จากปิ้งย่าง สู่ ‘อากะ ชาบู’ จิ๊กซอว์ตัวใหม่เติมพอร์ตกลุ่มสุกี้ให้ ZEN Group

หากพูดถึง ‘Zen Group’ จะเห็นว่าแบรนด์ร้านอาหารในมือถึง 13 แบรนด์ มีตั้งแต่สตรีทฟู้ดไปจนถึงพรีเมียม มีทั้งอาหารญี่ปุ่น ปิ้งย่าง อาหารไทย แต่ยังไม่มี ‘สุกี้ ชาบู’ และในที่สุด Zen Group ก็รุกตลาดชาบูด้วยแบรนด์ ‘อากะ’ แบรนด์ D.I.Y. Buffet ปิ้งย่าง ซึ่งถือเป็นแบรนด์ที่ทำรายได้อันดับ 2 ให้กับกลุ่ม

เริ่มนำร่องอากะ ชาบูตั้งแต่ปี 2019

ปัจจุบันตลาด ปิ้งย่าง มีมูลค่าที่ 9,300 ล้านบาท ส่วนตลาด สุกี้ ชาบู มีมูลค่า 23,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 8% ทั้งสองตลาด โดยหากเทียบมูลค่าตลาดปิ้งย่างแล้ว จะเห็นว่าตลาดชาบูใหญ่กว่าเป็นเท่าตัว และแน่นอนว่าคู่แข่งก็เยอะกว่าเช่นกัน ที่คุ้นชื่อกันดีก็มี สุกี้ตี๋น้อย, ชาบูชิ, เพนกวิน อีท ชาบู, แพนด้า ชาบู ยังไม่รวมแบรนด์เล็ก ๆ อีกเยอะมาก อีกทั้ง ผู้บริโภคยังมองในแง่ว่าสุกี้ ชาบูเป็น อาหารเพื่อสุขภาพ มากกว่าปิ้งย่าง

เนื่องจากตลาดที่ใหญ่และมีโอกาสเติบโต และ Zen Group เองก็ยังไม่เคยมีแบรนด์สุกี้ ชาบูมาก่อน ทำให้กลุ่มต้องขยับเข้ามาในตลาดเพื่อแย่งลูกค้าด้วยเช่นกัน โดยในปี 2019 ก็ได้นำร่องทดลองเปิดบริการชาบูควบคู่กับปิ้งย่างที่ ร้านอากะ สาขาเซ็นทรัล พลาซา บางนา แม้จะได้ผลตอบรับค่อนข้างดี แต่ยังวัดผลได้ยากเนื่องจากเจอการระบาดของโควิดทำให้ต้องปิดหน้าร้านชั่วคราว จนมาปี 2022 นี้ ถึงได้เวลาคลอด อากะ ชาบู สู่ตลาดอย่างเป็นทางการ

ไม่ปั้นแบรนด์ใหม่ เพราะมั่นใจชื่อ อากะ

มยุรี จิตรกร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าว่า สาเหตุที่อากะหันมาทำชาบูมาจากจุดตั้งต้นที่จะต่อยอดความเป็น D.I.Y. Buffet และใช้ ระบบบริหารจัดการกับวัตถุดิบ ในตอนแรกอากะมีแนวคิดที่จะทำ อากะ พรีเมียม แต่ในที่สุดก็เกิดเป็นแบรนด์ใหม่ อากะ ชาบู

ส่วนสาเหตุที่อากะ เลือกที่จะแตก Sub-Brand มากกว่าทำ Mixed Model เหมือนช่วงทดลองเป็นเพราะต้องการให้ ลูกค้าจดจำซิกเนเจอร์กับความชำนาญของอากะ หากทำแบบ Mixed Model อาจทำให้จุดแข็งเดิมและจุดแข็งใหม่ที่มาชนกัน

“การทำ Mixed Model เหมือนตอนทดสอบเมื่อปี 2019 อาจจะตอบโจทย์ลูกค้าในแง่ความหลากหลายก็จริง แต่จะกลายเป็นว่า ตกลงคุณจะเก่งปิ้งย่างหรือชาบู ดังนั้น เราจึงแบ่งออกมาเลยดีกว่า

มยุรี จิตรกร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ชูความหลากหลาย สร้าง First Impression

แม้คู่แข่งจะเยอะ แต่ มยุรี มองว่าส่วนใหญ่เป็นแบรนด์รายย่อยมากกว่า ขณะที่อากะ ชาบูจะเน้นจับลูกค้าที่เดินห้างเป็นหลัก ทำให้จำนวนคู่แข่งจึงจำกัดลงมาระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังวางราคาไว้ 3 ระดับ โดยเริ่มต้นที่ 399 ++ บาท, 599 ++ บาท และ 999 ++ บาท เน้นเจาะวัยรุ่น, คนทำงาน และกลุ่มครอบครัว

