“เครือสหพัฒน์” เป็นยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ของเมืองไทยมีรายได้กว่า 2.8 แสนล้านบาท และมีบริษัทในเครือจัดจำหน่ายและทำการตลาดที่สำคัญอย่าง “สหพัฒนพิบูล” โดยของกินของใช้ ขายทั้งมาม่า ผงซักฟอกเปา ยาสีฟันซิสเท็มมา น้ำตาลมิตรผล กะทิพร้าวหอม เกลือปรุงทิพย์ น้ำจิ้มตราสุรีย์ เป็นต้น
ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคแข่งขันด้าน “ราคา” สูงมาก (Read Ocean) แม้กระทั่งพ่อค้าแม่ขายร้านค้าส่ง (wholesale) ที่เป็นเครือข่ายของสหพัฒน์กว่า 2,000 ร้าน ยังห้ำหั่นราคาจนกระทบการสั่งซื้อสินค้ามายังบริษัท โดยเฉพาะแบรนด์หัวหอกอย่าง “มาม่า” ที่ทำรายได้ 1 ใน 3 ของบริษัท และผงซักฟอก “108Shop” ชะลอตัว! เพราะทุกร้านต่าง “รอ” ร้านที่ขายต่ำกว่าแล้วสั่งซื้อไปขายต่อ
ปี 2560 ต่อเนื่องปี 2561 สหพัฒน์ได้พลิกเกมป้องกันการมาเฟียร้านค้าส่ง “ดัมพ์ราคา” แข่งกัน ด้วยการนำ “กลยุทธ์พันธมิตรทางธุรกิจ” (Strategic Partnership) ดึงร้านที่ขายสินค้ากลุ่มอาหารและกลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือนรวมกว่า 100 ร้านมาเป็นพันธมิตร
การเป็นพันธมิตรดังกล่าว ร้านค้าจะต้องจำหน่ายสินค้าในราคาที่บริษัทเป็นผู้กำหนดราคาขาย และมีข้อจำกัดว่าลดได้ต่ำสุดเท่าไหร่ กำหนดพื้นที่ขาย (Zoning) ตามที่ลูกค้ามีร้านค้าย่อยในมือโดยห้าม “ข้ามเขต” จำหน่าย รวมถึงอาศัยความสัมพันธ์ที่ดี (Relationship) เครือข่ายร้าน ต้องทำประมาณการยอดขายร่วมกัน (Forecast) คาดการณ์ชุมชนใหม่ที่จะเกิดขึ้น พิจารณาศักยภาพพื้นที่ขายร่วมกัน หากร้านค้าดังกล่าวขายดีจนสินค้าหมด ก็จะไม่เพิ่มสินค้าใหม่ เป็นต้น
“พอดึงร้านค้าส่งมาเป็นพันธมิตร ทำให้ราคาขายนิ่งขึ้น จากเดิมแต่ละรายจะรอดูว่าร้านค้าส่งอีกจังหวัดขายสินค้าราคาเท่าไหร่ แล้วค่อยตั้งราคาต่ำกว่า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการรอสั่งซื้อสินค้า แต่หลังปรับทำให้สินค้าบางรายการเช่นผงซักฟอก 108Shop กินสัดส่วนยอดขาย 70-80% จากผงซักฟอกโดยรวมในร้าน” บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าว
สำหรับร้านค้าส่งกว่า 100 ราย ครอบคลุมตลาดเป้าหมายในร้านค้าปลีกทั่วไปมากถึง 60% และเมื่อนับรวมกับห้างโมเดิร์นเทรดจะกินสัดส่วนตลาดเป้าหมาย 23% ซึ่งถือว่าเป็น “ตัวแปร” ต่อยอดขายของสหพัฒน์ได้อย่างมาก
ดึงวินามิลค์ เพิ่มพอร์ตสินค้าใหม่ โยเกิร์ต-นมข้นหวาน
ปีนี้ สหพัฒน์ ยังระดมเติมสินค้าใหม่ในพอร์ตโฟลิโอ นำเข้าโยเกิร์ตเบอร์ 1 จากเวียดนาม ที่มีส่วนแบ่งตลาด 70% อย่าง แบรนด์ “วินามิลค์” (VINAMILK) ของกลุ่มเอฟแอนด์เอ็น (ที่เครือไทยเบฟเข้าไปถือหุ้น) มาทำตลาด 3 รายการ จับตลาดผู้ใหญ่ และ SuSu เพื่อจับตลาดเด็ก โดยเป้าหมายปีแรกคาดว่าจะมียอดขาย 60 ล้านบาท หลังจากนั้นจะพิจารณาผลิตสินค้าในประเทศร่วมกัน โดยให้ บริษัท แดรี่ไทย จำกัด ในเครือสพัฒน์ และผลิตโยเกิร์ตแบรนด์ “ริชเชส” ผลิตให้ (OEM) เพื่อลดข้อจำกัดสินค้าอายุสั้น 30 วัน (Shelf life)
