เข้าสู่ปีที่ 5 ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลของไทย หลังจากที่ฝ่าฟันประมูลใบอนุญาตกันมาร่วม 5 หมื่นล้านบาทในปลายปี 2556 จากจำนวนทั้งหมด 24 ช่อง มาเหลืออยู่ที่ 22 ช่อง 19 บริษัท จากข้อมูลผลประกอบการของปี 2560 พบว่ามีถึง 18 ช่อง จาก 15 บริษัทขาดทุน และมีเพียงแต่ 3 ช่อง จาก 3 บริษัทมีกำไร
จากข้อมูลที่แจ้งไว้กับกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 19 บริษัท สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2560 พบว่ามีเพียง 3 ช่อง คือ ช่อง 7, เวิร์คพอยท์ และโมโน ที่มีกำไรจากการดำเนินการ ที่เหลืออีก 18 ช่อง จาก 15 บริษัทขาดทุน โดยยังเหลือบริษัท แบงคอกบิสสิเนส บรอดคาสติ้ง (ช่องนาว26) เพียงบริษัทเดียวที่ยังไม่แจ้งผลประกอบการ
ช่อง 9 อสมท และพีพีทีวี ขาดทุนสูงสุด
อสมท มี 2 ช่องทีวีดิจิทัล ช่อง 9 และ MCOT Family และกิจการวิทยุและสำนักข่าวไทย มีรายงานขาดทุนรวมทุกธุรกิจสูงถึง 2,541.77 ล้านบาท จากรายได้ 2,728.40 ล้านบาท ซึ่งอสมท ได้ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ตัวเลขขาดทุนสูงขึ้น เกิดจากการทำตามมาตรฐานการบัญชีเรื่องการพิจารณาการด้อยค่าของใบอนุญาตทีวีดิจิทัลของทั้งสองช่อง อุปกรณ์โครงข่าย และสิ่งอำนวยความสะดวก จำนวน 2,087 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนรายได้และค่าใช้จ่ายไม่สัมพันธ์กัน ส่งผลให้ อสมท มีผลขาดทุนเพิ่มขึ้น 236% จากปี 2559
แต่หากพิจารณาการดำเนินงานปกติที่ไม่มีค่าใช้จ่ายด้อยค่า อสมท จะมีผลขาดทุนก่อนภาษีจำนวน 726 ล้านบาท ซึ่งถือว่าการดำเนินงานมีประสิทธิภาพดีขึ้นจากปีก่อน 17% เพราะมีการควบคุมและบริหารค่าใช้จ่ายดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการรายงานแยกเฉพาะผลการดำเนินงานของช่อง 9 และ MCOT Family ออกมาต่างหาก แต่ที่ อสมท รายงานต่อ กสทช.นั้น ระบุว่า มีรายได้จากช่อง 9 อยู่ที่ 177.64 ล้านบาท ส่วนช่อง MCOT family มีรายได้ 99.65 ล้านบาท
หากดูจากเฉพาะช่องที่ดำเนินการเฉพาะธุรกิจทีวีดิจิทัลเป็นหลักอย่างเดียว ช่องพีพีทีวี เป็นช่องที่ขาดทุนสูงที่สุด สูงถึง 2,028.76 ล้านบาท เป็นการขาดทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ประกอบกิจการมา โดยในปี 2559 ขาดทุนอยู่ที่ 1,996.37 ล้านบาท ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของพีพีทีวีอยู่ที่การทุ่มทุนซื้อลิขสิทธิ์รายการฟุตบอลต่างประเทศ และรายการต่างๆ เป็นจำนวนมาก
รองลงมาคือช่องไทยรัฐทีวี ที่ทุ่มทุนกับทีมข่าวอย่างมาก แต่มียอดขาดทุนยังสูงอยู่ที่ 927.55 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มช่อง HD ทั้งหมด มีเพียงช่อง 7 ช่องเดียวที่กำไร ส่วนช่องที่ขาดทุนน้อยสุดในกลุ่มนี้คือ บีอีซี มัลติมีเดีย ของกลุ่ม ช่อง 33, 3SD, 3Family โดยมีรายงานการขาดทุนอยู่ที่ 204.25 ล้านบาท ในขณะที่อมรินทร์ทีวีขาดทุน 354.34 ล้านบาท และช่องวันขาดทุนอยู่ที่ 498.06 ล้านบาท
