Thailand Only! รถใต้ดินเดี้ยงซ้ำรอย BTS คลื่นกวนคือปมลึก

เป็นปัญหาซ้ำรอยกันอีกแล้ว สำหรับรถไฟฟ้าเมืองไทย ล่าสุด เช้าวันพุธที่ 27 มิถุนายน 2561 รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เกิดขัดข้องที่สถานีเตาปูน จุดเชื่อมต่อสายสีม่วง ซึ่งทาง MRT ประกาศแจ้งให้ผู้โดยสารย้ายไปที่ชานชาลา 2 แทน

ภาพจาก https://twitter.com/fm91trafficpro
ภาพจาก https://twitter.com/fm91trafficpro

ทำให้มีปริมาณผู้โดยสารสะสมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้โดยสารที่เดินทางมากับรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายบางใหญ่บางซื่อ ที่ทยอยเข้ามาสมทบในชานชาลา บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยความเคร่งเครียดและอึดอัด เพราะผู้โดยสารล้นมาถึงบันไดทางขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาไม่ต่างกับบีทีเอสในช่วง 2 วันที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันรถไฟฟ้า BTS ทั้งสายสุขุมวิทและสีลม ออกประกาศว่า ให้ผู้โดยสารเผื่อเวลาเดินทางมากขึ้น เพราะเช้าวันนี้ก็เกิดปัญหาล่าช้าอีก เนื่องจากระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง ต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าจะถึงแต่สถานีตามเป้าหมายไทม์ไลน์ จาก 1-2 นาทีอาจนานถึง 30 นาทีขึ้นไป 

คีย์หลักของปัญหาที่เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้า BTS มาจากคลื่นความถี่ 2400 MHz มาใช้กับระบบอาณัติสัญญาณในการควบคุมรถไฟฟ้า

เนื่องจากคลื่นย่าน 2400 MHz นี้เป็นคลื่นสาธารณะ จึงมีผู้นำใช้งานจำนวนมาก ทั้งบริการ WIFI, Blutooth และ Microwave Link

ทำให้ความเสี่ยงในการถูกรบกวนสูง ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับระบบควบคุมระบบอาณัติสัญญาณในการควบคุมขบวนรถไฟฟ้า เพราะถ้ามีการใช้งานคลื่นกันมากๆ จะเกิดปัญหาได้ ซึ่ง BTS เองก็รู้ข้อจำกัดเหล่านี้ตั้งแต่แรก

แต่เนื่องจากช่วงแรกการใช้คลื่นยังไม่มีมาก จึงไม่ได้มีการเตรียมป้องกันการกวนของคลื่นไว้ จนมาช่วงหลังการใช้งานอินเทอร์เน็ต ไวไฟ มากขึ้น เริ่มส่งผลต่อระบบอาณัติสัญญาณในการควบคุมขบวนรถไฟฟ้าบ่อยขึ้นเป็นระยะ ตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้ แต่ไม่เสียถี่ทั้งวันเหมือนกับช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการคลื่นความถี่เพิ่มสูงขึ้น

โดยดีแทค ได้รับอนุมัติคลื่น 2300 MHz จากทีโอที มาใช้ขยายโครงการ เพื่อทดแทนคลื่น 1800 MHz ที่กำลังจะหมดลง

คุณสมบัติของคลื่นย่านนี้ เป็นคลื่นสั้น มีประสิทธิภาพเรื่องการทะลุทะลวงของสัญญาณสูง เหมาะกับใช้ในเมือง ดีแทคเองได้เร่งขยายการลงทุนเครือข่ายบนคลื่นย่าน 2300 MHz อย่างหนัก จึงทำให้มีกระแสข่าวว่า เป็นเพราะคลื่นความถี่ 2300 MHz ของดีแทค ที่มารบกวนคลื่นของบีทีเอส

ดีแทค จึงได้ทดลองปิดการปล่อยสัญญาณบนคลื่น 2300 MHz จำนวนกว่า 20 สถานีฐานตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า BTS (เช้าเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.) แต่ระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าบีทีเอสก็ยังขัดข้องอยู่เหมือนเดิม

จากการตรวจสอบของ กสทช. ได้สรุปว่า มีความแรงคลื่นกวนกัน  แต่เป็นหน้าที่ของ BTS ต้องไปแก้ปัญหา เพราะคลื่น 2400 MHz เป็นคลื่นสาธารณะจึงไม่ได้รับการคุ้มครอง ผู้ใช้คลื่นต้องรับผิดชอบเอง หากมีปัญหาคลื่นกวนเกิดขึ้น

ในขณะที่คลื่น 2300 MHz ของดีแทค และทีโอที ได้รับอนุญาตใช้งานขยายเครือข่ายถูกต้อง จึงไม่ใช่ปัญหาที่ดีแทคต้องแก้ไข

BTS เลือกแก้ปัญหา หลีกเลี่ยงช่วงคลื่นที่มีการใช้หนาแน่น จากเดิมที่ช่วงคลื่น 2370 MHz ซึ่งใกล้กับช่วงคลื่นดีแทค 2310-2370 MHz ทำให้ BTS จึงขยับไปใช้คลื่น 2400 MHz ช่วงปลาย ให้ห่างจากคลื่น 2300 MHz ที่ดีแทคใช้งานอยู่ให้มากขึ้น

โดย BTS ได้ออกมาระบุว่า ได้มีการแก้ปรับเปลี่ยนระบบวิทยุที่ใช้กับระบบอาณัติสัญญาณในการควบคุมขบวนรถไฟฟ้า เพื่อให้มีความเสถียรมากขึ้น โดยคาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จในวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายนนี้

แต่ปัญหาดังกล่าว ถือว่าเป็นการแก้แบบเฉพาะหน้าเท่านั้น และไม่ได้รองรับกับการใช้งานในระยะยาว เพราะนับวันการใช้คลื่นก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น  จึงไม่สามารถการันตีได้ว่าช่วงคลื่นที่ย้ายมาจะไม่เจอปัญหาแบบเดียวกัน

งานนนี้นอกจาก BTS ต้องติดตั้งระบบป้องกันการกวนสัญญาณเพิ่มขึ้นแล้ว กสทช.มองว่า BTS รวมถึง MRT ซึ่งใช้คลื่นความถี่ 2400 MHz ควรต้องเปลี่ยนมาใช้คลื่นในย่านคลื่นที่กันไว้ให้สำหรับบริการรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ เช่น คลื่น 800 MHz สำหรับการส่งสัญญาณรถไฟฟ้าความเร็วสูงไว้แล้ว

รวมถึง การลงทุนวางสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ตามแนวรถไฟฟ้าทั้งหมด เพื่อเป็นระบบสำรองในระบบอาณัติสัญญาณในการควบคุมรถไฟฟ้า กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคลื่นไร้สาย เพื่อให้ระบบมีความเสถียรมากที่สุด

ต้องวัดใจ BTS ว่าจะยอมควักเงินลงทุน เปลี่ยนอุปกรณ์ไปใช้ย่านคลื่นใหม่ทั้งหมด เพื่อรองรับกับการให้บริการในระยะยาว เพื่อผู้โดยสารไม่ต้องเผชิญกับปัญหาต้องรอลุ้นทุกวันว่าวันนี้รถไฟฟ้าจะเสียอีกหรือไม่ เหมือนกับทุกวันนี้.


อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง