2 ปี LINE TODAY คอนเทนต์ที่ว่ามากแต่ก็ยังไม่พอ

เพียงแค่คลิกไปปุ่มที่ 4 ในแอปพลิชั่นไลน์ ทุกคนก็สามารถเข้าถึงไลน์ทูเดย์ (LINE TODAY)

ไลน์ทูเดย์เป็นช่องทางที่รวบรวมคอนเทนต์และเรื่องราวเกี่ยวกับข่าวสารและไลฟ์สไตล์ไว้ด้วยการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ทั้งหมด 120 เจ้า รวมทั้งโพสิชันนิ่งแมกกาซีนออนไลน์ก็เป็นหนึ่งในคอนเทนต์ด้านธุรกิจของไลน์ทูเดย์ ในการผลิตคอนเทนต์กว่า 95% และมีทีมงานของไลน์ทูเดย์ในการครีเอทีฟคอนเทนต์อีก 5% ของคอนเทนต์ในไลน์ทูเดย์ทั้งหมด

ความร่วมมือนี้ทำให้ไลน์ทูเดย์เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยสถิติต่อไปนี้

  • เพียง 2 ปี ที่เปิดให้บริการ มียูสเซอร์เข้าชมไลน์ทูเดย์ 32 ล้านยูสเซอร์จากผู้ใช้ไลน์ทั้งหมด 42 ล้านคน (คนใช้อินเทอร์เน็ตในไทย 45 ล้านคน)
  • 1 คนดูคอนเทนต์ประมาณ 38 ครั้งต่อเดือน หรือคิดเป็น 76% ของยูสเซอร์ทั้งหมดที่เข้าดูคอนเทนต์ในแต่ละวัน
  • ไลน์ทูเดย์ครองพื้นที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยรวมถึง 71% ของอินเทอร์เน็ตทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องโฆษณาแต่อาศัยการขับเคลื่อนด้วยตัวเอง
  • แต่สามารถทำให้คนสนใจชมโฆษณาถึง 50%
  • โดยโฆษณาเป็นรายได้หลักที่ทำเงินให้กับไลน์ทูเดย์ และเป็นรายได้ที่ไลน์แบ่งให้กับพาร์ตเนอร์ตามผลงานด้วย

ความหลากหลายของพาร์ตเนอร์เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนไลน์ทูเดย์มาตลอด 2 ปี แต่เท่านั้นไม่พอ เพราะกวิน ตั้งอุทัยศักดิ์ ผู้อำนวยการธุรกิจคอนเทนต์ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า

“พาร์ตเนอร์เยอะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ แต่คุณภาพและการดึงดูดผู้คนให้กลับมาสนใจข่าวสารมากขึ้นต่างหากเป็นสิ่งที่ไลน์ทูเดย์อยากทำ”

ที่ผ่านมาเม็ดเงินโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงมากกว่า 50% จาก 25,000 ล้านบาทเมื่อ 2 ปีก่อน ตอนนี้เหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท โฆษณาลดแต่ผู้ผู้บริโภคยังมีคอนเทนต์ให้เลือกมากมาย แต่ไม่รู้อะไรดีไม่ดี และผู้บริโภคไม่สามารถเข้าไปทุกแหล่งคอนเทนต์ได้

“อินเทอร์เน็ตเผยแพร่ถึง 45 ล้านคน แต่มีหลายคนยังไม่รู้ว่า URL คืออะไร เสิร์ชไม่เป็น ใช้เป็นแค่ไลน์กับเฟซบุ๊ก คนรุ่นใหม่เองก็ยินดีจะอ่านคอนเทนต์ที่เพื่อนแชร์มากกว่าเข้าไปหาอะไรอ่านเองในออฟฟิศเชียลคอนเทนต์ ส่งผลให้หลายคนเลิกอ่านข่าว คนไม่อ่านอยู่ก็ยิ่งไม่อ่าน”

ปัญหาที่เห็นนี้เอง คือสิ่งที่ไลน์ทูเดย์เริ่มต้นให้บริการด้วยการรวบรวมข่าวคอนเทนต์จากพันธมิตรต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเพื่อคัดคอนเทนต์ที่น่าเชื่อถือให้คนเข้ามาอ่านได้ เพื่อแก้ปัญหาการอ่านคอนเทนต์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

คอนเทนต์จาก 120 พาร์ตเนอร์ มีมากเพื่อความครอบคลุม

ไลน์จับมือกับพาร์ตเนอร์ถึง 120 รายมารวมในแพลตฟอร์มเดียว โดยเน้นความครอบคลุมทั้งคอนเทนต์จากสำนักข่าวออนไลน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร คอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ ข่าวบันเทิง ไอที แฟชั่น และความงาม อาทิ Positioning, กรุงเทพธุรกิจ, Daradaily, Cleo, A day และ ข่าวสดเป็นต้น

ผลตอบรับจากบรรดายูเซอร์ ที่ผ่านมา ตอบรับทั้งต่อข่าวทั่วไป, ข่าวบันเทิง, ดูดวง, กีฬา และไลฟ์สไตล์ ตามลำดับ

แต่ไลน์ทูเดย์ยังเพิ่มการพัฒนาคอนเทนต์วิดีโอ นำคนมาเล่าข่าวผ่านรายการ Headline Today เพื่อย่อยข่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วยการไลฟ์สดผ่านไลน์ทูเดย์ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ หนึ่งทุ่ม ประมาณ 1 ชั่งโมง และเพื่อไม่ให้ทับทางกับ LINE TV คอนเทนต์วิดีโอจะเน้นผลิตให้สั้นกว่า แล้วหลังจากไลฟ์จะมีรีรันให้ดูใน LINE TV อีกครั้ง

ด้านคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ จัดทำรายการ เลือกได้เลือกดี ดำเนินรายการโดยจ๋า ณัฐฐาวีรนุช ซึ่งมีความยาวประมาณ 5-6 นาที เป็น 2 รายการที่เริ่มให้บริการในไลน์ทูเดย์แล้ว และที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุดคือรายการ อาม่าแอนด์เดอะแก๊ง ข่าวเด็กเด็กตอบ อีกทั้งจะทยอยมีรายการอื่นตามมา เช่นทอมก้องร้องทุกข์ ฯลฯ

ดูจากประเภทรายการของแต่ละรายการ ไลน์ทูเดย์วันนี้ แทบจะไม่ต่างจากสถานีโทรทัศน์ที่เปลี่ยนมารันอยู่บนแพลตฟอร์มบนมือถือดี ๆ นี่เอง

กระบวนการควบคุมคุณภาพคอนเทนต์ของไลน์ทูเดย์

ชรัตน์ เพ็ชร์ธงไชย หัวหน้าธุรกิจ ไลน์ ทูเดย์ ของ ไลน์ ประเทศไทย เผยถึงการใช้กลยุทธ์ด้านเนื้อหาทั้งส่วนที่นำมาจากพันธมิตรและส่วนที่คิดขึ้นเองว่า มีกระบวนการทำงานก่อนถึงผู้อ่านดังนี้

ส่วนแรก-ส่วนของคอนเทนต์ที่ร่วมกับพันธมิตร ไลน์ทูเดย์จะใช้ทีมงานกว่า 14 คนทำหน้าที่คัดกรองข่าวที่พันธมิตรส่งมาซึ่งไม่มีการจำกัดจำนวน แต่ทีมงานจะคัดข่าวเพื่อนำมาลงในไลน์ทูเดย์ประมาณ 600-700 ข่าวต่อวัน พาร์ตเนอร์จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากโฆษณา และได้ประโยชน์จากการเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะมีลิงก์ เพจของพาร์ตเนอร์ได้จากข่าวในแต่ละข่าว รวมทั้งทำการโฆษณาในหน้าเพจตัวเองเพิ่มเติมได้

ไลน์ทูเดย์ มีส่วนช่วยให้หน้าเพจของพาร์ตเนอร์เติบโตขึ้น 8-10% ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ส่วนที่สอง-ส่วนของคอนเทนต์ที่ไลน์พัฒนาเอง ซึ่งมีเพียงแค่ 5% ทีมงานของไลน์จะเน้นพัฒนาคอนเทนต์ในส่วนที่พันธมิตรยังไม่เคยทำ

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ส่วนซึ่งไลน์ต้องใช้เงินลงทุนในการดำเนินงาน แม้จะทำให้ผู้ใช้ไลน์หันมาอ่านข่าวมาขึ้นตามเป้าหมาย แต่ก็ยังไม่ไม่กำไรจากการลงทุนทั้งสองส่วนนี้

“แต่เราพอใจที่วันนี้ ไลน์ทูเดย์เป็นฮับของข่าวและไลฟ์สไตล์ที่มีการอัพเดตอย่างน้อยทุก ๆ 1 ชั่วโมง อีกทั้งมีการลงข่าวรวดเร็วจากการทำงานของทั้งพาร์ตเนอร์และทีมงาน” ชรัตน์ กล่าว พร้อมกับพูดถึงเป้าหมายในปีนี้ว่า

ไลน์ทูเดย์จะทำโฆษณากระตุ้นทั้งแบบออนไลน์ เช่น ป้ายโฆษณาตามรถไฟฟ้า BTS ฯลฯ และออนไลน์ เช่น การทำวิดีโอโฆษณาตามเว็บดังอย่าง Youtube เพื่อการเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายว่าอยากให้ผู้ใช้ไลน์ทั้งหมดเข้าใช้บริการไลน์ทูเดย์ทั้ง 100%.