เบื้องหลัง ฟ้าผ่า GMM 25-True4U ผ่าตัดองค์กร เรตติ้งไม่ฟื้น

ผ่านพ้นมาเกือบ 4 ปี แต่ทีวีดิจิทัลยังต้องเผชิญกับเส้นทางวิบากต่อเนื่อง แม้เม็ดเงินโฆษณาจะมีอัตราเติบโต แต่เงินส่วนใหญ่ยังไหลไปที่ 5-6 ช่องหลัก ที่มีเรตติ้งเป็นอันดับต้น ๆ   

ยิ่งดูเม็ดเงินโฆษณาปี 2017 ของนีลเส็น ประเทศไทย พบว่า ช่องทีวีเดิม ช่อง 3 และช่อง 7 ครองเงินโฆษณา 40,966 ล้านบาท กินสัดส่วน 40.38% ขณะที่ช่องทีวีดิจิทัลที่เหลือได้ค่าโฆษณา 21,907 ล้านบาท ครองสัดสวน 21.59% เป็นอันดับสอง

การแข่งขันแย่งชิงเค้กโฆษณาของ 22 ช่องทีวีดิจิทัล ยังเป็นไปอย่างดุเดือด ทั้งช่องพี่ใหญ่ช่อง 7 และช่อง 3 ต่างฟาดฟันชิงความเป็นผู้นำกันชนิดไม่มีใครยอมใคร 

ส่วนช่องดิจิทัลน้องใหม่ยิ่งต้องดิ้นรนวิ่งสู้ฟัด ทุ่มลงทุนคอนเทนต์ หวังสร้างกระแสดึงใจผู้ชม ปลุกเรตติ้งและหาโฆษณาเข้าช่อง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับการแข่งขันในตลาดที่มีถึง 22 ช่อง 

เมื่อหนทางเป็นไปอย่างยากลำบาก หลายช่องจึงต้องเลือกวิธีขายหุ้น ดึงทุนใหญ่เข้ามาร่วมต่อลมหายใจ กรณีค่ายแกรมมี่ที่อากู๋ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม คว้าสัมปทานทีวีดิจิทัล 2 ช่องมาครอง ในที่สุดก็ต้องดึงทายาทเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาถือหุ้น GMM 25 ไม่ต่างกับซื้อกิจการของค่ายอมรินทร์ 

ล่าสุด GMM25 และ True4U เป็นสองช่องที่ต้องตัดสินใจผ่าตัดองค์กร ครั้งใหญ่หลังจากที่เรตติ้งหล่นมาอยู่อันดับ 13 และ 14 มาตลอดปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรตติ้งเดือนมีนาคม 2561 ก็ยังไม่กระเตื้องเข้าเป้าท็อปเท็นตามเป้าหมาย โอกาสที่จะพลิกฟื้นให้มีโฆษณาก็ยิ่งห่างไกล 

GMM 25 เขย่าองค์กรครั้งใหญ่ อากู๋รักษาการ

หลังจากที่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ขายหุ้นสัดสวน 50% คิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาท ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง ที่บริหารดูแลธุรกิจมีเดีย คือช่องทีวีดิจิทัล GMM 25 และวิทยุ เอไทม์มีเดีย ให้กับบริษัท อเดลฟอส ซึ่งมีฐาปน สิริวัฒนภักดี และปณต สิริวัฒนภักดี 2 ทายาทเจ้าสัวเจริญหรือกลุ่มเบียร์ช้าง เป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่ ไปเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2560 

ทำให้สถานการณ์ทางการเงินของ GMM 25 คล่องตัวมากขึ้น มีเงินทุนเข้ามาใช้ผลิตคอนเทนต์ได้มากขึ้น 

โดยที่ไม่ได้การปรับโครงสร้างการบริหาร เนื่องจากกลุ่มของเบียร์ช้างเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นแบบนักลงทุน และไม่มีความถนัดงานในเรื่องทีวี จึงปล่อยให้ผู้ถือหุ้นเดิม “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่“ ดูแล และ พี่ฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ  อยุธยา ยังคงรั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ ของบริษัทเช่นเดิม

