บทความโดย : สาวิตรี รินวงษ์
ปล่อยให้ลือกันมานานสำหรับ “ตระกูลโอสถานุเคราะห์” กับการตัดสินใจนำธุรกิจครอบครัวที่เป็นองค์กร “ร้อยปี” อย่าง “โอสถสภา” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งก่อนเข้าตลาด บริษัทมีการ “ผ่าตัด” องค์กรครั้งใหญ่ ตั้งแต่ยกทัพทีมผู้บริหารใหม่จาก “ยูนิลีเวอร์” ไม่ว่าจะเป็น “กรรณิการ์ ชลิตอาภรณ์” มาเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการบริหาร หรือเป็น “กุนซือ” ให้ “เพชร โอสภานุเคราะห์”
และยังมี “วรรณิภา ภักดีบุตร” มาเป็นแม่ทัพในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และมาพร้อมกับบรรดาลูกทีมจากยูนิลีเวอร์อีกกองทัพทั้งทีมการตลาดและขาย รวมถึงได้มือดีด้านเศรษฐศาสตร์อย่าง “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” มาเป็นกรรมการบริหาร
เมื่อโครงสร้างองค์กรนิ่ง ผลการดำเนินงานบริษัทมีกำไรติดต่อกัน 3 ปี ตามเกณฑ์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ได้เวลายื่นแบบแสดงรายการข้อมูลหรือไฟล์ลิ่ง วันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา
โดยการระดมทุนครั้งนี้ “โอสถสภา” จะเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ IPO จำนวนไม่เกิน 603,750,000 หุ้น ประกอบด้วยหุ้นสามัญพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทจำนวนไม่เกิน 506,750,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Orizon Limited จำนวนไม่เกิน 67,000,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย Y Investment Ltd จำนวนไม่เกิน 30,000,000 หุ้น รวมทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 20.10% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทหลังการออกและเสนอขาย IPO
ขณะที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นก่อนและหลังขายหุ้น IPO ตระกูลโอสถานุเคราะห์ ยังถือครองหุ้นใหญ่ราว 80% โดย “นิติ โอสถานุเคราะห์” กรรมการบริหาร และ “เซียนหุ้น” จะถือหุ้นใหญ่สุด 20.78%
ส่วนเหตุผลของการนำ “ระดมทุน” เพราะบริษัทต้องการนำเงินที่ได้ไปขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและปรับปรุงการผลิตสินค้าในเครือที่มีมากมายหลายแบรนด์ รวมถึงการยกระดับการจัดจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
++ 2 ปีลงทุนกว่า 5,200 ล้านบาท
แน่นอนว่า “สินค้า” คือหัวใจหลักในการทำตลาด หากไม่พัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ให้ดี โดดเด่น อาจถูกคู่แข่งเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดได้ แต่การลงทุนครั้งนี้บริษัทให้น้ำหนักปักหมุดในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งหลังได้รับอนุมัติการลงทุนจากคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ในปี 2561-2562 จะใช้เงินประมาณ 5,281 ล้านบาท แบ่งลงทุนในปี 2561 ประมาณ 2,668 ล้านบาท และปี 2562 ใช้งบลงทุนอีกราว 2,613 ล้านบาท ผ่านการลงทุนจะใช้ใน 4 โครงการ ดังนี้
โปรเจกต์แรก ก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ในประเทศเมียนมา 2,000 ล้านบาท สะท้อนการโฟกัสธุรกิจหลักอย่างเครื่องดื่มในต่างแดนควบคู่กับทำตลาดในประเทศไทย โดยโรงงานดังกล่าว คาดว่าจะเปิดให้ดำเนินการไตรมาส 4 ปี 2562 หากผลตอบรับจากผู้บริโภคดี ยอดขายโต โอสถสภา จะขยายเฟสพัฒนาโรงงานด้วย
โปรเจกต์ที่ 2ใช้งบราว 868 ล้านบาท เพื่อลงทุนเปลี่ยนเตาหลอมแก้วใหม่ ที่โรงงานแห่งหนึ่งของบริษัทจากปัจุบันมีโรงงานสยามกลาส ที่อยุธยา และสมุทปราการ
