ไม่อยากโดนดิสรัปต์ ! “สิงห์” ควัก 800 ล้าน ลงทุนสตาร์ทอัพดาวรุ่ง แตกพอร์ตธุรกิจ

หลายปีที่ผ่านมา ค่ายเบียร์เบอร์ 1 อย่าง “สิงห์” พยายามสลัดตัวเองจากการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งเพิ่ม “สปีด” ให้องค์กร มีการซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions : M&A) 

ทั้งซื้อหุ้น ร่วมทุนกับพันธมิตร เช่น ทุ่มเงิน 8,900 ล้านบาท ซื้อโรงแรมเมอร์เคียว 26 แห่งในอังกฤษ เสริมพอร์ตอสังหาริมทรัพย์ ทุ่ม 4 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้นมาซาน กรุ๊ป บิ๊กสินค้าอุปโภคบริโภคในเวียดนาม และซื้อกิจการน้ำส้ม Valensina ในเยอรมัน เสริมพอร์ตนอนแอลกอฮอล์

อีกด้านคือควานหา “เทคโนโลยี” และ “แพลตฟอร์มธุรกิจใหม่” เพื่อขยายอาณาจักร พร้อม ๆ กับการรับมือการถูก Disrupt

ล่าสุด “สิงห์ คอร์เปอเรชั่น” ภายใต้การนำของ ภูริต ภิรมย์ภักดี” ประธานกรรมการบริหาร Singha Ventures ได้ตั้งบริษัทลูก “Singha Ventures” ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital Fund หรือ CVC) เพื่อลงทุนใน “สตาร์ทอัพ” ดาวรุ่งระดับโลก (World Start-up) จิ๊กซอว์ใหม่มาต่อยอดธุรกิจ เพราะเชื่อว่าสตาร์ทอัพกลายเป็นธุรกิจที่ยึดตำแหน่งบริษัททำเงินและมีมูลค่าธุรกิจ (Market Cap) มหาศาลในอันดับต้น ๆ และพลิกโลกได้ เช่น แอปเปิล แอมะซอน เฟซบุ๊ก

เทคโนโลยี เปลี่ยนชีวิตคนเราทางตรงและทางอ้อม ไม่มีใครชอบการเปลี่ยนแปลง แต่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ เพราะคนแข็งแรงคือคนที่อยู่รอด

ภูริต กล่าว

Singha Ventures จัดตั้งขึ้นเมื่อกลางปี 2560 ที่ประเทศฮ่องกง ทุนจะทะเบียน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 800 ล้านบาท เลือกฮ่องกงเป็นฐานทัพ เพื่อความสะดวกในการนำเงินเข้า-ออกไปลงทุนในฐานะเป็น Venture Capital : VC

นอกจากนี้ ยังเป็นเคสแรกที่ขอลงทุนโดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัท “เราทำธุรกิจแบบเดิมคงไม่ได้ เพราะการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ หากรอผ่านบอดร์ดพิจารณางบจะล่าช้า เราอยากใช้เงินวันนี้ บอร์ดเคาะงบพรุ่งนี้ธุรกิจอาจเปลี่ยนแปลงแล้ว”

โดยเน้นการลงทุนใน 3 อุตสาหกรรมที่เป็น “เทรนด์โลก”

1. สินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เครื่องปรุงรส และบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ รับแนวโน้มประชากรโลกเพิ่ม ทำให้ความต้องการมั่นคงด้านอาหารมีมากตามไปด้วย ซึ่งสิงห์เองก็มีประสบการณ์ธุรกิจเหล่านี้

2. เทคโนโลยีการจัดการห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) การขนส่งและจำหน่ายสินค้า ตลอดจนค้าปลีก เช่น การขนส่งถึงลูกค้าปลายทางโดยตรง (last mile) การขนส่งระหว่างภาคธุรกิจ (business to business solution : B2B) และการส่งสินค้าและบริการ e-commerce กุญแจสำคัญป้อนสินค้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

3. ลงทุนในระบบหรือโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อเอื้อการทำงานขององค์กร (Enterprise Solutions) เช่น Software as a Service (SaaS) Cloud Computing ระบบการจ่ายเงิน และระบบการให้สินเชื่อแก่คู่ค้า เพราะสิงห์มีคู่ค้า เอเย่นต์จำนวนมาก จึงต้องการให้พันธมิตรมีเครื่องไม้เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น

