นับเป็นความพ่ายแพ้ในรอบ 30 ปีของช่อง 7 ที่มีต่อคู่แข่งอย่างช่อง 3 เมื่อส่วนแบ่งเม็ดเงินโฆษณาไตรมาสแรกของปี2552 ช่อง 3 แซงหน้าช่อง 7 ซึ่งต้องเจอศึกรอบด้าน ทั้งความขัดแย้งภายในที่ฝังลึกจนนำมาสู่การปรับผังรายการที่ไม่คล่องตัว และการการเลิกให้ส่วนลดโฆษณา จน “ยูนิลีเวอร์” บอยคอต ถอนโฆษณาออกจากช่อง 7 จนช่อง 7 ต้องพลิกเกมสู้ ใส่เกียร์เดินหน้าท้าชนแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน โยก “ชิงร้อยชิงล้าน” ประกบ“ตีสิบ” ส่งรายการข่าว “ประเด็นเด็ดเจ็ดสี ชนกับข่าว 3 มิติ” ชนิดใครดีใครอยู่
จริงๆ “อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ” ดาราสุดฮอตอันดับต้นๆ กับบทบาทร้อน “เมียน้อย” ในละครเรื่อง “เมียหลวง” ของวิก 7 สี ควรได้ออนแอร์หนังโฆษณา “ครีมนวดผมซันซิล” ของค่าย “ยูนิลีเวอร์” ที่อั้มเป็นพรีเซ็นเตอร์อยู่ ผ่านช่อง 7 เป็นหลัก แต่ปรากฏหนังโฆษณาของ “อั้ม” ไปออกที่ช่อง 3 ชนิดถี่ยิบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งในช่วงละครและข่าว และแม้ “เมียหลวง” อวสานไปแล้ว แต่ทั้งซันซิลและลักส์ที่อยู่กับช่อง 7 มานาน กลับเลือกยิงโฆษณาทางช่อง 3 แทน
สัญญาณนี้บอกชัดเจนว่าสัมพันธภาพระหว่าง “ยูนิลีเวอร์” กับช่อง 7 ได้ “เปลี่ยนไป” และถึงขั้นถอนโฆษณาออกจากช่อง 7 เมื่อปรากฏว่า ไตรมาสแรก ปี 2552 นั้นช่อง 3 กวาดรายได้โฆษณาแซงหน้าช่อง 7 เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่แข่งกันในธุรกิจทีวีมานานกว่า 30 ปี
“ยูนิลีเวอร์” เป็นเพียงแค่หนึ่งในตัวเร่ง ที่สะท้อนปัญหาภายใน กำลังรุมเร้าช่อง 7 ท่ามกลางความคุกรุ่นภายในที่เรื้อรังมานานระหว่างผู้ถือหุ้น 2 ฝ่าย คือกลุ่มของ “กฤตย์ รัตนรักษ์” กับฝ่าย “คุณแดง สุรางค์ เปรมปรีดิ์”
จุดปะทุ“ยูนิลีเวอร์” บอยคอตช่อง 7
ปี 2551 ยูนิลีเวอร์เป็นค่ายผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด อยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท หรือประมาณ 8% ของงบรวมเกือบ 40,000 ล้านบาท และยูนิลีเวอร์ก็เลือกโฆษณากับช่อง 7 มากสุด เพราะผู้ชมกลุ่ม Mass คือเป้าหมายที่สินค้ายูนิลีเวอร์ส่วนใหญ่ต้องการ และที่สำคัญหลักฐานที่ชัดคือเรตติ้งผู้ชมสูงสุด จึงกล้าแบ่งงบถึง 42% ของ 4,000 ล้านบาท ลงที่ช่อง 7 ส่วนช่อง 3 ได้เพียง 28% รองลงมาคือช่อง 9 ที่ 21%
