กึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ ควักเงินซื้อ “11STREET” แล้ว เตรียมเปลี่ยนชื่อ ปรับแนวทางใหม่ ไม่แข่งรายใหญ่ เน้น ”นิช”

ถือเป็นตลาดปราบเซียนไปแล้ว สำหรับตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ของไทย ต้องมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง หลังจาก อีเลฟเว่นสตรีท (11 Street) แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ ของ เอสเค แพลเน็ต (SK Planet)  เกาหลีใต้ เข้ามาทำตลาดไทยเพียงแค่ปีกว่าๆ เวลานี้ได้ขายกิจการไปให้นักธุรกิจชื่อดังของไทย

กึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ระบุว่า เขาเป็นผู้มาซื้อกิจการอีเลฟเว่นสตรีท โดยใช้เงินส่วนตัวลงทุน ไม่เกี่ยวกับ TTA แต่ไม่ได้บอกมูลค่าการซื้อขาย ดีลได้สิ้นสุดลงแล้ว เหลือแต่การถ่ายโอนกิจการ

เฉลิมชัย บอกว่า การที่เขาสนใจซื้อเพราะไลฟ์สไตล์ยุคใหม่เวลานี้ใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยี ทั้งสื่อสาร ดูทีวี ทำธุรกรรมการเงิน ในแง่ธุรกิจจึงต้องปรับตัวให้ทันกับโลก มองหาการต่อยอด เชื่อมโยงระหว่างธุรกิจแบบดั้งเดิมที่เป็น Traditional Trade ไปสู่ธุรกิจด้าน T หรือเทคโนโลยีที่มีบทบาทอย่างมากในการต่อยอดไปสู่อนาคต

นอกจากนี้ ส่วนตัวของเขาและครอบครัว ก็สนิทสนมกับทางเอสเค แพลเน็ต เกาหลีใต้ เจ้าของอีเลฟเว่นสตรีท จึงทำให้การเจรจาเป็นไปด้วยดี และหากจำกันได้ พรีเซ็นเตอร์ในช่วงเปิดตัว อีเลฟเว่นสตรีท ก็คือ ซุปตาร์เกาหลีซงจุงกิประกบกับมิว นิษฐา

ซงจุงกินั้นสนิทสนมกับเฉลิมชัยเป็นอย่างดี เพราะโฟร์วันวันบริษัทส่วนตัวทำด้านบันเทิงก็เป็นผู้จัดแฟนมีท ซงจุงกิเป็นรายแรกตั้งแต่ยังไม่ดังเป็นพลุแตก จนเป็นสัญญาใจที่จะร่วมงานกันตลอดไป จึงทำให้ซงจุงกิไม่เปลี่ยนใจย้ายไปจัดกับค่ายอื่นเลยแม้จะให้ค่าตัวเพิ่มหลายเท่าก็ตาม

เฉลิมชัย บอกว่า หลังจากซื้อกิจการมาแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงชื่อแบรนด์ใหม่ พร้อมกับปรับกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ ไม่เน้นแข่งขันกับรายใหญ่ที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว แต่จะมองหาช่องว่างตลาด เน้นลูกค้าเฉพาะกลุ่มเป็นหลัก

สิ่งแรกเลยที่เราได้มา คือ ดาต้า ฐานลูกค้าของเขา ซึ่งมีอยู่เป็นล้านราย มีระบบหลังบ้าน ตรงนี้เป็นประโยชน์มาก สามารถต่อยอดไปได้อีกมากในการทำธุรกิจ สร้งการเรียนรู้ให้เรา โดยไม่ต้องเริ่มต้นธุรกิจด้วยการนับหนึ่งใหม่

นอกจากช้อปปิ้งออนไลน์แล้ว ส่วนตัวเขายังสนใจธุรกิจเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่จะเป็นสเต็ปต่อจากอินเทอร์เน็ต เป็นเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต เช่น AI, บล็อกเชน ควอนตัม โดยจะร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ รวมถึงการลงทุนกับสตาร์ทอัพ ซึ่งเขาสนใจมานาน และอยู่ระหว่างการตั้ง VC (Venture Capital) มาต่อยอดเรื่องของเทคโนโลยี

สำหรับอีเลฟเว่นสตรีทนั้นเป็นที่จับตามาพักใหญ่ หลังจากใช้เงินทุนก้อนใหญ่ถึง 1,000 ล้านบาทในการลงทุน เฉพาะแค่ช่วงเปิดตัวสร้างกระแสแรง ด้วยการทุ่มงบกว่า 300 ล้านบาท ดึงซุปตาร์จากเกาหลีซงจุงกิประกบนักแสดงสาว มิวนิษฐา จิรยั่งยืนด้วยการโปรโมตผ่านรถไฟฟ้า BTS โดยการแปลงโฉมสถานีสยาม ชิดลม และพร้อมพงษ์ ให้เป็นธีมของอีเลฟเว่นสตรีท

แต่เปิดตัวลงทุนได้ปีกว่าๆ ก็เริ่มมีกระแสข่าวอีเลฟเว่นสตรีทอาจเตรียมถอนการลงทุนในไทย เพราะเอสเคแพลเน็ตได้ถอนตัวออกจากตลาดในประเทศอินโดนีเซียไปแล้ว อาจมีผลให้หยุดการลงทุนในประเทศอื่นๆ ด้วย

ผู้บริหาร จินวู คิม รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายวางแผนกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจต่างประเทศของเอสเค แพลเน็ต ยืนยันว่า การขายธุรกิจในอินโดนีเซียนั้นไม่มีผลใดๆ ต่อธุรกิจในประเทศไทยในระยะยาว ไทยตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง เอสเคแพลเน็ตยังเดินหน้าธุรกิจในต่างประเทศต่อเนื่อง แต่จะเลือกลงสนามในพื้นที่ที่มีโอกาสชนะเท่านั้น คือมาเลเซีย ตุรกีแล้ว และไทย

ขณะที่ผู้บริหาร อีเลฟเว่นสตรีท ประเทศไทย บอกตั้งแต่ช่วงปลายปีว่า อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจหลายราย และหาแนวทางธุรกิจที่เหมาะสมที่สุด เตรียมตัวเข้าสู่เฟสต่อไป

อีเลฟเว่นสตรีท เปิดตัวไม่เป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2559 ตั้งเป้ายอดขายช่วง 1 เดือนไว้ 200 ล้านบาท ช่วงแรก (มกราคม 2560) มีสมาชิกลงทะเบียนกว่า 150,000 ราย, มีผู้ค้ามากกว่า 9,000 ราย, มีสินค้ากว่า 3 ล้านชิ้น, มียอดขายกว่า 200 ล้านบาท, จำนวนการเข้าชมหน้าร้าน 14 ล้านครั้ง

ตัวเลขล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อีเลฟเว่นสตรีท ระบุว่า มีสินค้า 9 ล้านรายการ, มีจำนวนผู้ขายกว่า 23,000 ราย, โดยเฉลี่ยการซื้อสินค้า 390 บาท/ครั้ง, กลุ่มอายุเฉลี่ย 25-34 ปี เป็นกลุ่มที่เข้ามาเลือกช้อปสินค้าอุปโภคบริโภคมากที่สุด

ตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ของไทยเวลานี้ ต้องถือเป็นตลาดปราบเซียน ที่ถูกครองตลาดด้วยรายใหญ่ อย่าง ลาซาด้า แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ อาลีบาบา และช้อปปี้ (Shopee) จากสิงคโปร์ ที่มีเครือข่ายอยู่ 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย

นอกจากทั้ง 2 รายจัดหนัก จัดเต็มแข่งขันกันอย่างดุเดือดจนครองตลาดส่วนใหญ่เอาไว้แล้ว เซ็นทรัล เจดี ดอทคอม ก็เตรียมใส่เกียร์ลุยตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ของไทย จะยิ่งทำให้ตลาดนี้ดุเดือดเลือดพล่าน จนบรรดามาร์เก็ตเพลสสัญชาติไทยต้องล้มหายตายจาก หรือต้องหาผู้ถือหุ้น และโมเดลธุรกิจใหม่ๆ 

