ไทยกับอำนาจของจีน

เรื่อง : อิษณาติ วุฒิธนากุล

เมื่อเดือนที่แล้วข่าวที่นับว่าเป็นข่าวใหญ่ในบ้านเราอีกข่าวหนึ่งนอกเหนือจากข่าวของน้องๆ ทีมหมูป่า คือข่าวเรือล่มของนักท่องเที่ยวจีนนะครับ ผมขอไม่พูดถึงว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรหรือใครเป็นคนผิด จะอย่างไรก็แล้วแต่ ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ต่อเศรษฐกิจไทยมันชัดเจนมากนะครับ โดยสื่อส่วนใหญ่รายงานว่ามูลค่าความเสียหายอยู่ที่ราวๆ 42,000 ล้านบาท ซึ่งไม่น้อยเลยสำหรับความเสียหายจากอุบัติเหตุเรือล่มหนึ่งครั้ง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศเรากลัวไม่ใช่เงินสี่หมื่นกว่าล้านตรงนี้ แต่คือจำนวนเงินกว่า 524,451 ล้านที่กว่าสิบล้านนักท่องเที่ยวจีนนำเข้ามาในไทยทุกปี จะชอบ หรือไม่ชอบนิสัย มารยาท หรือความสะอาดของนักท่องเที่ยวจีนอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ยอมรับกันเถอะครับว่าเอาเข้าจริงตอนนี้เราขาดเขาไม่ได้

ผมเชื่อว่าหลายท่านที่ตามข่าวคงทราบว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์เรือล่มครั้งแรกที่เกิดขึ้นในไทย ไม่ต้องมองกลับไปไกลเอาแค่สองปีหรือนับตั้งแต่ปี 2559 มานี้ จากรายงานจากบีบีซี ประเทศไทย เราจะเห็นว่ามีเหตุการณ์เรือล่มไม่ต่ำกว่า 9 ครั้ง และมีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 35 คนนะครับ อย่างไรก็ตาม ข่าวเรือล่มของนักท่องเที่ยวจีนครั้งล่าสุดดูเหมือนจะได้รับความสนใจจากสื่อ ภาคเอกชน และภาครัฐมากที่สุด ถึงแม้ปัจจุบันยังไม่มีมาตราการการป้องที่ดูเป็นรูปธรรมออกมา แต่เห็นได้ชัดนะครับว่าหลายฝ่ายมีความเคลื่อนไหวเพื่อหาวิธีป้องกันเหตุการณ์แนวนี้ในอนาคตมากกว่าหลายๆ ครั้งในอดีตที่ผ่านมา ในมุมหนึ่งเราต้องขอบคุณจีนนะครับที่ส่งสัญญาณความไม่พอใจและสร้างความกดดันแก่ไทยอย่างชัดเจน เพราะหากไม่ทำเช่นนี้แล้วพี่ไทยเองก็อาจจะปล่อยให้เรื่องเงียบแล้วหายไปเหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา

ไทยไม่ใช่ประเทศแรกและไม่ใช่ประเทศเดียวที่ต้องยอมทำตามข้อเรียกร้องหรือความกดดันจากฝั่งจีนที่เนื่องมาจากอำนาจทางเศรษฐกิจ หรือพูดง่ายๆ คืออำนาจของเงินที่ฝั่งจีนมี จริงๆ แล้วจีนใช้เทคนิคตรงนี้ในการเข้าควบคุมหรือครอบงำหลากหลายประเทศโดยที่ประเทศเหล่านั้นอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป แล้วอำนาจตรงนี้ก็เหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืออำนาจของจีนบนเวทีโลกอย่าง UN ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ย้อนกลับไปในปี 1971 สหประชาชาติต้องลงมติว่าจะยอมรับรัฐบาลของจีนหรือไต้หวันในการเป็นรัฐบาลตัวแทนของจีนทั้งหมดใน UN เหตุการณ์ครั้งนั้นประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกาโหวตตามอเมริกาโดยให้คะแนนโหวตตัวเองกับไต้หวันไม่ใช่จีน อย่างไรก็ตาม เกือบ 40 ปีให้หลังในปี 2007 มีประเทศในแอฟริกาเพียงแค่ 12 ประเทศเท่านั้นที่โหวตต่างกับจีนในหัวข้อการประนามเรื่องสิทธิมนุษยชนของเกาหลีเหนือที่จีนเข้าข้าง ในขณะที่อีก 43 ประเทศที่เหลือเลือกที่จะโหวตตามจีนหรือเลือกที่จะงดออกเสียงไปเลย

ที่มา: https://geology.com/world/africa-satellite-image.shtml, http://www.un.org/en/sections/about-un/un-logo-and-flag/, http://www.flags.net/CHIN.htm

