สงครามราคาถล่ม “บุฟเฟ่ต์ชาบู” นับถอยหลัง 5 ปี ตายเรียบ ตามรอย “หมูกะทะ” เหลือแต่รายใหญ่
ตลาดบุฟเฟ่ต์ชาบู อาหารยอดฮิตมูลค่า 15,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการเกิดขึ้นมากหน้าหลายตาจนเกลื่อนเมือง ทั้งรายเล็กรายใหญ่จนตกอยู่ในสภาพของทะเลเลือด (Red Ocean) เนื่องจากการแข่งขันสูงมาก
ก่อนหน้านี้ Thoth Zocial ผู้ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์ นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจในธุรกิจอาหาร ปี 2560 พบว่า 5 อันดับแรกที่คนในโซเชียลมีเดียนิยมกินนั้น มี ชาบู เป็นอันดับแรก ตามมาด้วยพิซซ่า ปิ้งย่าง ซูชิ และแซลมอน
ณัฐพล กัปปิยจรรยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีโอ สุกี้ไทยเรสเทอรองส์ จำกัด ผู้บริหาร้านสุกี้นีโอ ประเมินภาพรวมธุรกิจร้านอาหารประเภทชาบู สุกี้ มีมูลค่าประมาณ 15,000 – 20,000 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 10% เหตุผลหลักมาจากเทรนด์สุขภาพที่ผู้บริโภคใส่ใจมากขึ้น และราคาที่มีผลต่อการตัดสินใจใช้บริการ
ในส่วนของราคานั้น การแข่งขันเรื่องราคาสูงมาก โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารที่เป็นบุฟเฟ่ต์ พบว่ามีการแข่งขันและตัดราคากันสูงมาก ประเมินได้ว่า หากการแข่งขันราคารุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อตลาดรวมเช่นเดียวกับตลาดรวมของร้านหมูกระทะอย่างที่ผ่านมา ท้ายที่สุดแล้วผู้ประกอบการก็จะอยู่ยากขึ้นเอง โดยคาดว่าอีกภายใน 5 ปี กลุ่มสุกี้ ชาบู จะมีอยู่ไม่เกิน 6 แบรนด์เท่านั้นที่มีกำลังพอจะสู้ในตลาดได้
“กลุ่มสุกี้ ชาบู ประเภทบุฟเฟ่ต์ การแข่งขันด้านราคาสูงมาก เชื่อว่า รายที่ตั้งราคาที่ต่ำกว่า 200 – 300 บาท ในระยะยาวมองว่าจะอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะแบรนด์โลคอล และร้านของผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป คาดว่าใน 5 ปี อาจจะต้องปิดตัวลงและหายไปจากตลาด” ณัฐพล บอกเหตุผล
สำหรับระดับราคาที่จะทำให้บุฟเฟ่ต์อยู่ในตลาดได้ ควรอยู่ที่ 400 – 600 บาทขึ้นไปต่อคน หรือต้องจับตลาดบน รวมถึงแบรนด์ที่มีสายป่านยาวเป็นอีกกลุ่มที่ยังอยู่ในตลาดได้
“นีโอ” ดึงแบรนด์ยุโรป-มะกันเสริมทัพ ทุ่ม 150 ล. สู้ศึก
ณัฐพล กล่าวต่อว่า ในส่วนของนีโอ หลังรีแบรนดิ้งไปเมื่อปีก่อน จากนี้จะเน้นทำธุรกิจแบบบริหารความเสี่ยง และใช้กระแสเงินสดในการลงทุนเป็นหลัก โดยในช่วง 5 ปีจากนี้ (2561-2565) จะใช้งบ 150 ล้านบาท แบ่งเป็นขยายสาขา 100 ล้านบาท และเพิ่มโรงงานผลิตอีก 50 ล้านบาท เพื่อที่ว่าในปี 2565 จะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท และเข้าตลาด MAI เพื่อระดมทุนในการขยายสาขาและแตกแบรนด์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด
ขณะที่ปี 2561 นี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้รวมเติบโต 12-15% หรือมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 370 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้รวมประมาณ 330 ล้านบาท
โดยมีปัจจัยบวกมาจากการขยายสาขา และเทรนด์คนรักสุขภาพยังคงแรงต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยลบที่น่าเป็นห่วงคือ เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่กระจายตัว ไม่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงท่าทีทางการเมือง หากมีการเลือกตั้ง นักลงทุนจะเข้ามาไทยมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงาน และมีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจมากขึ้น
ปัจจุบัน บริษัทมีแบรนด์ร้านอาหารอยู่ 3 แบรนด์ คือ
1. นีโอ สุกี้ วางจุดยืนให้เป็น สุกี้ โฮมเมด ปีนี้จะเปิดให้ครบ 21 สาขา ตามแผนที่วางไว้จะขยายเพิ่มปีละ 2 สาขา นอกจากนี้ยังขายแฟรนส์ไชส์ให้กับอินโดนีเซีย และเวียดนาม อีก 2 สาขา
2. กังฟู เป็นร้านอาหารหมูตุ๋น หม้อไฟ 1 สาขา ที่ตึกมิดทาวน์
3. ซุนวู เป็นบาร์บีคิว ปิ้งย่าง 1 สาขาที่เดอะ พาร์ค ราชพฤกษ์
โดยได้เตรียมเพิ่มแบรนด์ใหม่เข้ามาอีก 2 แบรนด์ จากแถบยุโรปและอเมริกา เน้นทานง่าย อย่างฟาสต์ฟู้ด และแกร็บแอนด์โก เหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ คาดว่าภายใน 5 ปี จะมีทั้งหมด 7-8 แบรนด์
ทำเลในประเทศ จะเน้นหนักไปที่โซนบางซื่อ บางนา ลาดพร้าว ส่วนในต่างจังหวัดคาดว่าจะเป็นขอนแก่น และนครราชสีมา เน้นเข้าห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ที่ทำการตลาดมาอย่างดีแล้ว
“เปปเปอร์ ลันช์” ปั้นโมเดลใหม่ไซส์เล็ก ขยายฐาน
ทางด้าน อรวรรณ โกมลพันธ์พร ผู้อำนวยการอาวุโสแบรนด์เปปเปอร์ ลันช์ บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า ปัจจุบันศูนย์การค้าหลายแห่งได้ปรับกลยุทธ์ด้านพื้นที่ศูนย์ฯ โดยดึงร้านอาหารดังๆ ที่อยู่นอกห้างเข้ามาเปิดบริการมากขึ้น เพื่อดึงความสนใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ส่งผลให้การแข่งขันด้านราคารุนแรงขึ้นเพราะลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ร้านอาหารในศูนย์ฯ ทั้งที่เป็นเชนและไม่ได้เป็นเชนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะต้องแข่งขันด้านลดราคามากขึ้นเพื่อแย่งลูกค้ากัน
ในส่วนของเปปเปอร์ ลันช์เอง ก็จัดทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เช่น ทุกวันจันทร์ลดราคา 20% และทุกวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไปถึงร้านปิด จัดโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1
นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัว โมเดลใหม่”ไซส์เล็กลง คือ
1. เอ็กซ์เพรส พลัส พื้นที่ประมาณ 90-100 ตร.ม. ลงทุนประมาณ 5-6 ล้านบาท มีประมาณ 20 เมนู ราคาถูกกว่าโมเดลร้านอาหาร 20%
2. เอ็กซ์เพรส ฟู้ดคอร์ด พื้นที่ประมาณ 20 ตร.ม. ลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท มีประมาณ 15 เมนู จะมีราคาถูกกว่าร้านอาหาร 30% ขณะนี้มี 4 สาขา
จากเดิมมีโมเดลเดียวคือ ร้านอาหารหรือเรสตอรองต์สพื้นที่ประมาณ 100-120 ตร.ม. ลงทุนประมาณ 8-10 ล้านบาท มีประมาณ 40 เมนู
โมเดลใหม่นี้ ทำให้สามารถทำเลไปต่างจังหวัด รวมทั้งขยายฐานลูกค้าในกลุ่มระดับกลางลงมาได้มากขึ้นด้วย
ตามแผนปี 2561 นี้ใช้งบรวม 100 ล้านบาท เปิดสาขารวม 10 สาขา ครึ่งปีแรกเปิดไปแล้ว 4 สาขา ส่วนครึ่งปีหลังจะเปิดร้านเพิ่มอีก 5 สาขา เพื่อให้สิ้นปีมีจำนวนครบ 40 สาขา และคาดว่าสิ้นปีจะมีรายได้รวม 520 ล้านบาท เติบโต 30% จากปีที่แล้ว
ส่วนการใช้จ่ายของลูกค้า เฉลี่ย 200 บาทต่อคนต่อครั้ง และมีลูกค้าเฉลี่ย 200,000 คนต่อเดือนทุกสาขารวมกัน.