นอกจากนี้ ยังดึงเอาจุดแข็งด้านวัตถุดิบที่หลากหลายของอากะ มาใช้กับอากะ ชาบู โดยมี มีเมนูวัตถุดิบกว่า 82 เมนู มี น้ำซุป 5 แบบ ไฮไลต์ คือ น้ำซุปยูสุ และ น้ำจิ้มซิกเนเจอร์

“ร้านชาบูเปิดง่าย มีตึกก็เปิดได้แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับระบบบริหารจัดการหลังบ้าน ถ้าทำดีก็ยิ่งทำกำไรได้ดี ซึ่งเราทำมาอากะ 15 ปี เราได้เปรียบตรงที่ชื่อแบรนด์ มีทีมซัพพลายเชน โลจิสติกส์ ทีมจัดซื้อ ทีมการตลาด ระบบหลังบ้าน ดังนั้น เรามีความพร้อมในด้านการบริหารจัดการ” ปรีด์ สุวิมลธีระบุตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริม

ชาบูขยายในเมือง ปิ้งย่างขยายตจว.

กลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตของอากะแบ่งเป็นแนวลึก ซึ่งคือการแตกแบรนด์อากะ ชาบู ส่วนกลยุทธ์ในแนวราบคือ การขยายสาขา ปัจจุบัน อากะมี 32 สาขา อากะ ชาบู 1 สาขา โดยภายในปีนี้ อากะจะเปิดสาขาเพิ่มอีก 7 สาขา ส่วนอากะ ชาบูเปิดอีก 1 สาขา

โดยอากะ จะเน้นขยายใน ชานเมือง และ ต่างจังหวัด เป็นหลัก นอกจากนี้ ยังเปิดโมเดล แฟรนไชส์ โดยจะได้เห็นภายในปีนี้จำนวน 1 สาขา ส่วน อากะ ชาบู จะเน้นขยายในกรุงเทพฯ โดยสาขาต่อไปจะยังคงอยู่ใน เซ็นทรัล เหมือนกับสาขาแรกที่เปิดใน เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ชั้น 1

“ปีนี้เป็นปีที่เราขยายสาขาเยอะมากที่สุดหลังจากชะงักเพราะโควิด โดยเราตั้งเป้าที่จะขยายแบรนด์อากะไปทั่วประเทศภายใน 3-4 ปี ทั้งขยายเองและแฟรนไชส์ แต่อากะ ชาบูจะยังไม่ขายแฟรนไชส์ โดยเน้นเปิดในห้างเป็นหลัก เพราะทราฟฟิกในห้างกลับมากว่า 85% และการทานอาหารถือว่ากลับมาดีแล้วโดยเฉพาะกับบุฟเฟ่ต์ชาบูที่เป็นตัวเลือกแรก ๆ ของผู้บริโภค”

ปรีด์ สุวิมลธีระบุตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ดันอากะแบรนด์พันล้าน

ปัจจุบัน แบรนด์อากะทำรายได้เป็น อันดับ 2 ของ Zen Group ตามหลังแบรนด์ Zen โดยปีที่ผ่านมา อากะทำรายได้ 700 ล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับช่วงปี 2019 ที่ยังไม่เกิดการระบาดของโควิด และภายในปีนี้คาดว่ารายได้จะปิดที่ 900 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตส่วนหนึ่งมาจากการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น และในปี 2023 แบรนด์อากะจะทำรายได้ถึง 1 พันล้านบาท แน่นอน

“อากะเป็นแบรนด์พันล้านแน่นอน เพราะเรามองว่าเป็นแบรนด์ที่เข้าถึงได้ทุกจังหวัด และอากะ ชาบูจะเป็นอีกส่วนสำคัญในการสร้างการเติบโตในอนาคต”

ภายในปีนี้ ZEN Group คาดว่าจะมีรายได้ 3,500 ล้านบาท จากร้านอาหารในเครือทั้งหมด 13 แบรนด์ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ไดแก่ กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น 7 แบรนด์ ได้แก่ ZEN, Musha by Zen, On the Table, AKA, Sushi Cyu, Tetsu, Din’s กลุ่มร้านอาหารไทย 6 แบรนด์ ได้แก่ ตำมั่ว, เดอตำมั่ว, ลาวญวน, แจ่วฮ้อน, เขียง, เขียงแกงใต้