แต่ล่าสุด “ยูนิลีเวอร์” ไม่สนเรตติ้งอีกต่อไป แม้ว่าผลสำรวจของ Nielsen ยังคงพบว่าเรตติ้งผู้ชมของช่อง 7 สูงกว่าอยู่ที่ 34.7% และของช่อง 3 อยู่ที่ 29.8% ในไตรมาสแรกก็ตาม
เพราะในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง สินค้าต่างอยากใช้งบน้อยแต่คุ้มค่ามากที่สุด เมื่อช่อง 7 อยากสร้างรายได้มากขึ้น ด้วยการไม่ยอมใส่วนลด 15% เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับเป็นการขึ้นราคากลายๆ “ยูนิลีเวอร์” จึงเลือกที่จะถอนโฆษณาออกทั้งหมด นอกจากยูนิลีเวอร์แล้ว บรรดาเอเยนซี่และเหล่าโบรกเกอร์โฆษณา ต่างก็แพ็กกันแน่น ไม่ Plan Ad ในช่อง 7 ให้กับลูกค้า เพราะเวลานี้ส่วนลด 15% ย่อมสำคัญกว่าเรตติ้ง
ส้มหล่น ช่อง 3 กวาด 30%
ที่ผ่านมา ช่อง 7 มีจุดแข็งที่ได้เปรียบช่องอื่นอยู่ 2 ประการคือ 1.เครือข่ายสัญญาณชัดที่สุดเมื่อเทียบกับช่องอื่น เพราะช่อง 7 ได้พื้นที่ตั้งเสาอากาศที่ดี โดยเฉพาะที่ของทหารในต่างจังหวัด 2.คอนเทนต์ที่เข้าถึงคนต่างจังหวัด โดยเฉพาะละครเกือบทุกครัวเรือนเลือกดูช่อง 7 เป็นสถานีหลักมานานหลายสิบปี
สำหรับช่อง 3 คู่แข่งเบอร์รองของช่อง 7 มีจุดอ่อนที่สัญญาณไม่ทั่วถึง และคมชัดเฉพาะในพื้นที่เมืองหลัก หรือแม้แต่ในบางจุดของกรุงเทพฯ ก็ยังสัญญาณบอด แต่ในระยะ 10 ปีหลังที่ช่อง 3 เริ่มปรับปรุงสัญญาณ ด้วยการนำคลื่นยูเอชเอฟมาเสริม ทำให้สัญญาณดีขึ้น
ปมขัดแย้งช่อง 7 ยิ่งลึก ยิ่งฉุด
ขณะที่ช่อง 3 กำลังปรับตัวได้ดี ช่อง 7 ต้องเจอทั้งศึกภายในและภายนอก เมื่อความขัดแย้งภายใน ซึ่งเริ่มชัดตั้งแต่ปี 2550 ที่กลุ่มของ “กฤตย์” เข้ามาบริหารช่อง 7 เต็มตัว หลังจากขายหุ้นในธนาคารกรุงศรีอยุธยาออกไปให้กับกลุ่มจีอี
ตลอด 2 ปี มีการปรับโครงสร้างภายใน และพยายามดึงอำนาจจากคุณแดงกลับคืนมา โดยเฉพาะการจัดผังรายการทั้งในและนอกไพรม์ไทม์ ซึ่งเพียง 1 ปี มีการโยกตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผังรายการแล้ว 2-3 ครั้ง จนถึงขั้นที่มีกระแส คุณแดงจะขายหุ้นที่ถือยู่ 18% ในช่อง 7 ทิ้ง ยิ่งทำให้ปมขัดแย้งดูรุนแรงขึ้น แต่รายการละครที่คุณแดงรับผิดชอบทำรายได้ให้ช่อง 7 กว่า 70% มานาน การเขย่าบัลลังก์คุณแดงจึงไม่ง่ายนัก
