สมรภูมิ “พรีเมียมเอาต์เลต” ในไทยระอุแน่ๆ เมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง “มิตซุย” จากญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งค่ายที่จดจ้องเปิดศึกในตลาดไทยด้วย หลังจากก่อนหน้านี้สองค่ายยักษ์ คือ ซีพีเอ็น ที่ลุยเดี่ยว อีกรายคือ สยามพิวรรธน์ร่วมทุนกับไซม่อนกรุ๊ป ประกาศปักธงเป็นที่ชัดเจนแล้ว คาดปีหน้าเริ่มเห็นโครงการแน่
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือเป็นภาคที่ทำรายได้สำคัญให้กับประเทศไทย ล่าสุด ในปี 2560 ที่ผ่านมา สร้างรายได้มากถึง 2.75 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 20% ของจีดีพีทั้งประเทศไทย ด้วยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยมากถึง 35 ล้านคน
ครึ่งปีแรก 2561 ปรากฏตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยแล้วมากถึง 19.48 ล้านคน เติบโต 12.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่ารายได้รวม 1.015 ล้านล้านบาท เติบโต 15.88%
เฉพาะแค่เดือนมิถุนายน 2561 เดือนเดียว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวแล้วจำนวน 3,025,279 คน เติบโตจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 11.57% และนักท่องเที่ยวต่างชาติเหล่านี้ใช้จ่ายรวมกันมากกว่า 148,432.54 ล้านบาท เติบโต 14.52% จากช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งนักท่องเที่ยวที่สร้างรายได้สูงสุด 10 อันดับแรก คือ จีน มูลค่า 4.92 หมื่นล้านบาท เติบโต 22.49%
ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยวได้รับผลบวกตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ธุรกิจการให้บริการต่างๆ รวมถึง “พรีเมียมเอาต์เลต” โมเดลค้าปลีกรูปแบบใหม่ ที่นอกจาก 2 บิ๊กศูนย์การค้าอย่างเซ็นทรัล และสยามพิวรรธน์ ที่ประกาศตัวขอลุยธุรกิจนี้แล้ว ยังรวมไปถึง มิตซุย ที่แม้ยังไม่มีสาขาในไทยเวลานี้ แต่ก็หวังโกยลูกค้าคนไทยที่นิยมไปเที่ยวญี่ปุ่น
จับตา “มิตซุย” จะเป็นรายต่อไปหรือไม่
ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ค่ายใหญ่จากญี่ปุ่นอย่าง มิตซุย ก็จุดพลุให้กับตลาดเอาต์เลตในไทยอีกด้วย เมื่อ คาซูโอะ อิดะ ผู้จัดการทั่วไป แผนกส่งเสริมการท่องเที่ยว บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง รีเทล เมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารมิตซุยเอาต์เลตของญี่ปุ่น ระบุว่า ประเทศไทยก็เป็นตลาดที่น่าสนใจ ซึ่งขณะนี้มิตซุยเองก็อยู่ระหว่างการศึกษาถึงตลาดค้าปลีกและตลาดเอาต์เลตในเมืองไทยด้วยเช่นกัน
กลุ่มมิตซุยเอง นอกจากมี มิตซุย เอาต์เลต ปาร์ค ในญี่ปุ่นที่ดังๆ ที่มีมากถึง 13 สาขากระจายอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น และในต่างประเทศคือที่กัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย) และอีกที่คือไถจง (ไต้หวัน) และเตรียมที่จะเปิดตัวที่ไต้หวันอีก 1 สาขา
อีกหนึ่งเหตุผลที่เชื่อมั่นว่ามิตซุยอาจจะปักหลักในตลาดไทยเร็วๆ นี้ คือ กำลังซื้อของนักชอปปิ้งคนไทย เนื่องจากคนไทยเป็นชาติที่จับจ่ายใช้สอยติดอันดับที่ 4 ของลูกค้าที่จับจ่ายที่มิตซุยเอาต์เลตทั้งหมดในญี่ปุ่น รองลงมาจากอันดับที่ 1คือ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และไทย
โดยปริมาณนักชอปปิ้งคนไทยที่ไปจับจ่ายที่มิตซุยเอาต์เลตมีประมาณ 60,000 – 70,000 คนเมื่อปี 2556 และเพิ่มเป็น 80,000 คนในปี 2560 และคาดว่าในปี 2561 นี้จะเพิ่มเป็น 120,000 คน ซึ่งทางมิตซุยเองก็คาดการณ์ด้วยว่า ไทยมีสิทธิ์ที่จะขยับขึ้นมาเป็นที่ 3 ในอนาคตอันใกล้นี้ได้
“สยามพิวรรธน์” ชูกลยุทธ์ร่วมทุนไซม่อน
ส่วนที่ประกาศตัวแล้วชัดเจน คือ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ร่วมทุนกับทางกลุ่มไซม่อนจากอเมริกา ด้วยการตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อว่า บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 130 ล้านบาท ถือหุ้นเท่ากันฝ่ายละ 50% เพื่อดำเนินธุรกิจลักชัวรีพรีเมียมเอาต์เลตในไทย โดยวางแผนงานที่จะใช้งบประมาณมากกว่า 10,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปีจากนี้ เพื่อเปิดรวม 3 แห่งในไทย
กลยุทธ์การร่วมทุนของสยามพิวรรธน์ ถือเป็นการเรียนลัด ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ เพราะเป็นธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน ดังที่ ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ กล่าวย้ำว่า “การที่เราจะทำเอาต์เลตถือเป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่มีความชำนาญ เพราะถือเป็นคนละเรื่องคนละประเภทจากศูนย์การค้าที่เราชำนาญอยู่แล้ว เพราะเป็นคนละรูปแบบกัน และไม่ใช่เป็นเรืองง่ายๆ ที่จะทำได้เองด้วย เราจึงต้องใช้โนว์ฮาวของไซม่อนร่วมกับประสบการณ์และคอนเนกชันร้านแบรนด์เนมที่เรามีอยู่มาผนวกกัน”
มาร์ค ซิลเวสทรี Executive Vice President of SIMON GROUP กล่าวว่า กลุ่มสยามพิวรรธน์ เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่รายหนึ่งของไทย มีความน่าสนใจและมีนโยบายด้านพรีเมียมเอาต์เลตเหมือนกันกับเรา จึงตัดสินใจร่วมทุนกัน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 4 ในเอเชียที่ทางไซม่อนกรุ๊ปเข้ามาลงทุน โดยไทยเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายที่กลุ่มไซม่อนสนใจ เพราะไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพในด้านต่างๆ รวมทั้งธุรกิจค้าปลีกของไทยก็เติบโตและแข็งแรงมาก
อีกทั้งการร่วมทุนกับไซม่อนกรุ๊ปนี้ยังถือเป็นความได้เปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่งอีกด้วย เพราะไซม่อนกรุ๊ปถือเป็นค่ายที่มีอสังหาริมทรัพย์ด้านค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของโลก อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย และมีมากกว่า 200 โครงการทั่วโลก โดยเฉพาะในส่วนของพรีเมียมเอาต์เลตนั้น แค่ในอเมริกาเหนือที่เดียวก็มีมากกว่า 70 แห่งแล้ว และยังมีอีก 29 แห่งที่กระจายอยู่ในต่างประเทศ โดยในเอเชียเป็นตลาดที่ใหญ่เช่นกันคือ มี 15 แห่ง จาก 29 แห่งที่อยู่ในต่างประเทศ เช่น ที่ญี่ปุ่นมี 9 แห่ง ที่เกาหลีใต้มี 4 แห่ง และที่มาเลเซียมี 2 แห่ง
พรีเมียมเอาต์เลตดังๆ ของไซม่อนกรุ๊ป ที่นักชอปปิ้งคนไทยและทั่วโลกรู้จักกันดีมีหลายแห่ง เช่นที่ Woodbury Common Premium Outlets (New York), Desert Hills Premium Outlets (Palm Springs), Las Vegas North Premium Outlets, Yeoju Premium Outlets (Seoul), Gotemba Premium Outlets (Tokyo) เป็นต้น ล่าสุดก็เพิ่งจะเปิดสาขาใหม่หลายแห่งเช่นในชีฮึง เกาหลีใต้, เก็นติ้งไฮแลนด์ในมาเลเซีย, พรอวองซ์ในฝรั่งเศส และเอ็ดมอนตันในแคนาดา
โครงการแรกในไทยของสยามพิวรรธน์กับไซม่อนกรุ๊ป คาดว่าอยู่โซนตะวันออกของกรุงเทพฯ โดยมีพื้นที่รวมกว่า 150 ไร่ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าแล้วเสร็จเดือนตุลาคม 2562 เป็นพื้นที่ให้เช่ามากถึง 50,000 ตารางเมตร มีร้านค้าอินเตอร์แบรนด์ลักชัวรีมากกว่า 200 ร้านค้า และพิเศษคือการมีแบรนด์ไทยมาเปิดจำหน่ายในเอาต์เลตนี้ด้วย จับกลุ่มเป้าหมายทั้งคนไทย 60% และนักท่องเที่ยว 40% ส่วนอีก 2 โครงการจะเริ่มทยอยก่อสร้างหลังจากที่โครงการแรกเปิดบริการแล้ว.