สำหรับกลุ่มช่องข่าวแล้ว เนชั่นทีวีมีรายงานขาดทุนสูงสุดในกลุ่มนี้ โดยขาดทุนสูงถึง 1,127.03 ล้านบาท ตามมาด้วยนิวทีวี ขาดทุน 461.74 ล้านบาท และวอยซ์ทีวี รายงานขาดทุนอยู่ที่ 354.45 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มช่อง SD วาไรตี้ ช่องที่ขาดทุนมากที่สุดคือ จีเอ็มเอ็ม25 รายงานว่าขาดทุนถึง 638.45 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงทีมผู้บริหารชุดใหม่ เพื่อปรับทิศทางช่องใหม่ ในขณะที่ช่องทรูโฟร์ยู อยู่ในอันดับ 2 ของกลุ่มนี้ ขาดทุน 328.06 ล้านบาท ทั้งนี้ทรูโฟร์ยูเป็นอีกช่องที่ลงทุนสูงมากจากการซื้อลิขสิทธิ์รายการกีฬา โดยเฉพาะไทยแลนด์ ลีก
ช่องที่ผลขาดทุนน้อยที่สุดของกลุ่มช่อง SD วาไรตี้นี้คือ ช่อง 8 ของอาร์เอส เทเลวิชั่น มียอดขาดทุนเพียง 13.85 ล้านบาท เท่านั้น ในขณะที่ปี 2559 ยังขาดทุนอยู่ที่ 150.44 ล้านบาท ทั้งนี้อาร์เอส เทเลวิชั่นเคยมียอดขาดทุนสูงสุดในปี 2556 ที่ 1,302.72 ล้านบาท และค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ ในทุกๆปี
ช่อง 7 กำไรสูงสุด แต่น้อยที่สุดของช่อง 7 นับตั้งแต่เกิดทีวีดิจิทัล
ช่อง 7 เป็นช่องที่มีรายการกำไรสูงสุดในจำนวนทุกช่อง ด้วยผลกำไร 1,516.86 ล้านบาท แต่ก็เป็นตัวเลขกำไรที่น้อยที่สุดของช่อง 7 นับตั้งแต่มีทีวิดิจิทัลมา โดยในปี 2557 ที่มีทีวีดิจิทัลเป็นปีแรกนั้น ช่อง 7 ยังมีกำไรอยู่ที่ 5,510.87 ล้านบาท และค่อยๆลดลงมาทุกปี ในปี 2558 กำไรอยู่ที่ 2,723.81 ล้านบาท และปี 2559 มีกำไร 1,567.98 ล้านบาท
ในขณะที่เวิร์คพอยท์ สวนทางกับช่อง 7 โดยมีกำไรสูงสุดตั้งแต่ประกอบกิจการมา โดยปี 2560 มีกำไรอยู่ที่ 933.65 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2559 เป็นปีแรกที่มีกำไรอยู่ที่ 106 ล้านบาท โดยปี 2557-2558 ขาดทุนอยู่ที่ 208.99 ล้านบาท และ 15.07 ล้านบาท
ส่วนโมโนนั้น ปี 2560 เป็นปีแรกที่มีกำไร 90.85 ล้านบาท จากกลยุทธ์จัดหนังและซีรีส์ต่างประเทศ จนสามารถเรียกเรตติ้งขึ้นมาเป็นช่องอันดับ 3 ได้สำเร็จ โดยในปี 2557-2559 โมโนขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ 296.10 ล้านบาท ของปี 2557, 387.72 ล้านบาทในปี 2558 และ 275.70 ล้านบาท ในปี 2559
ทั้งหมดนี้เป็นแค่ 1 ใน 3 ของเส้นทางใบอนุญาต 15 ปีทีวีดิจิทัล หลายบริษัทที่ยังขาดทุนอยู่ก็มีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ในอีกไม่นาน หลังจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือพักชำระหนี้ จ่ายค่าใบอนุญาตเป็นเวลา 3 ปี และลดค่าใช้โครงข่าย MUX ที่เริ่มตั้งแต่ปีนี้ไปแล้ว ยังมีอีกหลายบริษัทที่ต้องเหนื่อยหนักจากสภาพขาดทุนสะสม และการลงทุนต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มที่มีสายป่านยาวคงไม่มีปัญหามากนัก แต่กลุ่มที่ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง คงต้องเหนื่อยหนักต่อเนื่อง.