ราคาหุ้นเฟซบุ๊กร่วงกว่า 20% หลังผู้บริหารเตือนว่า ส่วนต่างกำไรอาจรูดลงอีกหลายปีเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการปรับปรุงการปกป้องความเป็นส่วนตัว บวกกับยอดการใช้งานชะลอตัวในตลาดโฆษณาใหญ่ที่สุด
นับเป็นความท้าทายสำหรับเฟซบุ๊ก (Facebook) เจ้าของแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดีย ยอดนิยมไม่น้อยทีเดียว หลังจากผลประกอบการไตรมาส 2 (เม.ย. – มิ.ย.) ปี 2018 บ่งชี้ว่ากฎหมายว่าด้วยการรักษาความเป็นส่วนตัวฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป รวมทั้งผลพวงของเรื่องอื้อฉาวที่ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากถูกแอบนำไป ใช้ประโยชน์ กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจของเฟซบุ๊ก
โดยเฟซบุ๊กยังออกคำเตือนพวกนักลงทุนว่ารายได้ของเฟซบุ๊กที่เพิ่มขึ้นจากพวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และจากอินสตาแกรม ไม่สามารถชดเชยผลกระทบดังกล่าวได้
โชคชะตาของเฟซบุ๊กพลิกผันไหลรูดภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง เมื่อบริษัทรายงานรายได้และการเติบโตของจำนวนผู้ใช้ที่ต่ำกว่าคาด ซ้ำออกคำเตือนเกี่ยวกับการขยายตัวและการใช้จ่ายในอนาคตเช่นนี้
เดวิด เวห์เนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของเฟซบุ๊ก เตือนว่า ส่วนต่างกำไรอาจลดจาก 44% ในไตรมาส 2 อยู่ที่ “30 กลางๆ” เป็นเวลานานกว่า 2 ปี
ราคาหุ้นของเฟซบุ๊กในตลาดแนสแดคเมื่อวันพุธ (25) ซึ่งเป็นวันประกาศผลประกอบการ ดำดิ่งถึง 21% ฉุดมูลค่าตามราคาตลาดหายวับทันตา 150,000 ล้านดอลลาร์ และหากหุ้นยังตกต่อเนื่องในวันพฤหัสบดี (26) จะถือเป็นการตกแรงที่สุดในรอบหนึ่งวันของบริษัทแห่งนี้ จากสถิติเดิมที่ทำไว้ 12% ในเดือนกรกฎาคม 2012
ทั้งนี้ เฟซบุ๊กเตือนนักลงทุนแต่แรกแล้วว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายในไตรมาส 2 จะพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงเนื่องจากมาตรการแก้ปัญหาการจัดการความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และการยกระดับการตรวจสอบโพสต์ของผู้ใช้ โดยค่าใช้จ่ายรวมในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 50% อยู่ที่ 7,400 ล้านดอลลาร์
บริษัทคาดว่า ต้นทุนจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปในช่วงครึ่งปีหลัง จากการใช้จ่ายเกี่ยวกับเนื้อหาวิดีโอและการตลาด
ในส่วนกำไรไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 31% อยู่ที่ 5,100 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดขายในไตรมาส 2 ขยายตัว 42% ซึ่งถือว่า ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี อยู่ที่ 13,200 ล้านดอลลาร์ โดยคาดว่า ในไตรมาสต่อๆ ไปการขยายตัวของรายได้จะทำได้ที่ระดับเกือบๆ 30% ตลอด 6 เดือนหลังของปีนี้
อันเนื่องมาจากความผันผวนของค่าเงิน และการเปลี่ยนแปลงการใช้ฟีเจอร์เพื่อแสดงโฆษณาหรือเรียกเก็บเงินน้อยลง
ทางด้าน รอสส์ เกอร์เบอร์ นักวิเคราะห์จากเกอร์เบอร์ คาวาซากิ ชี้ว่า ข้อมูลผลประกอบการล่าสุดบ่งชี้ว่า เฟซบุ๊กและเครือข่ายสื่อสังคมอื่นๆ ขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้วและกระแสกำลังจะตีกลับ
กฎระเบียบคุ้มครองความเป็นส่วนตัวทั่วไปของสหภาพยุโรป เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้รายได้ของเฟซบุ๊กลดลง โดยกฎหมายนี้บีบให้บริษัทต้องเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขด้านการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและขั้นตอนการลงชื่อเข้าใช้หลายอย่าง ส่งผลให้ผู้ใช้ส่วนน้อยเลือกโฆษณาที่ไม่เฉพาะเจาะจงบุคคล ซึ่งมีแนวโน้มสร้างรายได้น้อยลง
ผู้ใช้ประจำวันในยุโรปยังลดลงถึง 3 ล้านคน ขณะที่ทั่วโลกลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ทำให้จำนวนผู้ใช้ในไตรมาส 2 มีเพียงเกือบ 1,500 ล้านคน
ขณะเดียวกัน รายได้จากตลาดเกิดใหม่ไม่สามารถชดเชยส่วนที่ขาดหายไปได้ โดยยอดขายในอเมริกา แคนาดา ยุโรปลดลงถึง 75 ล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่รายได้ในตลาดอื่นๆ เพิ่มขึ้นเพียง 51 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญปัญหาในจีน โดยหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์รายงานว่า เมื่อวันพุธ หน่วยงานกำกับตรวจสอบของแดนมังกรได้ยกเลิกการอนุญาตฮับนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพท้องถิ่นของทางเฟซบุ๊ก
ข้อมูลที่ผิดพลาดเกี่ยวกับวอตส์แอป (Whatsapp) ซึ่งขณะนี้เป็นของเฟซบุ๊ก ยังทำให้เกิดเหตุประชาทัณฑ์จลาจลที่มีผู้เสียชีวิตหลายรายในอินเดีย และกดดันให้เฟซบุ๊กต้องประเมินวิธีการที่จะทำให้บริการของบริษัทมีความปลอดภัยและ เป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นมาใหม่
นอกจากนั้นบริการโซเชียลมีเดียเกือบทั้งหมดยังถูกตรวจสอบเข้มงวดขึ้นนับจากที่หน่วยงานด้านข่าวกรองของอเมริกาเปิดเผยเมื่อต้นปีที่แล้วว่า มีองค์กรหลายแห่งที่เกี่ยวพันกับรัฐบาลรัสเซีย แอบฝังเนื้อหาบนโซเชียลเพื่อแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016.