“สี” แค่แยกความต่างแบรนด์ สูตรชนะ “ซุปเปอร์ริช (ไทยแลนด์)” ต้อง “เรตดี” ไว้ก่อน ถึงแข่งเกมแลกเงินได้

ในการทำตลาดนอกจากการสร้างแบรนด์ โลโก้ ให้มีเอกลักษณ์แล้ว ต้องยอมรับว่า “สี” เป็นสิ่งที่ควรค่าตีคู่มากับการสร้างตราสินค้าให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ (Awareness) ตลอดจนจดจำได้อย่างดี เพราะใช่ว่าผู้บริโภคทุกคนจะจดจำรายละเอียดบนโลโก้หรือตราสินค้าได้อย่างแม่นยำ

ถ้า “สี” โดดเด่นสะดุดตาไปแล้ว ก็อาจทำให้ช่วย Remind ถึงแบรนด์ในดวงใจได้ ธุรกิจหลายเซ็กเตอร์นำ “สี” มาเล่นและเป็นตัวชูโรงชัดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม “ธนาคารพาณิชย์” ห้างค้าปลีก โทรคมนาคม อาหาร และเครื่องดื่ม เป็นต้น คนจำได้บ้างไม่ได้บ้าง ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของแต่ละแบรนด์ แต่ก็มีอีกธุรกิจที่เชื่อว่าผู้บริโภคมีข้อสงสัยคลางแคลงใจอยู่บ้าง สำหรับ “ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ” เพราะทุกค่ายเล่นใช้ชื่อ “ซุปเปอร์ริช” เหมือนกันดาษดื่นไปหมด เพราะเป็นชื่อ Common Name ที่ใช้ได้ทั่วไป กระทรวงพาณิชย์ไม่มีกฎห้ามแต่อย่างใด หน้าเก่าที่ปั้นแบรนด์มาแต่ต้น เจอหน้ามาใหม่ใช้ชื่อเดียวกัน แน่นอนว่าสร้างความสับสนได้ “สี” เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายโดยปริยาย ทั้งสีส้ม (เอสอาร์พี ซุปเปอร์ริช) สีเขียว (ซุปเปอร์ริช (ไทยแลนด์)) สีฟ้า (แกรนด์ซุปเปอร์ริช) ส่วนแบรนด์อื่นมีทั้งสีชมพู สีแดง เป็นต้น

“แพม สิตามนินท์ สุสมาวัฒนะกุล” กรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ซุปเปอร์ริช (ไทยแลนด์) จำกัด ยอมรับว่าชื่อที่เหมือนกันเป๊ะ! ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนได้ แต่กระนั้นในการทำตลาด ก็ยังต้องพยายามสร้างความ “แตกต่าง” ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการ และ “อัตราแลกเปลี่ยน” ที่การันตีว่าให้ราคาดีที่สุด (Best Rate เหมือนหลายๆ ค่ายใช้เรียกลูกค้า) เพื่อเป็น “จุดขาย” และผู้บริโภคจดจำว่าไม่ได้เด่นแค่สีเขียวเท่านั้น

เรตแลกเงินดีแค่ไหน ตอบชัดไม่ได้ แต่ต่างกันหลัก “สตางค์” ก็มีผลต่อการตัดสินใจแลกเงินแล้ว ทว่าธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราแข่งขันดือดสุดๆ ไม่แพ้เซ็กเตอร์อื่นๆ นอกจากคู่แข่งร้านแลกเงินที่มีนับ “พันร้าน” ทั่วประเทศ ธนาคารก็เป็นอีกหนึ่ง “ตัวแปร” ที่มีผลต่อการแลกเงิน ด้วยสาขาที่มีอยู่จำนวนมาก แม้ว่าเรตจะสูงกว่า แต่ถ้าตอบโจทย์ความสะดวก บวกกับหักลบค่าเดินทาง

“เรตค่าเงิน” อาจสูสีกัน ซุปเปอร์ริช (ไทยแลนด์) จึงต้องเพิ่มเรื่องของ “ประสบการณ์แลกเงินที่ดี” ให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ในทุุกๆ แง่มุม ตั้งแต่สาขาบริการของร้านที่อยู่ใจกลางกรุงอย่างราชดำริ รองรับทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ สาขาในห้างค้าปลีกย่านทำเลทองที่ “นักท่องเที่ยว” ความต้องการแลกเงินมีสูง และเพิ่มบริการที่เป็นมิตร ประเด็นนี้ถือว่าต่างจากคู่แข่งมากน้อยแค่ไหน “แพม สิตามนินท์” บอกว่านี่คือสิ่งที่ร้านพยายามทำ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า