รวมถึงการเปิดกว้างลงทุนธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare) รองรับสังคมผู้สูงอายุ เทคโนโลยีสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Property Technology) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) พลังงานทดแทน และ Internet of Things (IoT)  เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจของสิงห์ทั้งสิ้น

ส่วนสตาร์ทอัพที่เข้าตาสิงห์ สำคัญสุดคือมีโมเดลธุรกิจชัด มีตลาด และรับรู้รายได้แล้วหรืออยู่ใน Series A แต่เป็นไปได้ที่บริษัทจะลงทุนในระดับ Seed Funding Stage ด้วยหากธุรกิจมีไอเดียโดดเด่น และอยู่ในอุตสาหกรรมที่พัฒนาต่อยอดและ Synergy ให้สิงห์และพันธมิตรได้

++เดินเกมสร้างคอนเนกชั่น

ปี 2560 Singha Ventures เทเงินลงทุนให้ 2 กองทุน (Fund of Funds) ได้แก่ Kejora Ventures แพลตฟอร์ม ระบบนิเวศทางเทคโนโลยี (Technology Ecosystem) ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กองทุนดังกล่าวลงทุนต่อใน 29 ธุรกิจ สร้างผลการดำเนินงานโตกว่า 200% ในเวลา 3 ปี และ Vertex Ventures ของกลุ่มทุน “เทมาเส็ก” สิงคโปร์ มีเครือข่ายบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ในวงการ Technology และ Venture Capital อย่างกว้างขวางทั่วโลก

ภูริต บอกว่า การนำเงินลงทุนในกองทุนช่วง 2 ปีแรก มุ่งสร้างคอนเนกชั่นจากทุนยักษ์ใหญ่ และหาเครือข่ายสตาร์ทอัพผ่านกองทุนเหล่านั้น เพราะต้องยอมรับว่าธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ล้วนมี “พี่เบิ้ม” เช่น โกลด์แมนแซคส์ ธนาคาร ที่เข้าใจเกมธุรกิจหนุนหลังทั้งสิ้น สเต็ปถัดไปสิงห์จะตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพโดยตรง รวมถึงเตรียมลงทุนในกองทุน 500 TukTuks ด้วย

การเทเงินลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ บริษัทวางกรอบการถือหุ้นขั้นต่ำ 25% ส่วนหุ้นใหญ่ให้ “ผู้ก่อตั้ง” ถือไว้ เพื่อจูงใจให้มีการพัฒนาโมเดลธุรกิจให้แข็งแรงมากขึ้น จากนั้นจะค่อย ๆ เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็นลำดับตามการเจริญเติบโตแต่ละขั้นของสตาร์ทอัพ

เราไม่ซื้อหุ้น 100% เพราะต้องการให้ผู้ก่อตั้งและคิดค้นธุรกิจมีพลังในการทำต่อ ขยับเป็นยูนิคอร์นสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้ได้

นอกจากเงินทุนแล้ว สิงห์ยังเปิดกว้างความร่วมมือ (Collaboration) อื่น ๆ เช่น ให้สตาร์ทอัพใช้ทรัพยากรทั้งบุคลากร การวิจัยและพัฒนาสินค้า การทำตลาด ตลอดจนการขายได้ด้วย สามารถใช้ Connection จากเครือข่ายของสิงห์ใน 50 ประเทศทั่วโลก ช่องทางจำหน่าย 4 แสนจุดในประเทศไทย รวมถึงช่วยด้านลงทุน (Investment) กับพันธมิตรในระยะยาว ช่วยทำให้สตาร์ทอัพใหญ่ขึ้น

หากเป็นไปตามแผน “ภูริต” เชื่อว่าสิงห์จะโตเร็วมาก เพราะการลงทุนไม่ถึงปีของ Singha Ventures ได้รับผลตอบแทนจาก 2 กองทุนกลับมา 2.5 เท่า และ 3 เท่าตามลำดับ

“ถ้าเราทำแบบเดิม ธุรกิจไม่ถึงกับโตถดถอย แต่เราจะโตไม่มาก หากอยากโตมากต้องไปจับธุรกิจใหม่ เช่นอสังหาฯ แต่ใช้เงินลงทุนมหาศาล ขณะที่ลงทุนในสตาร์ทอัพถ้าจับถูกตัวจริง ๆ อาจเป็นเหมือนเทมาเส็กที่ลงทุน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 20% ใน Grab แล้วมูลค่าธุรกิจสูงขึ้นเกินหลักพันล้านเหรียญสหรัฐ และสิงห์ต้องการโตแบบนั้น”