LINE MAN ร่วมวง ศึกส่งพัสดุ จับมือ “นินจา แวน” เจาะพ่อค้า/แม่ค้าออนไลน์

หลังจากให้บริการมาได้ 2 ปี ทำอัตราเติบโตเกือบ 500%  ไลน์แมน (LINE MAN) จึงต้องใส่เกียร์ เดินตามสเต็ปของการเป็นแพลตฟอร์ม เชื่อมออนไลน์กับออฟไลน์ (O2O) โดยนำข้อมูลของผู้ใช้แอปพลิเคชั่นแชตของไลน์กว่า 42 ล้านคน เชื่อมโยงไปสู่ธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่ธุรกิจร้านอาหาร คนขับแท็กซี่ ร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ 

หนึ่งในกลยุทธ์ของไลน์แมนที่ช่วยในการขยายได้เร็วขึ้น คือการจับมือพันธมิตรในด้านต่างๆ

นายธารวิทย์ ดิษยวงศ์ (ผู้จัดการบริการ LINE MAN (ส่งพัสดุ), LINE ประเทศไทย และนายวีรชัย ชูสกุลพร (กรรมการผู้จัดการบริษัท นินจา แวน จำกัด)

ล่าสุด ไลน์แมน ประกาศร่วมมือกับนินจา แวนเพื่อขยายขอบเขตของบริการให้ครอบคลุมความต้องการของพ่อค้า/แม่ค้าออนไลน์มากขึ้น รับกับตลาดซื้อขายออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซที่เติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้วยการรับส่งของหนัก ของใหญ่ เข้ารับได้แม้วันอาทิตย์ และส่งถึงวันถัดไป

นินจา แวน เป็นสตาร์ทอัพให้บริการลอจิสติกส์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดตัวที่สิงคโปร์ ตั้งแต่ปี 2557 โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการระบบการขนส่ง ปัจจุบันมีเครือข่ายการขนส่งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ประเทศไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

การร่วมมือกันในครั้งนี้ ถือเป็นการ “ปลดล็อก” ข้อจำกัดเดิมที่บริการส่งพัสดุผ่าน LINE MAN เคยมี ด้วยการขยายบริการเป็นดังนี้

  1. ส่งพัสดุหนักสูงสุดถึง 15 กก. (จากเดิม 3 กก.)
  2. สามารถส่งพัสดุขนาดใหญ่ได้สูงสุดถึง 130 ซม. (จากเดิม 72 ซม.)
  3. เข้ารับได้ทุกวัน แม้แต่วันอาทิตย์ (เวลา 10.00 น. – 22.00 น.)
  4. ส่งถึงวันถัดไป ใน กทม. และปริมณฑล

เพื่อกระตุ้นให้เกิดการทดลอใช้บริการ LINE MAN จัดโปรโมชั่นพิเศษให้สำหรับพ่อค้า/แม่ค้าออนไลน์โดยเฉพาะ รับโค้ดส่วน 100 บาท [LMNINJA100] สำหรับส่งพัสดุขนาดสูงสุด 15กก. ผ่าน LINE MAN และโค้ดส่วนลดอีก 100 บาท [SUNDAY100] เมื่อเรียกใช้บริการ LINE MAN มารับพัสดุในวันอาทิตย์

* สามารถใช้โค้ดส่วนลดได้ 100 บาท / 1 ออเดอร์ โดยใช้ได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2561

สำหรับธุรกิจรับส่งพัสดุในไทย มีการประเมินว่ามีมูลค่าตลาดประมาณ 30,000 ล้านบาท มีผู้เล่นใหญ่ทั้งรายเก่าและรายใหม่ ทั้งของไทยและบริษัทข้ามชาติ อย่าง ไปรษณีย์ไทย ที่ปรับตัวอย่างหนักเพื่อรับมือกับการแข่งขัน เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ที่เร็วๆ นี้ได้ขายหุ้นบางส่วนให้กับ BTS เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการเพิ่มขึ้น , เอสซีจี ลอจิสติกส์ , DHL, ลาล่ามูฟ ทำให้ดีกรีการแข่งขันธุรกิจนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยหลักๆ แล้ว จะแข่งกันที่ความเร็วในการจัดส่งภายในวันเดียว.