“ซีพีเอ็น” ลุยเดี่ยวขยายกลุ่มยังก์แอฟฟลูเอนต์
ค่ายเซ็นทรัลเองก็ปักธงขยายสู่ “เอาต์เลตมอลล์” ถือเป็นจิ๊กซอว์อีกตัวในการรุกขยายเครือข่ายค้าปลีกของซีพีเอ็น
วัลยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและโครงการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น บอกว่า ใช้เวลาศึกษาตลาดมานานกว่า 6 ปี โดยมีที่ปรึกษาต่างประเทศคือบริษัท ดิ เอาท์เล็ท คอมพานี เป็นที่ปรึกษาโครงการของเรา บริษัทดังกล่าวนี้เคยศึกษาและวางแผนทำให้กับเอาต์เลตต่างประเทศจำนวนมากแล้ว เช่น ในญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น รวมถึงการมีสายสัมพันธ์หรือคอนเนกชันที่ดีกับพวกแฟชั่นอินเตอร์แบรนด์ลักชัวรีจำนวนมากอยู่แล้ว
โครงการเอาต์เลตใช้ชื่อว่า เซ็นทรัล วิลเลจ จะใช้เงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 5,000 ล้านบาท บนที่ดิน 100 กว่าไร่ มีพื้นที่โครงการประมาณ 40,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 นาที ซึ่งถือเป็นทำเลที่ตรงกับธุรกิจมาก
โดยสนามบินสุวรรณภูมิมีจำนวนผู้โดยสารมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกว่า 55 ล้านคนในปี 2560 และติด 1 ใน 10 อันดับของสนามบินที่มีจำนวนผู้โดยสารมากที่สุดในเอเชียด้วย และคาดว่าในปี 2563 ส่วนขยายของสนามบินจะแล้วเสร็จ จะรองรับผู้โดยสารสูงถึง 60 ล้านคนต่อปี
โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในส่วนของเฟสแรกและเปิดบริการได้ประมาณไตรมาสสามปีหน้า (2562) แบ่งพื้นที่เป็นหลายเฟสหลายส่วน แยกเป็น ลักชัวรีพรีเมียมเอาต์เลต โรงแรมขนาด 200 ห้องพัก ซึ่งยังไม่สรุปว่าจะเป็นเชนใดมาบริหาร มีซูเปอร์มาร์เก็ตด้วย และที่สำคัญคือร้านค้าสินค้าแฟชั่นอินเตอร์แบรนด์เนมมากกว่า 235 ร้านค้า ซึ่งรวมถึงแบรนด์เนมและร้านค้าในเครือเซ็นทรัลเองอีกด้วย
แบ่งเป็นสัดส่วนของร้านค้าลักชัวรีอินเตอร์แบรนด์เนมประมาณ 20-30% และราคาสินค้าในเอาต์เลตจะต่ำกว่า 35-70% และลดราคากันทุกวันไม่ต้องรอเทศกาล จับกลุ่มเป้าหมายทั้งคนไทยสัดส่วน 65% และคนต่างประเทศ 35%
ขณะที่ในย่านนั้นจะมีประชากรมากกว่า 12 ล้านคนที่มีกำลังซื้อ และยังจับกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า ยังก์แอฟฟลูเอนต์ หรือ Young Affluent อายุ 25-40 ปี เป็นคนรุ่นใหม่ ประสบความสำเร็จรวดเร็ว มีรายได้สูง ที่เป็นนักชอปปิ้งแบรนด์เนม รู้จักเปรียบเทียบสินค้า ต้องการสินค้าดีมีคุณภาพ ซึ่งในไทยจากการที่เก็บข้อมูลจะมีประมาณ 2 ล้านคน.
ต้องจับตาโมเดลค้าปลีกใหม่ในสมรภูมิ “พรีเมียมเอาต์เลต” จะลุกเป็นไฟขนาดไหน ไม่นานก็รู้.
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง
- เดือดแน่ ! สยามพิวรรธน์ ควงไซม่อน ผุดลักซ์ชัวรีพรีเมียมเอาท์เล็ต ประเดิมทำเลบางนาสาขาแรก
- ซีพีเอ็น ทุ่ม 5,000 ล้าน ผุดแบรนด์ใหม่ “เซ็นทรัล วิลเลจ” ศูนย์การค้าโมเดลใหม่ “ลักชัวรี เอาท์เล็ต” ขายแบรนด์เนมลด 35-70% แบบไม่ง้อ Seasonal Sale