ในที่สุด รัฐบาล คสช. ประกาศใช้ ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัล ด้วยการพักชำระค่าใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล 22 ช่อง 16 ราย เป็นเวลา 3 ปี และยังเปิดทางให้ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยน ถ่าย โอนใบอนุญาตประกอบกิจการได้สะดวกมากขึ้น เพิ่มทางเลือกในการหนีตายของผู้ประกอบการ
ในการประชุม คสช.เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีข้อสรุปว่า คสช.จะออกคำสั่ง ม.44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยมีใจความสำคัญ 3 มาตรการ คือ
- พักชำระ การจ่ายเงินค่าใบอนุญาตงวดต่อไป เป็นเวลา 3 ปี แต่ผู้ประกอบการต้องรับภาระการจ่ายค่าดอกเบี้ย 1.5%ต่อปี
- กสทช.จะช่วยจ่ายเงินค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ไม่เกิน 50% ให้อีก 2 ปี
- ให้โอนใบอนุญาตได้ แต่ห้ามมิให้ต่างชาติเป็นเจ้าของ
ทั้งนี้มาตรการทั้ง 3 ข้อนี้ จะมีผลใช้บังคับเป็นทางการเมื่อได้มีประกาศ คสช.ในราชกิจจานุเบกษา
ตามกำหนดการเดิมทั้ง 22 ช่องทีวีดิจิทัล มีกำหนดต้องจ่ายเงินค่าประมูลงวดที่ 5 ภายในวันที่ 25 พ.ค.61 โดยมีวงเงินที่แต่ละรายต้องจ่ายค่าใบอนุญาตรวมทั้งหมด 5,131 ล้านบาท ซึ่งแต่ละรายมีสิทธิที่จะจ่ายตามเดิม หรือเข้าโครงการนี้แต่ต้องรับภาระจ่ายดอกเบี้ยปีละ 1.5% ด้วย
ก่อนหน้านี้ คสช. ได้เคยใช้ ม.44 ช่วยเหลือทีวีดิจิทัลมาแล้ว ครั้งแรกเมื่อ 20 ธ.ค. 2559 โดยรัฐบาลออกคำสั่ง ม.44 โดยให้ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินค่าประมูลออกไปใน 2 ส่วน
- ส่วนราคาขั้นต่ำที่ต้องจ่ายในปีที่ 4 ให้ยืดออกไปจ่าย 2 ปี
- ส่วนวงเงินประมูลส่วนเกินที่ต้องจ่ายปีที่ 4 -6 ให้ยืดออกไปเป็น 6 ปี โดยทั้งหมดที่ยืดออกไปต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี
หลังรัฐออกมาตรการช่วยเหลือครั้งแรก มีเพียง 5 รายที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ คือ ช่อง7, เวิร์คพอยท์, สปริงนิวส์ และ 2 ช่องในกลุ่มทรูได้แก่ ทรูโฟร์ยู และทีเอ็นเอ็น และอีก 2 ช่องของไทยทีวีของ ”เจ๊ติ๋ม” ที่มีการฟ้องร้อง กสทช.ในศาลปกครอง
การออก ม.44 ครั้งแรกนั้น ส่งผลให้ กสทช.รับภาระจ่ายค่าเช่าโครงข่าย ( MUX) ในวงเงิน 2,500 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี
ปลดล็อกให้ใบอนุญาตเปลี่ยนมือได้
ที่สำคัญการออก ม.44 ครั้งนี้ ยังรวมไปถึงการให้ “โอนใบอนุญาต” ได้ เท่ากับเป็นการปลดล็อกให้เอกชนเปลี่ยนมือกิจการทีวีดิจิทัล
เพราะตามเงื่อนไขใบอนุญาตเดิมที่ทำไว้ กสทช.นั้น ระบุว่า ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่สามารถโอนได้ตามกฎหมาย พ.ร.บ. กสทช. ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ใบอนุญาตเปลี่ยนมือได้ลำบาก
ทำให้ในการซื้อกิจการกันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นลักษณะของการเข้าไปซื้อหุ้นบางส่วน เช่นกรณีช่องวัน ที่ได้กลุ่มปราสาททองโอสถ และช่อง GMM25 ที่ได้กลุ่มช้างเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในขณะที่บางรายอยากขายใบอนุญาตแต่ก็ทำได้ลำบาก
การผ่อนปรนด้วยเงื่อนไขการถ่ายโอนใบอนุญาตได้ จึงเป็นช่องทางสะดวกมากขึ้นให้กับผู้ประกอบการบางราย ที่กำลัง “ดีล” ซื้อช่องทีวีดิจิทัลบางช่อง โดยเฉพาะบริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง หรือช่อง Now26 ในเครือเนชั่น ที่มีข่าวว่า มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาเสนอ Bid 2 กลุ่ม คือกลุ่มของสมบัติ พานิชชีวะ และกลุ่มของกันตนา ที่เสนอในนาม เมเจอร์ กันตนา บรอดคาสติ้ง ที่คาดว่าจะมีข้อสรุปในเร็วนี้ ซึ่งอาจจะเป็นดีลแรกที่เข้ามาได้สิทธิจากการประกาศให้เปลี่ยนมือใบอนุญาตได้
การที่ คสช.ออกคำสั่งเรื่องการให้โอนใบอนุญาตครั้งนี้ เพราะ คสช.เล็งเห็นว่า ทีวีดิจิทัลหลายราย โดยเฉพาะรายกลาง รายเล็ก ต้องการหาพาร์ตเนอร์รายใหม่ แต่ดีลมักไม่สำเร็จ เพราะส่วนใหญ่ผู้มาใหม่มักต้องการถือครองใบอนุญาตด้วย หากไม่ปลดล็อกเรื่องนี้ คสช.อาจจะต้องกลับมาใช้คำสั่ง ม.44 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกในอนาคตก็ได้ จึงใช้โอกาสนี้แก้ปัญหาทั้งหมดเลยทีเดียว
คืนใบอนุญาต ต้องรอศาลปกครองสูงสุด
แม้ว่าจะมีคำสั่ง ม.44 ออกมาช่วยบรรเทาปัญหาครั้งนี้ แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการบางส่วน ต้องการเงื่อนไขขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบการด้วยเช่นกัน ซึ่งมีข่าวว่า ช่องสปริงนิวส์ ที่มีผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกับเนชั่นทีวีที่เป็นช่องข่าวเหมือนกัน โดยมีแผนจะรวมช่อง ก็ต้องการคืนใบอนุญาตด้วยเช่นกัน รวมถึงช่อง 3 ที่มีถึง 3 ช่อง ก็มีข่าวว่าต้องการคืนใบอนุญาต 1 ช่อง
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการขอคืนใบอนุญาตนั้น ต้องรอการตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ในกรณี “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” กับบริษัทไทยทีวี ที่ขอยกเลิกใบอนุญาตโดยไม่ต้องรับภาระจ่ายเงินค่างวดการประมูลทั้งหมด และเพิ่งชนะคดีเบื้องต้นจากศาลปกครองกลาง โดยศาลให้ ”เจ๊ติ๋ม” ไม่ต้องจ่ายค่าประมูลตั้งแต่งวดที่ 3 เป็นต้นไป แต่ กสทช.ก็อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ในชั้นศาลปกครองสูงสุด.