CRG กางพอร์ตร้านอาหาร ปั้น “ฟู้ดเฮฟเว่น” รวมแบรนด์สร้างพื้นที่ขายใหม่ เตรียมเปิดแบรนด์ใหม่ในปั๊มน้ำมัน 

ธุรกิจอาหาร ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยม ทำรายได้ต่อเนื่อง ไม่โดน Disrupt เหมือนธุรกิจอื่นๆ เพราะไม่ว่ายังไงคนก็ต้องกิน ทำให้มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แถมเป็นระดับบิ๊กคอมปะนี ขอร่วมวงชิงเค้กก้อนโตต่อเนื่อง 

ธุรกิจ ร้านอาหาร มูลค่าตลาด 400,000 ล้านบาท เฉพาะ ฟู้ดเชน มูลค่าตลาดรวม 140,000 ล้านบาท   

เมื่อผู้เล่นมากมาย ถือเป็นความท้าทายของ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG ในเครือเซ็นทรัล ถือเป็นฟู้ดเชนที่อยู่ในธุรกิจนี้มาถึง 40 ปี มุ่งเน้นเป็นผู้รับสิทธิ์ (Franchisee) ครอบคลุมแบรนด์ร้านอาหาร 100 รวม 914 สาขา  

ทำให้ CRG1 จึงต้องเร่งขยายพอร์ตธุรกิจร้านอาหาร ด้วยปั้นโมเดลใหม่ ภายใต้แบรนด์ฟู้ดเฮฟเว่นซึ่งนำร้านอาหารในเครืออย่างน้อย 3 แบรนด์ มาเปิดรวมกันในที่เดียว เพื่อเป็นการสร้างแบรนด์ และเป็นการลดต้นทุนไปในตัวด้วยอย่างน้อย 30-40%

เพราะแทนที่ทั้ง 3 แบรนด์ต่างแยกลงทุน 3 แบรนด์ก็ต้องเปิด 3 แห่ง ทำเลก็หาไม่ง่าย เมื่อรวมกันเปิด ก็เหมือนกับลงทุนเพียงสาขาเดียว ลดจำนวนพนักงาน ลดการจัดการลง โดยตั้งเป้าหมายในปี 2561 นี้จะเปิดให้ได้ 3 สาขา เน้นเปิดตามศูนย์การค้า

ร้านฟู้ดเฮฟเว่น สาขาแรก เปิดที่ เทสโก้ โลตัส บางใหญ่ ด้วยงบลงทุนรวม 13 ล้านบาท โดยเลือกแบรนด์เปปเปอร์ ลันช์, โยชิโนยะ และคัตสึยะ ใช้พื้นที่ประมาณ 300 ตารางเมตร ประมาณการยอดขายอยู่ที่ 2 ล้านบาทต่อเดือน

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG ตั้งเป้าหมายจากนี้จะเปิดเพิ่มอีกอย่างน้อย 2-3 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น ซีคอนสแควร์ และเมกา บางนา

ปัจจุบันซีอาร์จีมีร้านอาหารในเครือรวม 11 แบรนด์ คือ มิสเตอร์ โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์, ชาบูตง ราเมน, ไอศกรีม โคลด์ สโตน ครีมเมอรี่, ร้านอาหารไทยเดอะเทอเรส, ข้าวหน้าญี่ปุ่น โยชิโนยะ, โอโตยะ, ข้าวหน้าเทมปุระเทนยะ และคัตสึยะ หมูเกล็ดขนมปังทอด รวม 914 สาขา ที่สามารถนำมาจับคู่แบรนด์เหล่านี้ไปเปิดเป็นร้านฟู้ดเฮฟเว่นตามความเหมาะสมแต่ละทำเล

นอกจากปั้นแบรนด์ ฟู้ดเฮฟเว่น เพื่อเป็น ฟู้ดคอร์ท ขนาดย่อมของตัวเองแล้วซีอาร์จียังเตรียมเปิดร้านอาหารแบรนด์ใหม่เพิ่มอีกด้วยตามแผนการสร้างรายได้ จะมีทั้งพัฒนาแบรนด์ขึ้นมาเอง การซื้อแบรนด์ที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งการร่วมทุนกับเจ้าของแบรนด์เดิม

แบรนด์ใหม่ที่มานั้น จะมาพร้อมกับการขยายช่องทางใหม่ ในปั๊มน้ำมันซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมการ เพื่อผลักดันให้ยอดขายรวมปีนี้อยู่ที่ 12,000 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่ทำได้ประมาณ 11,000 ล้านบาท

ในช่วงครึ่งปีหลัง ซีอาร์จี จะเร่งเครือข่ายร้านอาหารในเครือเพิ่มต่อเนื่อง ทุกแบรนด์รวมกว่า 70 สาขา โดยเน้นไปที่แบรนด์ที่ทำรายได้หลัก เช่น เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, คัตสึยะ และมิสเตอร์ โดนัท เป็นต้น

ส่วนช่องทาง ดีลิเวอรี จะหันมาวิธีจับมือกับผู้ให้บริการดีลิเวอรีรายใหญ่ (Prefer Partner & Applicator) เช่น LineMan, FoodPanda, Now, Honestbee และ GrabFood พัฒนาระบบดีลิเวอรีให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารจากแบรนด์ต่างๆ ในเครือได้หลายแบรนด์ในการสั่ง 1 ครั้ง จะเปิดให้ในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ โดยจะเริ่มทดลองเปิดให้บริการในทำเลศักยภาพ (Potential Area) ที่เป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจ.