ปัญหาการไม่สามารถยุติการออกอากาศช่อง 3 แอนะล็อก ตามเงื่อนไขของ กสทช. (อ่านประกอบ : ช่อง 3 กระอัก! กสทช.สั่งยกเลิกออกอากาศคู่ขนาน มีผล 17 ก.ค.) กำลังเป็น “เงื่อนปม” ให้กับช่อง 3 อีกครั้ง
เมื่อนีลเส็น บริษัททำหน้าที่วัดเรตติ้ง กำลังเตรียมยกเลิกการเก็บเรตติ้งผู้ชมระบบแอนะล็อกทั้งหมด หลังจากเหลือเพียงช่อง 3 แอนะล็อกเพียงช่องเดียวที่ยังคงต้องออกอากาศต่อไปจนถึงปี 2563 ตามเงื่อนไขสัมปทานที่ทำไว้กับ อสมท
แหล่งข่าวในวงการทีวีดิจิทัล บอกว่า นีลเส็นได้แจ้งทีวีดิจิทัลว่า จะเลิกทำการเก็บข้อมูลคนดูทีวีที่รับชมผ่านระบบแอนะล็อกภายในวันที่ 16 กรกฏาคมนี้ ซึ่งเป็นวันที่ช่อง 9 และ NBT ปิดระบบแอนะล็อกอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะเหลือช่อง 3 เพียงช่องเดียวก็ตาม เนื่องจากฐานข้อมูลพบว่าตัวเลขคนดูแอนะล็อกเหลืออยู่น้อยมากแล้ว อีกทั้งเป็นนโยบายของบริษัทแม่ที่ต้องการปรับให้ระบบการวัดเรตติ้งในของทีวีดิจิทัลทั้งหมดเท่านั้น
ทั้งนี้มีการประมาณการกันว่า มีจำนวนคนดูแอนะล็อกในประเทศไทยอยู่ประมาณ 1 ล้านคน แต่เป็นกลุ่มผู้ชมของช่อง 3 ประมาณ 3 แสนคน เมื่อเทียบกับจำนวนกลุ่มตัวอย่างของนีลเส็นทั้งหมดประมาณ 2,500 ครัวเรือน ทั่วประเทศ มีกลุ่มผู้ชมผ่านระบบแอนะล็อกไม่ถึง 0.5% ของทั้งหมด เป็นเหตุผลทำให้นีลเส็นต้องปิดระบบการวัดแอนะล็อก
แต่การยกเลิกวัดผลระบบแอนะล็อก ยังเป็นจังหวะเดียวกับสัญญาการซื้อเรตติ้งระหว่างกลุ่มช่อง 3 และนีลเส็นสิ้นสุดลงพอดี ซึ่งนีลเส็นได้ขอขึ้นค่าจัดทำเรตติ้งเพิ่มขึ้น 10% ทำให้ช่อง 3 จึงยื่นเงื่อนไขว่า จะต่อสัญญากับนีลเส็น ก็ต่อเมื่อยังคงวัดเรตติ้งช่อง 3 แอนะล็อกต่อไป จนกว่าสัญญาสัมปทานของช่อง 3 แอนะล็อก กับ อสมท จะสิ้นสุดลงในปี 2563
นีลเส็นมองว่า เป็นไปได้ยากที่จะวัดผลต่อ เพราะฐานคนดูลดลงมาก จึงทำให้ทั้งคู่หาข้อยุติไม่ได้
รายงานข่าวเปิดเผยด้วยว่า ระหว่างที่สัญญายังไม่ได้ต่อ นีลเส็นจึงหยุดการส่งข้อมูลเรตติ้งให้กับกลุ่มช่อง 3 ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองจะมีการเจรจากันอีกครั้งในสัปดาห์หน้านี้ หากไม่สำเร็จ นีลเส็นก็จะหยุดการเผยแพร่เรตติ้งของกลุ่มช่อง 3 ทั้งหมดให้กับสมาชิกทุกรายต่อไป
ทางด้าน สินธุ์ เภตรารัตน์ กรรมการผู้จัดการธุรกิจมีเดียนีลเส็น ประเทศไทย เวียดนาม และพม่า กล่าวถึงกรณีนี้ว่า หลังจากทีวีดิจิทัลออกอากาศในปี 2559 คนดูทีวีแอนะล็อกก็ต้องลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงที่ต้องมีการโอนถ่ายคนดู จากระบบแอนะล็อกไปสู่ทีวีดิจิทัล ในต่างประเทศก็เป็นแบบเดียวกัน
สำหรับในไทย คนดูทีวีดิจิทัลผ่านกล่องทีวีดิทัล (DTT) และผ่านจานดาวเทียมเป็นหลัก เพราะแพลตฟอรมเหล่านี้ เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎ must carry ของ กสทช. ต้องนำช่องทีวีดิจิทัลมาออกอากาศ ทำให้การวัดผลจึงมุ่งไปที่คนดูเหล่านี้ ซึ่งเวลานี้ครอบคลุมคนดูเกิน 90% ในขณะที่ช่องแอนะล็อกไม่เข้าหลักเกณฑ์ must carry จึงดูไม่ได้ ยิ่งเมื่อเหลือเพียงช่อง 3 แอนะล็อกเพียงช่องเดียว จำนวนคนดูก็ยิ่งลดลงจนวัดผลไม่ได้
“ช่อง 3 มองว่า ถึงแม้จะเหลือช่อง 3 ที่ยังเป็นแอนะล็อกเพียงช่องเดียว ซึ่งมีฐานคนดูอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว การวัดผลจะต้องประเมินจากฐานคนดูของทุกช่อง ยิ่งฐานคนดูทีวีดิจิทัลและดูผ่านดาวเทียมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ก็ยิ่งไปถ่วงให้คนดูช่อง 3 แอนะล็อกลดลงจนแทบวัดผลไม่ได้”
จากผลสำรวจคนดูทั่วประเทศ ที่นีลเส็นได้จัดทำขึ้นเมื่อ 3-4 เดือนที่แล้ว ผลสำรวจพบว่า เหลือคนดูช่องแอะนาล็อกอยู่ประมาณแค่ 5% เพราะคนไปดูทีวีดิจทัลเพิ่มขึ้น เพราะมีความหลากหลาย โดยเฉพาะยิ่งในช่วงที่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ก็ยิ่งผลักดันให้ต้องขวนขวายดูช่องทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้น
นีลเส็นได้ชี้แจงให้ช่อง 3 ไปแล้วว่า แอนะล็อกน้อยลงทุกวันตามธรรมชาติ ไม่ใช่ว่า เหลือเพียงแค่ช่อง 3 แล้ว แต่ช่อง 3 เขาก็มีเหตุผล เพราะเขาไม่สามารถยุติแอนะล็อกได้
ดังนั้น นีลเส็นจึงได้สำรวจคนดูทั่วประเทศผ่านกลุ่มตัวอย่าง 10,000 ชุด เพื่อสำรวจภาพรวมพฤติกรรมการรับชมทีวีของคนไทยโดยละเอียด ครอบคลุมทั้งจำนวนประชากร จำนวนสมาชิกในครัวเรือน รูปแบบของการดูทีวี ดูผ่านทีวีปกติ หรือดูผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านอุปกรณ์อะไร โทรศัพท์มือถือ เครื่องพีซี หรือโน๊ตบุ๊ก ซึ่งจะใช้เวลา 6-8 สัปดาห์ จากนั้นจึงจะสรุปผลผลอีกทีว่าเหลือคนดูช่องแอนะล็อกอยู่มากน้อยแค่ไหน จะนำมาใช้ในการพิจารณาอีกครั้งว่า จะยุติระบบแอนาล็อกหรือไม่.
อ่านข่าวต่อเนื่อง
- ช่อง 3 กระอัก! กสทช.สั่งยกเลิกออกอากาศคู่ขนาน มีผล 17 ก.ค.
- จับตาช่อง 3 HD ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลัง กสทช.ให้ใช้ผังเดียวกับกับแอนะล็อกแต่ต้องแสดงสิทธิในการเป็นผู้บริหารช่องเอง แสดงรายได้แยกชัดเจน