ต้นปีนี้ บอร์ดบริหารได้กำหนดทิศทาง พร้อมอนุมัติเงินงทุนให้ช่อง GMM25 ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท เพื่อให้ช่องขยับจากคนดูที่เป็นกลุ่มนิชไปสู่กลุ่มแมส และมีคนดูตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อให้เรตติ้งวิ่งขึ้น 

เดิมทีนั้น GMM 25 วางตัวเองไว้เป็นช่องของกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีรายการวาไรตี้บันเทิงเกี่ยวกับวงการวัยรุ่น เรื่องความรักของทุกคนทุกกลุ่มทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ และกลุ่มละครที่มีพัฒนามาจากรายการ Club Friday ทางสถานีวิทยุซึ่งมีกลุ่มคนฟังผู้หญิงเป็นฐานสำคัญต่อยอดมาลงละครช่วงไพรม์ไทม์ทำให้คนดูจึงเฉพาะกลุ่มเป็นผู้หญิงและวัยรุ่นเป็นหลัก เรตติ้งจึงขยับสูงได้ยากแม้ว่าจะนำกระแสออนไลน์มาช่วยในการขายโฆษณาควบคู่ไปด้วยก็ตาม

แต่เรตติ้งของละครไพรม์ไทม์ของ GMM 25 ทั้งปีในปี 2560 ละครที่ได้เรตติ้งสูงสุดของช่องคือละครเรื่องรักออกแบบไม่ได้หรือ O Negative มีเรตติ้งอยู่ที่ 0.914 ตามมาด้วย ละครชุด Club Friday ตอนรักแท้หรือ แค่รักสนุกเรตติ้ง 0.906 ในขณะที่ภาพรวมเรตติ้งทั้งปีของช่องอยู่ในอันดับ 14 ได้เรตติ้ง 0.121 สูงขึ้นจากปี 2559 ที่ได้ไป 0.111

เมื่อเรตติ้งไม่มา โฆษณาไม่เข้า บอร์ดใหญ่จึงต้องเข้ามาคุมเข้ม และเมื่อเห็นแล้วว่าทีมบริหารเดิมนำโดย พี่ฉอด ยังคงวางทิศทางคอนเทนต์ในรูปแบบเดิม ๆ โอกาสจะขยายไปสู่คนดูกลุ่มแมสย่อมเป็นไปได้ยาก ทางเดียวที่ต้องทำคือผ่าตัดองค์กรปรับเปลี่ยนผู้บริหาร

อย่างแรกที่ทำ คือ ปรับโครงสร้างองค์กร ปรับบทบาทของพี่ฉอดให้ขึ้นมาเป็นรองประธานของจีเอ็มเอ็ม แชนแนล ในขณะเดียวกัน อากู๋ ก็ขยับเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น พร้อมทีมผู้บริหารจากบริษัทแม่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่  เพื่อเตรียมลงมือปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ด้วยการทาบทามคนภายนอกเข้ามาดูเรื่องการบริหาร และปรับ Positioning ช่องใหม่ทั้งหมดเพื่อลงตลาดแมส และหัวเมืองต่าง ๆให้ได้ แต่เวลานี้ยังไม่เรียบร้อยดีมีกระแสข่าวหลุดออกมาก่อน

จึงต้องรอดูกันต่อว่า ใครจะเป็นผู้ที่มารับตำแหน่งซีอีโอ” คนใหม่ของ GMM 25 และจุดยืนของช่องจะมีหน้าตาอย่างไร

ค่ายทรูเขย่าโครงสร้างหลังเรตติ้งไม่กระเตื้อง

ไม่ใช่แค่ค่ายแกรมมี่เท่านั้น ค่ายเงินถุงเงินถังอย่างค่ายทรูเมื่อก้าวเข้าสู่ทีวีดิจิทัลด้วยการคว้า 2 ช่องในมือ True4U ช่องวาไรตี้ และช่องข่าว TNN แต่ก็ยังไม่สามารถเอาตัวรอดจากธุรกิจนี้ได้อย่างที่คาดหมายไว้ แม้ว่าทรูจะมีฐานมาจากธุรกิจเพย์ทีวีอยู่แล้วก็ตาม

เมื่อเรตติ้งของทั้ง 2 ช่องอยู่ในท้ายตารางของกลุ่มวาไรตี้ และกลุ่มช่องข่าว ทั้ง ๆ ที่กลุ่มทรูทุ่มลงทุนเต็มที่ แต่เมื่อคอนเทนต์ยังไม่ปัง จึงถึงเวลาปรับทัพใหม่อีกครั้ง