แอฟริกายังเป็นทวีปที่ยากจนและเจริญน้อยที่สุดในโลก จุดยืนของตัวเองจึงยังไม่มั่นคงและมีแนวโน้มที่จะเอนเอียงไปตามประเทศที่มีอำนาจหรือให้ผลประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด ณ ขณะนั้น ดังนั้นการแสดงออกของแอฟริกาจึงเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนให้เห็นถึงขั้วอำนาจตอนนั้นๆ ได้อย่างชัดเจนที่สุด ถ้าถามว่าจีนมีอำนาจเท่าสหรัฐอเมริกาหรือยัง คำตอบง่ายมากคือยัง แต่จีนกลับพร้อมที่จะทุ่มเงินเข้าไปในทวีปนี้มากกว่าประเทศไหนๆ ในโลก เช่นการสร้างทางรถไฟใน เคนย่า และ เอธิโอเปีย การสร้างเขื่อนใน กินนี และโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานอีกเป็นร้อยโปรเจกต์ในภูมิภาคนี้ ปัจจุบันนอกจากที่จีนจะเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของทวีปนี้แล้ว จีนยังเป็นประเทศหลักที่กำลังผลักดันเศรษฐกิจของแอฟริกามากที่สุดเช่นกัน แน่นอนครับโครงการเหล่านี้ย่อมต้องได้รับเงินลงทุนซึ่งก่อนหน้านี้แบงก์หรือประเทศส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าที่จะปล่อยกู้หรือให้เงินกับโปรเจกต์ต่างๆ ในแอฟริกา เพราะถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงมาก แต่จีนพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือหากประเทศเหล่านั้นให้ความสนับสนุนจีนในทางการเมือง จริงๆ แล้วถ้าเรามองลึกลงไปจะพบว่าจีนเองก็ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการช่วยพัฒนาแอฟริกาเช่นกัน ทั้งทรัพยากรที่ยังมีอยู่มาก ทั้งแรงงานที่ถูกกว่าแรงงานในประเทศ และโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้ แสดงว่านอกจากจีนจะได้รับผลประโยชน์ทางการเมืองแล้ว ระยะยาวจีนเองก็จะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่เจริญขึ้นของประเทศแอฟริกาเหล่านี้เช่นกัน

ในอดีตเท่าที่ผ่านมาการใช้แสนยานุภาพทางทหารเป็นวิธีที่ประเทศมหาอำนาจนิยมใช้ในการสร้างอิทธิพลต่อประเทศอื่นๆ มากที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกเราเข้าสู่ยุคทุนนิยม “เงิน” ในรูปแบบต่างๆ กลายมาเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางและบ่อยครั้งที่สุด และดูเหมือนอิทธิพลของจีนคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามขนาดและอำนาจทางเศรษฐกิจของตน ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจจีนมีสัดส่วนอยู่ที่ราวๆ 18-19% ของเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ว่าจะมีนักวิเคราะห์จากหลากหลายสถาบันออกมาพูดว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่ช่วงขาลง แต่หากเรามองตัวเลขการคาดการณ์จาก IMF เราจะเห็นว่าเพียงราวๆ 12 ปีต่อจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจของจีนจะใหญ่กว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แล้วนะครับ

นอกจากนั้นจากโรดแมปที่ทางจีนวางไว้เช่นการลงทุนในแอฟริกาที่กล่าวไปในข้างต้น และอีกหลายมาตราการที่รัฐบาลพยายามสร้างขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาทางเศรษฐกิจไม่ให้เหมือนที่ญี่ปุ่นเคยเจอ ทำให้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่เศรษฐกิจจะยังเติบโตต่อไปได้อีกหลายปี ถึงแม้นักวิเคราะห์บางท่านมองว่าจีนกำลังจะย่ำแย่ในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า แต่ส่วนตัวผมไม่คิดว่าเศรษฐกิจจีนจะถดถอยในอนาคตอันใกล้นี้นะครับ เพราะฉะนั้นคำถามที่ผมอยากทราบมากกว่าคือเศรษฐกิจจีนจะโตไปได้ถึงแค่ไหน? เพราะความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจย่อมส่งผลโดยตรงกับอิทธิพลที่จีนจะมีต่อโลกแล้วจริงๆ ทราบกันมั้ยครับว่าครั้งหนึ่งเศรษฐกิจจีนเคยมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมาก่อน

อัตราส่วนเศรษฐกิจโลก

ที่มา : ‘China, Europe and the great divergence’ by Stephen Broadberry, Hanhui Guan, and David Li, TED database, Maddison Database, Macquarie Research

