เปิดประมูลคลื่นฯ 1800 MHZ มาครบ 3 ค่ายใหญ่ รับไป 5 ซอง

กำลังเป็นที่จับตามองสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHZ ล่าสุด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดให้ผู้สนใจเข้ารับเอกสารการประมูลตั้งแต่ 15 พ.ค. 61 ถึง 14 มิ.ย. 61 

ปรากฏว่า วันนี้ ซึ่งเป็นวันแรก ผู้ให้บริการมือถือทั้ง 3 รายได้เข้ารับเอกสารการประมูลคลื่นความถี่ฯ โดยกลุ่มบริษัท AIS รับเอกสารไป 2 ชุด ในนามบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN)

กลุ่มบริษัท DTAC รับเอกสารไป 2 ชุด ในนามบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และบริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด (DBB)

ส่วนกลุ่มบริษัท TRUE รับเอกสารไป 1 ชุด ในนามบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC)

ขั้นตอนประมูลต่อจากนี้

  • กำหนดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 15 มิ.ย. 2561
  • ขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก ระหว่างวันที่ 16-28 มิ.ย. 2561
  • ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูลภายในวันที่ 29 มิ.ย. 2561
  • วันที่ 1-3 ส.ค. 2561 จะทำการจัดชี้แจงการประมูล (Information Session) และการทดสอบการประมูล (Mock Auction) สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล

กำหนดจัดการประมูลในวันที่ 4 ส.ค. 2561 ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถจัดการประมูลคลื่นความถี่ได้ทันก่อนที่สัญญาสัมปทานระหว่าง DTAC กับ CAT จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย. 2561

ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท

สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่จะนำมาประมูลครั้งนี้ มีจำนวนทั้งหมด 45 MHZ โดยกำหนดขนาดคลื่นความถี่ที่จะประมูลออกเป็น 3 ชุดๆ ละ 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต

มีการจำกัดเพดานการถือครองคลื่นที่ 40% ของขนาดคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล โดยกำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลไว้ที่ 37,457 ล้านบาท และกำหนดหลักประกันการประมูล เท่ากับ 1,880 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งก่อน

โดยใช้สูตร N-1 ใบอนุญาตมีระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี ราคาที่เพิ่มต่อการเคาะในแต่ละครั้ง 75 ล้านบาท

ทิ้งประมูล ปรับ 7.5 พันล้าน ตัดสิทธิ์ JAS

กรณีที่จะมีการทิ้งการประมูล สำนักงาน กสทช.จะยึดหลักประกันการประมูล 1,880 ล้านบาท และการคิดค่าปรับอีก 5,620 ล้านบาท เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,500 ล้านบาท อีกทั้งยังตัดสิทธิ์ JAS ไม่ให้เข้าร่วมการประมูล ครั้งนี้ด้วย

ทรูขอศึกษา ยันคลื่นในมือมากพอ

ทรูมูฟ เอช ระบุว่า มาเข้ารับเอกสารเพราะเป็นบทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ควรจะต้องเข้ามารับทราบเงื่อนไขการประมูล เพื่อที่จะไม่เสียโอกาส แต่จะกลับไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง โดยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอกมาทำการศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการลงทุน

ปริมาณคลื่นความถี่ที่ทรูมูฟ เอช มีอยู่ในปัจจุบัน มีแบนด์วิธที่มากถึง 55 MHz นั้น มากพอต่อการรองรับการใช้งานของลูกค้าซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 27 ล้านราย และเมื่อประเมินเปรียบเทียบอัตราการใช้งานดาต้าของลูกค้ากับแบนด์วิธที่มี ก็ยังเพียงพอที่จะรองรับการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ต่อไปในอนาคต ถึงแม้จะมีจำนวนลูกค้าเพิ่มอีกเท่าตัวก็ตาม

สำหรับประเด็นเรื่องกติกาและราคาตั้งต้นคลื่น 1800 MHz ที่ กสทช.ได้กำหนดจากราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งที่ผ่านมา นับเป็นราคาเริ่มต้นที่สมเหตุสมผลและทำให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม

ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลของปริมาณคลื่นที่ปัจจุบันทรูมูฟ เอช มีอยู่มากพอที่จะรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทีมผู้บริหารจึงเห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีคลื่นความถี่เพิ่มเติมในขณะนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณาตัดสินใจเข้าร่วมประมูลจะขึ้นอยู่กับผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาและมติของคณะกรรมการบริษัทที่จะมีขึ้นต่อไป.