เซเว่น อีเลฟเว่น (Seven-Eleven) เชนร้านสะดวกซื้อชื่อดังกำลังพยายามโหนกระแสการท่องเที่ยวยุคใหม่ ที่ห้องเช่าตามสไตล์ Airbnb ได้รับความนิยมล้นหลามจนขณะนี้กลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายทั่วประเทศ
ล่าสุด Seven-Eleven ประเทศญี่ปุ่นประกาศเป้าหมายแล้ว ว่าร้านสาขากว่า 1,000 แห่งจะสามารถเป็นเคาน์เตอร์รับคืนกุญแจห้องภายในปี 2020
Seven-Eleven มีดีกรีเป็นเครือข่ายร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น วันนี้ Seven-Eleven กำลังทำงานร่วมกับบริษัทเอเจนซี่ท่องเที่ยวอย่าง JTB เพื่อให้ผู้ใช้บริการเช่าห้องพักเพื่อท่องเที่ยวสไตล์ Airbnb สามารถเดินเข้า Seven-Eleven เพื่อเช็กอินที่พัก ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
เป้าหมายแฝงของโครงการนี้ คือ Seven-Eleven มั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มการเข้าชมสินค้าของลูกค้านักท่องเที่ยวได้อีกทาง ซึ่งในทางทฤษฎีนั้นมีความเป็นไปได้สูงพอกันกับภาคปฏิบัติ
*** 1,000 สาขาใน 2 ปี
รายงานระบุว่าโครงการนี้ดูแลในนามหน่วยธุรกิจบริษัท Seven & i Holdings โดยเป้าหมายเบื้องต้น คือบริษัทวางแผนที่จะนำบริการเช็กอินห้องพักเข้าสู่ร้าน Seven-Eleven ราว 1,000 สาขาในเมืองใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2020 พื้นที่ที่จะมุ่งเน้นเป็นพิเศษคือจุดหมายท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับนักเดินทางต่างชาติ เช่น ซัปโปโร และ ฟุกุโอกะ
พื้นที่แรกที่จะประเดิมโครงการนี้ คือ Seven-Eleven หลายสาขาในเขตชินจูกุของโตเกียว คาดว่าจะเป็นสาขาแรกที่เริ่มให้บริการในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายใหม่เรื่องธุรกิจแบ่งเช่าบ้านทั่วประเทศมีผลบังคับใช้
รายงานระบุว่า Seven-Eleven จะเป็นพื้นที่ติดตั้งระบบเช็กอินห้องพักอัตโนมัติ คาดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้ จะมีเครื่องเช็กอินห้องพักถูกติดตั้งในร้าน Seven-Eleven มากกว่า 50 สาขาทั่วโตเกียวและโอซาก้า
*** เช็กอิน–เช็กเอาต์ได้อัตโนมัติ
ในการเช็กอิน ผู้เข้าพักจะใช้เครื่องอัตโนมัติเพื่อถ่ายรูปใบหน้า หรือบัตรประจำตัวประชาชน (หรือหนังสือเดินทาง) จากนั้น จะต้องกรอกชื่อ ที่อยู่ และข้อมูลอื่นให้เรียบร้อย เมื่อข้อมูลได้รับการยืนยันจากระยะไกลผ่านศูนย์บริการ JTB เครื่องจะแจกกุญแจให้ ซึ่งเมื่อสิ้นสุดการเข้าพัก ผู้ใช้สามารถคืนกุญแจได้ที่ตู้เดียวกัน
ตู้อัตโนมัติเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นผลลัพธ์ของการไฟเขียวกฎหมายใหม่ที่ญี่ปุ่นเพิ่งผ่านออกมา เนื่องจากภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ เจ้าของบ้านที่ไม่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านเช่าของตัวเอง จะต้องมีทีมงานคอยจัดการงานยิบย่อย เช่น การตรวจสอบการระบุตัวตนของผู้พัก และการเก็บข้อมูลการเข้าพักอย่างถูกต้อง จึงจะถือว่าบริการนั้นเป็นบริการที่ถูกกฎหมาย เมื่อกฎหมายใหม่ระบุเช่นนี้ JTB จึงเสนอตัวให้บริการดังกล่าวเพื่อแลกกับค่าธรรมเนียม จุดนี้ รายงานย้ำว่าเจ้าหน้าที่ร้านสะดวกซื้อ Seven-Eleven จะไม่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการเช็กอินใดๆ
สำหรับ Seven-Eleven การขยายบริการในร้านค้าถือเป็นวิธีที่จะต่อสู้กับวิกฤติจำนวนลูกค้าลดลงทั่วโลกได้ โดยสถิติพบว่า เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานับเป็นเดือนที่ 24 แล้วที่ตัวเลขการเข้าร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นลดลงต่อเนื่อง
ภาวะขาลงนี้ทำให้ Seven-Eleven พยายามหาพันธมิตรเพื่อเปิดบริการใหม่ ซึ่งล่าสุดคือกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Seven-Eleven เริ่มให้บริการเป็นศูนย์ยืมคืนสำหรับบริการแชร์จักรยาน ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนของ SoftBank Group บนความหวังว่าจะสามารถดึงดูดผู้ซื้อได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม Seven-Eleven ไม่ใช่รายเดียวที่หันมามองธุรกิจวางตู้เช็กอินห้องพักอัตโนมัติ เพราะผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อรายอื่นต่างคว้าโอกาสที่จะมาพร้อมกับนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาก่อนที่การแข่งขัน 2020 Tokyo Olympics โอลิมปิกกรุงโตเกียวจะเริ่มขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้ เช่น Lawson ที่เริ่มให้บริการแลกเปลี่ยนกุญแจห้องพักตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา บนกำหนดการจะขยายไปถึง 100 สาขาในปลายปีนี้ (2018) ด้าน FamilyMart Uny Holdings ก็เริ่มให้บริการเช็กอินแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ร้าน FamilyMart สาขาหนึ่งในโอกินาวา ซึ่งระบบจะออกรหัส QR ให้สามารถใช้เป็นกุญแจอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเปิดบ้านได้
ในประเทศญี่ปุ่น Airbnb แข่งขันดุเดือดกับสตาร์ทอัปสัญชาติปลาดิบ Hyakusenrenma ยังมีบริการชื่อ Tujia จากจีนที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ไม่ว่าที่ผ่านมาการแข่งขันจะเผ็ดมันเพียงไร เชื่อว่าสมรภูมินี้จะร้อนแรงขึ้นอีกหลายเท่าตัว เนื่องจากการผูกธุรกิจแชร์ห้องพักกับร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง จะช่วยให้ภาคธุรกิจนี้เติบโตชัดเจนในตลาดญี่ปุ่นแน่นอน.