โปรเจกต์ที่ 3 ใช้งบราว 1,800 ล้านบาท เพื่อสร้างเตาหลอมแก้วใหม่ที่โรงงานผลิตขวดแก้วในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ หากโรงงานนี้เดินเครื่องการผลิต ก็จะปิดเตาหลอมที่โรงงานในสมุทรปราการ 2 เตา
ที่น่าสนใจในการ “ยกเครื่อง” โรงงานผลิตขวดแก้ว โอสสภาต้องการเพิ่มศักยภาพการผลิตขวดแก้วที่เบาสำหรับรรจุเครื่องดื่ม ช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าด้วย เพราะสินค้าที่น้ำหนักมาก ย่อมทำให้มีภาระค่าขนส่งที่แพง ที่สำคัญนี่ยังเป็นการตอกย้ำการเป็น “บิ๊ก” ผู้ผลิตขวดแก้ว 1 ใน 3 รายใหญ่ของประเทศ รองจากกลุ่มสิงห์ และบีเจซี ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี
โปรเจกต์ที่ 4 ใช้งบลงทุน 80 ล้านบาท เพิ่มสายการผลิตเครื่องดื่มแบรนด์ “ซี–วิต” 1 ในสินค้าไฮไลต์ของบริษัท ที่ดูเหมือนยา แต่เป็นสินค้าขายดีไม่น้อย โดยการเพิ่มสายการผลิตจะทำให้ซี–วิตมีกำลังการผลิตสินค้าเพิ่ม 44 ล้านขวดต่อปี ส่วนงบที่เหลืออีกร่วมร้อยล้านจะใช้ในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตต่างๆ
++ เครื่องดื่มหัวหอกทำเงิน
หากผ่าพอร์ตสินค้าโอสถสภา หลักๆ จะมี 4 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องดื่มและลูกอม แบรนด์เรือธงที่รู้จักกันดีคือ เครื่องดื่มชูกำลัง “เอ็ม-150” ที่เป็นเบอร์ 1 มานานเกือบ 20 ปีแล้ว มีลูกอมโอเล่ ทำตลาดยาวนานมาก โดยปี 2560 กลุ่มเครื่องดื่มทำเงินในเชิงรายได้ให้โอสภามากถึง 72% เพิ่มจากปี 2558 มีสัดส่วน 58.7%
กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล ทำรายได้ปี 2560 สัดส่วนกว่า 8.4% มีแบรนด์ดัง “เบบี้มายด์” ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่เป็น “ผู้นำตลาด” สินค้าความงามสำหรับผู้หญิง “ทเวลฟ์ พลัส” ซึ่งเป็นเบอร์ 3 ในตลาดโคโลญจน์ และเป็นเบอร์ 4 ในตลาดแป้งเย็น ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายเอ็กซิท เป็นต้น
กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ที่ดังๆ เช่น แบนเนอร์ ทัมใจ อุทัยทิพย์ และยากฤษณากลั่นตรากิเลน แบรนด์ระดับตำนาน
กลุ่มผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศ ทั้งเอ็ม-150 ชาร์ค โสมอินซัม หลายแบรนด์ทำตลาดมานานทั้งในอินโดนีเซีย เมียนมา ลาว แต่ก็มีปังและแป้ก โดยในอินโดนีเซีย บริษัทก็ยกเลิกกิจการหลายตัว
หลายปีที่ผ่านมา แม้โอสถสภาจะไม่เคยออกมาให้ข่าวมากนัก แต่การทำตลาดสินค้าแต่ละรายการยังคงมีให้เห็นโดยเฉพาะเอ็ม-150 ลุยหนักทั้งสปอร์ตและมิวสิกมาร์เก็ตติ้งตลอดเวลา ขณะที่บางแบรนด์ก็แผ่วไปมาก ไม่ว่าจะเป็น “ทเวลฟ์ พลัส” จากที่เคยเป็นแบรนด์ต้นตำรับดึงศิลปินเกาหลีมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ก็เงียบหายไป อุทัยทิพย์ ที่เคยทำตลาดเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น ก็ซาลงไปมาก ทำให้บางแบรนด์ถูกคู่แข่งแซงหน้า โดยเฉพาะ “ทเวลฟ์พลัส”
มีแบรนด์รุกและแบรนด์แผ่ว แต่ 3 ปีที่ผ่านมา รายได้ของโอสถสภายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยปี 2558 บริษัทมีรายได้ 32,044.2 ล้านบาท ทำกำไร 2,336.0 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้ 33,003.7 ล้านบาท กำไร 2,980.5 ล้านบาท และปี 2560 รายได้ลดลงมาอยู่ที่ 26,210.7 ล้านบาท และมีกำไร 2,939.2 ล้านบาท
การเข้าตลาดครั้งนี้ นอกจากจะเห็นการเดินหน้าลงทุนแล้ว เชื่อว่าจะได้เห็นหมัดเด็ดการตลาดของโอสถสภาออกมาอย่างแน่นอน เพราะนอกจากบริษัทจะต้องเคลื่อนทัพธุรกิจให้เติบโต ยังต้องดันยอดขายและกำไรให้โตเพื่อตอบสนองผู้ถือหุ้นด้วย.