ข้อมูลยูโรมอนิเตอร์ ระบุปี 2559 ตลาดโยเกิร์ตมีมูลค่าราว 5,800 ล้านบาท แบ่งเป็นรสธรรมชาติ 4,400 ล้านบาท และรสผลไม้ 1,400 ล้านบาท โดย “ดัชมิลล์” เป็นเจ้าตลาด
สหพัฒน์ ยังเตรียมร่วมวงทำตลาด “นมเทียมข้นหวาน” นำแบรนด์ “สตาร์” มาบุกตลาดพฤษภาคมนี้
นอกจากนี้ จะมีสินค้าใหม่จากคู่ค้าเดิมเข้ามาทำตลาด เช่น “ริชเชส” นมเปรี้ยวโยเกิร์ตเยลลี่ บรรจุภัณฑ์ใหม่, ผ้าอนามัย “เอลลิส” และทิชชูเปียก “เอลิแอล” สินค้าจากบริษัทร่วมทุนกับญี่ปุ่น, มีดโกนแบรนด์ “ดอร์โก้” จากประเทศเกาหลี
ส่วนสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แบรนด์ซื่อสัตย์ ออก “ซื่อสัตย์ สึนามิ มิลค์ ซีฟู้ด” บะหมี่แนวใหม่มีจุดขาย “ซุปนม” ทำตลาด และพี่ใหญ่ “ม่าม่า ส่งสินค้าใหม่ “มาม่า OK” บะหมี่แห้งสไตล์เกาหลี รสชาติเผ็ดร้อน ราคา 15 บาท เพื่อรับเทรนด์ผู้บริโภคชอบกินเผ็ดแซ่บ! และยังเป็นการท้าชนแบรนด์เกาหลีที่ตบเท้าเข้ามาทำตลาดด้วย ซึ่งคาดว่าจะผลักดันให้มาม่าโกยยอดขายปีนี้ 11,000 ล้านบาท จากปีก่อน 10,300 ล้านบาท
บุกหนักออฟไลน์ ออนไลน์ก็ไป ซึ่งปีนี้สหพัฒน์ทยอยนำสินค้าไปขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่มากขึ้น ทั้งเทสโก้ โลตัส, ลาซาด้า เตรียมขายผ่านเว็บไซต์ของเจดี ดอทคอมและเซ็นทรัล และซูเปอร์มาร์ทที่กำลังจะเปิดตัว เพื่อป้อนสินค้าถึงมือผู้บริโภคโดยตรง (B2C)
และยังดึงร้านค้าเครือข่าย (B2B) มาสั่งสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น จากปัจจุบันทดลองนำแท็บเล็ตไปให้ร้านค้าย่อย 500 ราย มอนิเตอร์การซื้อ ทดลองสั่งสินค้าผ่านออนไลน์ และมียอดขาย 20 ล้านบาท
ในปีนี้ สหพัฒน์ยังมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ หลังจากปีก่อนจัดเส้นทาง (Route) ในการส่งสินค้าให้ดีขึ้น เช่น สินค้าที่ผลิตภาคเหนือต้องส่งในพื้นที่ก่อนเข้ากรุงเทพฯ เดิมมุ่งตรงกรุงเทพฯ เป็นหลัก ทำให้ลดต้นทุนได้ 86 ล้านบาท เพิ่มเสริมศักยภาพยิ่งขึ้น จึงเตรียมทุ่มงบ “พันล้านบาท” ผุดคลังสินค้าใหม่เนื้อที่ 50 ไร่ ขนาด 50,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) จากปัจจุบันมีคลังเล็กและใหญ่กว่า 60 แห่งทั่วประเทศ และมีพื้นที่เก็บสินค้าเต็มแล้ว
จากแผนดังกล่าว สหพัฒน์ตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้อยู่ที่ 34,240 ล้านบาท เติบโต 9% กำไรสุทธิ 2,000 ล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้ 31,360 ล้านบาท เติบโต 4% กำไรสุทธิ 1,444 ล้านบาท เติบโต 25%
“แนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 2 แต่ยังต้องการให้รัฐอัดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เพราะอารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญมากต่อการใช้จ่าย ต่อให้มีเงินแต่ไม่มีอารมณ์ ก็อาจไม่ดีนัก”