซี จะเห็นการต่อยอดธุรกิจด้วยการขยาย 50 สาขาใน 2 ปี แบ่งเป็น 20 สาขาในปีนี้ และอีก 30 สาขาในปีหน้า ส่วน Spice Of Asia มีการขยายแบรนด์เสือไต้เสริมพอร์ต

++ ไตรมาส 1 โกยกำไร 3,000 ล้านบาท

21 กุมภาพันธ์ 2561 ไทยเบฟได้รายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ระบุว่า บริษัททำรายได้กว่า 45,600 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 3,000 ล้านบาท ส่วน 4 กิจการที่ซื้อมามีการรับรู้รายได้ 3 บริษัท ได้แก่ แกรนด์รอยัล มีรายได้ ตุลาคม – ธันวาคม 2560 ประมาณ 1,822 ล้านบาท กำไร 455 ล้านบาท, เคเอฟซี มีรายได้ ธันวาคม 600 ล้านบาท ส่วนร้านอาหารบริษัท Spice of Asia รายได้ ตุลาคม – ธันวาคม 2560 ประมาณ 37 ล้านบาท กำไรประมาณ 4 ล้านบาท

ส่วนซาเบโก ยังไม่รับรู้รายได้ แต่บริษัทได้รับเงินปันผลจากการลงทุนแล้ว 52 ล้านเหรียญสหรัฐ จากรายได้อยู่ที่ 48,000 ล้านบาท กำไร 7,200 ล้านบาท.