ปมความขัดแย้งทำให้การดำเนินงานในช่อง 7 ไม่คล่องตัว เช่นกรณีรายการข่าว ที่คนดูนิยมมากขึ้น ช่อง 7 ต้องพ่ายแพ้ให้กับช่อง 3 ที่มีความคล่องตัวกว่า มีการปรับปรุง เพิ่มพิธีกร และขยายเวลาข่าวมากขึ้น ดึงเม็ดเงินโฆษณา และต้นทุนของทำรายการข่าวถูกกว่า ละคร ที่ต้องใช้เงินเฉลี่ยตอนละ 5 แสนบาท ขณะที่รายการข่าว ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพียงแค่ค่าตัวพิธีกร ที่ช่อง 3 ต้องจ่างประจำ เฉลี่ย 1 แสนบาทต่อเดือน และข่าวสามารถนำมารีรัน อ่านใหม่
ในอีกมุมหนึ่งการยึดติดกับละคร อาจทำให้ช่อง 7 ยิ่งเจ็บหนัก เพราะต้นทุนละครเฉลี่ยตอนละ 5 แสน ขณะที่รายการข่าวต้นทุนถูกกว่ามาก เนื้อหาข่าวสามารถนำมารีรัน เขียนใหม่ อ่านใหม่ จะมีต้นทุนเพิ่มเพียงค่าตัวพิธีกรที่ช่อง 3 จ้างประจำเฉลี่ยคนละ 1 แสนบาทต่อเดือน นี่คือเหตุผลที่ช่อง 3 ทุ่มไม่อั้นกว้านซื้อตัวพิธีการข่าวที่ชาวบ้านคุ้นเคย และเปลี่ยนหน้าในแต่ละช่วงเวลา เพื่อไม่ให้ผู้ชมเบื่อ
กฤตย์ รัตนรักษ์ ตัดสินใจ เขย่าผังรายการครั้งใหญ่ โดยเปิดไฟเขียวให้ “ประเด็นเด็ดเจ็ดสี” ของ “มีเดีย ออฟ มีเดียส์” บริษัทลูก ที่มี “ชาลอต โทณวณิก” ดูแล เข้ามาเสียบในช่วงเวลาข่าว “สี่ทุ่มครึ่ง” เพื่อชนกับ “ข่าว 3 มิติ” โดยหวังว่า ประเด็นเด็ดเจ็ดสี ที่มีจุดขายที่ความไฮเทค วิดีโอวอลล์ และทีมข่าวเก่าไอทีวี จะท้าชนกับคนข่าวอย่าง “กิตติ สิงหาปัด” ช่วงประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง นับวันก็ยิ่งได้ใจคนดู
ส่วนวันอังคาร ช่อง 7 ตัดสินใจ “ชิงร้อยชิงล้าน” มาชนกับ “ตีสิบ” ของ “เสี่ย วีที วิทวัส สุนทรวิเนตร์” ที่อยู่ช่อง 3 มานาน และทำเรตติ้งกระฉูดมาโดยตลอด ไม่ว่าช่อง 7 จะส่งรายการใดมาชน ก็ไม่เคยสู้ตีสิบได้ แม้แต่ “คลับเซเว่น” ของ “ต๋อย ไตรภพ ลิมปพัทธ์” ก็ยังไม่โดน แถมเป็นหนี้ช่อง 7 อยู่ถึง 20 ล้านบาท
ช่อง 7 สั่งถอด “คลับเซเว่น” แบบกะทันหัน และนำรายการ “ชิงร้อย ชิงล้าน” ของค่ายเวิร์คพ้อยท์ที่มีเรตติ้งสูงสุดในบรรดาเกมโชว์ทั้งหมดมาชนตีสิบ จน “ไตรภพ” ต้องรีบวิ่งขอกลับมาซบวิก 3 พระราม 4 เหมือนเดิม