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โลกในยุคก่อนช่วงปัจจุบันแบ่งเป็นหลายขั้วอำนาจมาโดยตลอด ไม่เหมือนในปัจจุบันที่มีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เป็นขั้วอำนาจเดียว unipolarity (ถึงแม้ว่าจะมีการถกเถียงว่าโลกได้เข้าสู่ยุคหลายขั้วอำนาจอีกครั้ง) ในปี 1400 เศรษฐกิจของจีนเพียงประเทศเดียวมีขนาดสัดส่วนใหญ่เป็น 30% ของเศรษฐกิจทั้งโลก โดยในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเศรษฐกิจของอังกฤษมีขนาดเพียงแค่ 1% ของโลกเท่านั้น ต่อให้เทียบกับยุคปัจจุบันซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจ (hegemony) เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังมีสัดส่วนอยู่ราวๆ ยี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ซึ่งยังน้อยกว่าจีนในยุคก่อนหน้าอยู่ดี

อย่างที่เรียนไปเบื้องต้นว่ามันเป็นการยากที่จะประเมินขนาดเศรษฐกิจของจีนหรือโลกก่อนปี 1400 เพราะหลักฐานต่างๆ ได้สูญหายไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม มีการประเมินจากหลายสำนักว่าก่อนปี 1400 หรือในช่วงยุคราชวงศ์ถังกับซ่งขนาดของเศรษฐกิจจีนอาจเคยมีขนาดถึงเกือบ 50% ของเศรษฐกิจโลกเลยทีเดียว (ผมไม่เจอ source ที่เชื่อถือได้ 100% นะครับเนื่องจากที่เรียนไปเบื้องต้นว่าหลักฐานต่างๆ หายากเต็มที) ทำให้ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจีนในอดีตถึงดูยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลกับเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมของหลากหลายประเทศทั่วโลก

ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน บทบาทของโลกถูกครอบงำจากตะวันตกและอเมริกามาโดยตลอด สังเกตได้จากหลักการการทำธุรกิจ ข้อตกลง ข้อกำหนด การศึกษา กติกามารยาทต่างๆ ที่ถูกกำหนดหรือชักจูงจากมหาอำนาจฝั่งตะวันตกทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่ออิทธิพลจีนเพิ่มมากขึ้นหลักการหรือแนวคิดที่เราเคยชินต่างๆ อาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะอย่าลืมนะครับว่าจีนมีวิธีคิดและวิธีปฎิบัติต่างๆ ที่ไม่ค่อยเหมือนโลกที่เราคุ้นชิน เมื่อวันหนึ่งที่จีนมีอำนาจมากพอ โลกและเราต่างหากที่ต้องปรับตัวเข้าหาจีน ถึงแม้ส่วนตัวผมรู้สึกว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่เศรษฐกิจจีนจะสามารถเติบโตจนมีส่วนแบ่งมากกว่า 30% ของเศรษฐกิจโลกได้อีกครั้ง แต่ผมก็มั่นใจว่าเศรษฐกิจของจีนจะยังเติบโตและยิ่งใหญ่กว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน สิ่งที่ประเทศเราต้องคำนึงคือ หากวันหนึ่งจีนสามารถก้าวขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่กับอเมริกาหรือตะวันตกได้ ประเทศเราจะเลือกข้างเข้ากับฝ่ายใด หรือจะคานอำนาจอย่างไร?

ถ้าเราย้อนดูตั้งแต่ช่วง ร.5 จนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าประเทศเราไม่เคยชนะประเทศมหาอำนาจได้ด้วยสงครามหรือการสู้รบเลยแม้สักครั้ง สิ่งเดียวที่เราทำได้ดีและทำให้ประเทศเราเป็นเอกราชมาโดยตลอดคือการถ่วงดุลอำนาจและการเลือกข้างที่เรามักจะทำได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสสมัย ร.5 การเลือกเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตรสมัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือกระทั่งการใช้เสรีไทยในการเจรจาเพื่อให้ไทยไม่ต้องเป็นประเทศผู้แพ้สงครามในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วันหนึ่งเมื่อจีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทิศทางของโลก ระบบธรรมเนียมต่างๆ คงเปลี่ยนไปพอสมควร ณ ตอนนั้น ประเทศเราควรจะถ่วงดุลอำนาจระหว่างตะวันตกและจีนอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นหากว่ามีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้นและบังคับให้เราต้องเลือกข้าง เราควรเลือกฝั่งใด? ตะวันตกหรือจีน? คงเป็นช่วงเวลาที่ผมอยากลองดูอีกสักครั้งว่าประเทศเราจะตัดสินใจอย่างไร ผู้อ่านทุกท่านล่ะครับคิดว่าอย่างไรกันบ้างครับ?.