นอกจากนี้การขยายสาขายังต้องมีต่อเนื่อง เพราะเป็นการนำ “บริการ” ไปป้อนผู้บริโภคถึงที่ ซึ่งปีนี้บริษัทจะมีการเปิดสาขาใหม่เพิ่ม 1 แห่ง โดยอุบทำเลไว้ จากปัจจุบันมี 12 สาขา กระจายอยู่ย่านต่างๆ เช่น สำนักงานใหญ่ราชดำริ, วิภาวดี 22, เอ็มโพเรียม, สยามพารากอน, เซ็นทรัลพระราม 9 และสนามบินสุวรรณภูมิ และที่ผ่านมามีการปิดสาขาไปบ้าง ที่เอเชียทีค, ท่ามหาราช และบนสถานีรถไฟฟ้า เพราะพื้นที่ใกล้กัน จำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ (Traffic) ไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย และรายได้กินกันเอง (Cannibalisation)

ปัจจุบันธุรกิจอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างมประเทศมีมูลค่ากว่า 6.6 แสนล้านบาท การเติบโตมากถึง 54% ปัจจัยที่หนุนให้ตลาดโตมาจากการท่องเที่ยว ทั้งคนไทยเที่ยวต่างแดนมากขึ้น และต่างชาติก็ตบเท้าเข้ามาไทยปีละกว่า 30 ล้านคน

ตอนนี้ธุรกิจแลกเงินตราต่างประเทศพีคตลอด ไม่มีซีซั่นเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ที่ยอดพีคทีจะเกิดในช่วงปีใหม่ และก่อนสงกรานต์

สถานการณ์ดังกล่าวยังทำให้หน้าใหม่ “รายย่อย” เข้ามารุกธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 กว่าร้าน จากที่ผ่านมามีกว่า 1,900 ร้าน โดยภาคใต้เป็นพื้นที่มีสาขาร้านแลกเงินมากสุด สัดส่วน 50% เพราะการท่องเที่ยวบูมมาก ตามด้วยภาคกลาง 40% ที่เหลือกระจายตามภูมิภาคต่างๆ 10%

ส่วนภาพรวมของซุปเปอร์ริช (ไทยแลนด์) ก็มีรายได้เติบโตเช่นกัน โดยไตรมาสแรกรายได้โตราว 14% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ผู้บริโภคมีการแลกเงินเฉลี่ย 30,000-40,000 บาทต่อคน หรือการแลกเปลี่ยนเงินตราหมุนเวียนต่อวัน 200-300 ล้านบาท มีเงินทุนสำรองอีก 10-20 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทให้บริการแลกเงินทั้งสิ้น 34 สกุลเงิน โดยสกลุเงิน “ดอลลาร์สหรัฐ” มีสัดส่วนมากสุด 25% เพราะคนไทยแลกเพื่อท่องเที่ยว และใช้เพื่อการศึกษา รวมถึงทำธุรกิจ มูลค่าจึงสูง ตามด้วยเงินเยน 20% เพราะคนไทยเห่อและแห่ไปเที่ยวญี่ปุ่นจำนวนมาก เงินยูโรกว่า 10% และเงินปอนด์ ส่วนเงินหยวนยังไม่ติดอันดับแลกเปลี่ยนสูงสุด แม้ว่าคนจะมาเที่ยวไทยเยอะก็ตาม แต่ด้วยสกุลเงินหลักยังเป็นดอลลาร์สหรัฐจึงนำโด่ง แต่ที่น่าจับตาสกุลเงินที่กำลังบูมได้แก่สกุลเงินรูปีศรีลังกา (LKR) โครูนา (Koruna) ของสาธารณรัฐเช็ก (CZK) และสกุลเงินโครนาไอซ์แลนด์ (ISK) ที่คนไทยบูมไปท่องเที่ยวมากขึ้น

ขณะนี้ธุรกิจแลกเงินอาจบูม! แต่อนาคต “แพม สิตามนินท์” บอกว่า ความท้าทายในอนาคต มีหลายปัจจัยที่ต้องเกาะติด ไม่ว่าจะเป็น สังคมไร้เงินสด (Cashless Soceity) เพราะนั่นหมายถึงผู้บริโภคไม่ต้องพกเงินสดเพื่อแลกเงินอีก อัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน ค่าเงินแข็งค่าและอ่อนค่าบ้าง และการแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยบริษัทต้องหาทางรับมือตั้งแต่วางระบบหลังบ้าน เทคโนโลยีเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว พัฒนาคนเพื่อเซอร์วิสผู้บริโภคต่อหน้า (Face to face)

สำหรับภาพรวมรายได้ของซุปเปอร์ริชปีนี้คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อนมีรายได้กว่า 1.12 แสนล้านบาท.