True4U ช่องวาไรตี้ของค่ายทรู ประกาศเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อ เนตรชนก วิภาตะศิลปิน กรรมการผู้จัดการช่อง True4U ได้ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการบริหารงานด้านการศึกษา

โดยได้มอบหมายให้ พีรธน เกษมศรี อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย มารักษาการกรรมการผู้จัดการแทนชั่วคราวก่อน

True4U เป็นช่องวาไรตี้ที่ค่ายทรูทุ่มทุนกว่าปีละ 1 พันล้านในการหาคอนเทนต์มาลงช่อง โดยมีรายการถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก สร้างเรตติ้งสูงสุดของช่อง ในระดับ 1 กว่าในบางแมตช์สำคัญ

แต่ในแง่คอนเทนต์บันเทิง ซึ่งทีมงาน True4U ภายใต้การนำของพีรธน เคยหมายมั้นปั้นมือว่าจะโด่งดัง อย่างละครฟอร์มยักษ์ระดับเจ้าบุญทุ่มลงจอ ตั้งแต่ เจ้าเวหา ในปี 2559 และละครพีเรียด ศรีอโยธยา ในปลายปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาถึงปีนี้ แต่ก็ไม่สามารถสร้างความปังเป็นที่โดนใจคนดูได้

เช่นเดียวกับศรีอโยธยา ละครพีเรียดอิงประวัติศาสตร์ ที่ทรูทุ่มทุนถึงกว่า 150 ล้านบาท สูงสุดในประวัติศาสตร์ละครไทย แต่กลับได้เรตติ้งเฉลี่ยทั้งเรื่องได้เพียง 0.159 จากทั้งหมด 20 ตอน แต่ทรูก็ประกาศว่าจะสร้างภาค 2 ต่อทันทีโดยระบุว่าต้องการนำไปขายในกลุ่มเป้าหมายต่างชาติในยุโรป

ส่วนเรตติ้งละครช่วงไพรม์ไทม์ของช่องในปีที่ผ่านมา เรื่องที่ได้เรตติ้งสูงสุดคือละครลิขสิทธิ์เกาหลี “Princess Hours หรือ รักวุ่น ๆ เจ้าหญิงจอมจุ้นได้เรตติ้งอยู่ที่ 0.465

ในปี 2560 ช่อง True4U มีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งช่องอยู่ที่ 0.149 อยู่ในอันดับ 13 ลดลงจากปี 2559 ที่มีเรตติ้งอยู่ที่ 0.158

แต่มาในปีนี้ เรตติ้งรวมของช่องก็มีอัตราลดลงเรื่อย โดยเมื่อสัปดาห์ที่ที่ผ่านมา 12-18 มีนาคม เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.134

ในขณะเดียวกัน TNN ช่องข่าวของกลุ่มทรู ก็มีการปรับให้องอาจ ประภากมลผู้บริหารในกลุ่มทรู เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการร่วม คู่กับ อภิศักดิ์ ธนเศรษฐกร กรรมการผู้จัดการคนเดิม เพื่อรับงานด้านการตลาดทั้งหมดของ TNN โดยหวังจะสร้างรายได้ปรับโฉมใหม่ของช่องเพื่อหาทางฟื้นสถานะจากช่องอันดับสุดท้ายของทีวีดิจิทัลให้ได้

ในปี 2560 TNN ได้เรตติ้งเฉลี่ย 0.028 อยู่ในอันดับ 24 เหนือช่องวอยซ์ทีวี มาโดยตลอด แต่เปิดมาในปีนี้ TNN ตกลงไปอยู่ในอันดับสุดท้ายตลอดทุกสัปดาห์ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเรตติ้งอยู่ที่ 0.015 เท่านั้น

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ทรูต้องการให้ทั้งสองช่องรวมทีมข่าวเข้าด้วยกัน เพื่อลดต้นทุน และสร้างความแข็งแกร่งของข่าวให้มากขึ้น ซึ่งช่อง True4U จะต้องปรับทิศทางข่าวใหม่ด้วยซึ่งอยู่ระหว่างหาข้อสรุปทิศทางใหม่ในเร็ว ๆ นี้.