ช่อง 3 ก็ไม่นิ่งเฉย จากโฆษณา “รายการครอบครัวข่าว” ที่ล้นแล้วล้นอีก ทำให้ช่อง 3 เห็นโอกาส ปรับผังรายการใหม่ โดยให้ “ไตรภพ” ไปอยู่ช่วง 4 ทุ่มครึ่งวันจันทร์ แทนรายการ “จับเข่าคุย” ของ “สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา” ที่ถูกยุบ แลกกับการขยายเวลาคุยข่าว “เรื่องเล่าเช้านี้” ของ “สรยุทธ์” อีกวันละ 15 นาที ได้เงินจากโฆษณาเพิ่มขึ้นนาทีละ 1.2 แสนบาท เมื่อบวกเข้าไปในเวลาข่าวที่ได้เพิ่มขึ้น ทำให้ขายได้เป็นนาทีละ 1.75 แสนบาท เท่ากับเพิ่มอัตราค่าโฆษณาในช่วงนั้นอีกทางหนึ่ง
การอ้าแขนรับไตรภพกลับคืนช่อง 3 เพราะมองว่า “ไตรภพ” จะช่วยให้ช่อง 3 มีความเป็น Mass มากขึ้นเมื่อเทียบกับรายการจับเข่าคุยของ “สรยุทธ์”
ส่วน “ตีสิบ” ต้องประกบกับ “ชิงร้อยชิงล้าน” ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก ในมุมของช่อง 3 เพราะรายการแบบเดียวกัน กลุ่มเป้าหมายเดียวกัน มาชนกัน ทำให้แย่งเม็ดเงินก้อนเดียวกัน ซึ่งไม่ส่งผลดีกับใคร
สำหรับ ช่อง 7 ต้องเลือกดับเครื่องชน เพื่อดึงเรตติ้ง ภายในวิกหมอชิตเอง ก็คุกรุ่นด้วยความเปลี่ยนแปลงและขัดแย้ง และเดิมพันครั้งใหม่ ที่ใหญ่กว่าเก่า
จับคู่ชน”บันเทิง”
ตีสิบ ช่อง 3
ผู้ผลิต
ทเวนตี้ ทเวนตี้ เอ็นเทอร์เทนเมนท์
ลักษณะรายการ วาไรตี้บันเทิง+ทอล์คโชว์
พิธีกรหลัก วิทวัส สุนทรวิเนตร์
จุดเด่น
-ทอล์คโชว์ที่ผู้ชมเข้าใจง่าย
-ช่วงดันดารา แข่งโชว์เพลงของผู้ชม
ช่วงเวลา อังคาร 22.30-24.00 น.
อัตราโฆษณา นาทีละ 340,000 บาท
ชิงร้อย ชิงล้าน
ช่อง 7
ผู้ผลิต เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์
ลักษณะรายการ วาไรตี้บันเทิง+ เกมโชว์
พิธีกรหลัก ปัญญา นิรันดร์กุล
จุดเด่น โชว์จาก ศิลปินตลก หม่ำ เท๋ง โหน่ง
ช่วงเวลา อังคาร 22.30-24.00 น.
อัตราโฆษณา นาทีละ 320,000 บาท
จับคู่ชน”ข่าว”
ข่าว 3 มิติ
ผู้ผลิต ครอบครัวข่าวช่อง 3
จุดเด่น
– พิธีกร”กิตติ สิงหาปัด”
-ทีมข่าวช่อง 3
เนื้อหาที่เน้น
-สรุปข่าวเด่น และเจาะลึก
-พยายามเปิดประเด็นใหม่
ช่วงเวลา -ทุกวันยกเว้นอังคาร 22.30-23.00 น
อัตราโฆษณา นาทีละ 260,000 บาท
ประเด็นเด็ด 7 สี
ผู้ผลิต มีเดีย ออฟ มีเดียส์
จุดเด่น
-พิธีกร “นรากร ติยายน”
-ทีมข่าวเดิมของไอทีวี
-วิดีโอวอลความละเอียดสูง ลงทุน 130 ล้านบาท
เนื้อหาที่เน้น -สรุปข่าวเด่น พร้อมวิเคราะห์ เจาะลึก
ช่วงเวลา -จันทร์-ศุกร์ ยกเว้นอังคาร 22.30-23.00 น.
อัตราโฆษณา นาทีละ 300,000 บาท