รวมทั้ง อีเลฟเว่นสตรีท ที่เมื่อลงทุนไประดับหนึ่งแล้วพบว่าการแข่งขันสูงมากจึงไม่ลงทุนต่อ เนื่องจากผู้ที่จะอยู่ได้ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ทั้งลาซาด้า และช้อปปี้เองก็ยังอยู่ในช่วงลงทุน สร้างฐานสมาชิก ยังไม่ได้กำไรกลับมา

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com ที่ได้กลุ่มทีซีซี ของ ฐาปน สิริวัฒนภักดี เข้ามาถือหุ้น ให้ความเห็นว่า การแข่งขันของ “อีคอมเมิร์ซ” ในไทยเวลานี้มี 3 ระดับ

ระดับแรก คือ Market Place มี 3 ราย คือ คือ Lazada, Shopee, JD CENTRAL ซึ่งมีการแข่งขันสูงมาก จัดเป็นการแข่งขันสำหรับนักลงทุนต่างประเทศที่มีทุนสูง ส่งผลให้ Market Place คนไทยตอนนี้หายไปหมดแล้ว

ระดับที่สอง คือ Social Media เช่น Instagram, Facebook เป็นช่องทางที่คนไทยขายเยอะ ส่วนมากเป็นผู้ค้ารายย่อย และมีจำนวนการเติบโตสูง

สาม คือ ห้างค้าปลีกที่เข้าสู่อีคอมเมิร์ซ เชน เซ็นทรัลหันไปร่วมมือกับ jd.com ส่วนรายอื่นๆ ก็เปิดช่องทาง e-commerce ของตัวเอง เช่น โฮมโปร โรบินสัน และจำนวนไม่น้อยก็ไปรวมอยู่ใน Market Place เพราะไม่ต้องยุ่งยากเรื่องการวางระบบและทำการตลาดเอง

สำหรับ Market Place รายใหญ่ๆ คงไม่มีแล้ว เพราะต้องลงทุนสูงมาก รายที่มีโอกาสเข้ามามากที่สุด คือ Amazon

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่จะอยู่ได้ ต้องประกอบไปด้วยเงินทุน เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการทำตลาด เพื่อให้คนรับรู้ กลยุทธ์การตลาด ที่ต้องมีบริกาครบวงจร ทำให้ลูกค้ามีความพอใจสูงสุด เข้าถึงลูกค้าให้มากที่สุด  จำนวนสินค้าและร้านค้ายิ่งมีเยอะยิ่งดี

ทางด้าน ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ให้มุมมองไม่ต่างกันว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซตอนนี้แข่งขันกันอย่างรุนแรงโดยเฉพาะ Market Place ที่ตอนนี้มีรายใหญ่ทั้งหมด 3 รายด้วยกันคือ Lazada Shopee และ JD CENTRAL

ช่วงแรกที่ Lazada เข้ามาทำตลาดได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องทำกำไรให้ได้ภายใน 3-5 ปี หลังจากนั้นก็มี Shopee มาเป็นคู่แข่งที่มาแข่งกันด้านราคา ทำให้ Lazada ต้องปรับกลยุทธ์ จากตอนแรกที่เก็บค่าคอมมิชชั่นจากผู้เช่าในราคาแพง ก็ปรับให้ไม่ต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ คู่แข่งรายใหม่อย่าง JD CENTRAL ก็เข้ามาแข่งขันอีก ทำให้ตลาดต้องเดินหน้าต่อ และแข่งกันแรงขึ้น บางรายก็ต้องขายกิจการไป

สำหรับผู้ที่จะอยู่รอดในตลาดได้นั้น ไม่ควรเน้นที่ส่วนลดอย่างเดียว แต่ต้องมีบริการที่ดีด้วย เพราะการแข่งที่ราคาไม่ทำให้ยั่งยืน เพราะดูจากลูกค้า Priceza ไม่ได้เลือกซื้อสินค้าจากร้านที่ขายถูกที่สุด แต่เลือกจาก 1. ความไว้ใจ 2. มีบริการที่ตอบโจทย์ เช่น ส่งสินค้าเร็ว ดังนั้นจึงต้องมีจุดเด่นเป็นของตัวเองที่ไม่ใช่แค่ลดราคา.