ทวิตเตอร์เอาด้วย ลุยศึก “วิดีโอ” จับมือ เวิร์คพอยท์ – วัน แชมเปียนชิพ ถ่ายทอดสด

ร้อนแรงจริงๆ สำหรับออนไลน์ วิดีโอ หลังจากแพลตฟอร์มดังอย่าง เฟซบุ๊ก ส่ง Watch ให้บริการทั่วโลก พร้อมจับมือ วู้ดดี้ ออนแอร์รายการ ส่วนทวิตเตอร์ใช้ช่วงขาขึ้นควงเวิร์คพอยท์ วัน แชมเปียน ถ่ายทอดสดกีฬา

ไหนๆ ก็อยู่ในช่วงขาขึ้นโดยเฉพาะในประเทศไทย ทุบสถิติ มีผู้ใช้ทวิตเตอร์เติบโตมากที่สุดในโลก งานนี้จึงลุยขยายบริการวิดีโอ” ด้วยคน หลังจากพบว่าคนแห่ดูวิดีโอบนทวิตเตอร์มากขึ้น

Arvinder Gujral กรรมการผู้จัดการ ทวิตเตอร์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่า ทวิตเตอร์มีอัตราการเติบโตในไทยมากที่สุดในโลก ถึง 200% โดยกลุ่มผู้ใช้งานหลักของทวิตเตอร์ในไทยคือกลุ่มมิลเลนเนียล อายุ 16-34 ปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 68%

โดยทั่วโลกมีผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่เป็น Monthly Active Users (MAU) จำนวน 335 ล้านคนทั่วโลก ในขณะที่ช่วง 7 ไตรมาสหลังมานี้ ผู้ใช้ทวิจเตอร์ที่เป็น Daily Active Users (DAU) ทั่วโลก เติบโต 7-14%

ทวิตเตอร์จึงอาศัยจังหวะที่กำลังเติบโต ประกาศลงทุนในไทยเพิ่มเติม เลือกปักหมุดบุก “วิดีโอ” เพื่อรับกับกระแสวิดีโอที่กำลังร้อนแรง ด้วยสถิติ 96% ของมิลเลนเนียลในประเทศไทยรับชมวิดีโอผ่านมือถือ และการรับชมวิดีโอของคนไทยในทวิตเตอร์เติบโต 69%

ขณะที่ทั่วโลกรับชมวิดีโอทุกวัน 1.6 พันล้านครั้ง ถึงแม้จะเป็นยอดวิวที่น้อยกว่ายูทิวบ์ที่เป็นวิดีโอแพลตฟอร์มโดยตรงก็ตาม แต่การเติบโตของคนดูวิดีโอบนทวิตเตอร์กำลังไปได้ดี

เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ผู้บริหารทวิตเตอร์โชว์สถิติเกี่ยวกับพฤติกรรมรับชมวิดีโอในทวิตเตอร์นานกว่าแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม 3.5 เท่า โดย 50% ของคนที่ชมวิดีโอในทวิตเตอร์ จะรับชมอย่างน้อยเป็นระยะเวลาครึ่งหนึ่งของความยาววิดีโอนั้น ในขณะที่คนที่ชมวิดีโอในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมในระยะเวลาดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 15% และ 19% ตามลำดับ

ถ้าดูเม็ดเงินโฆษณาจากออนไลน์ วิดีโอของไทยเวลานี้ ทำได้ 791 ล้านบาท ครองสัดส่วน 5%

ดังนั้น สิ่งที่ทวิตเตอร์ต้องทำต่อไป คือ เน้นความหลากหลายของเนื้อหา รวมถึงการสร้างคอนเทนต์ไทย

จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์ไทย ถ่ายทอดสด และ in-stream video นำร่องโดย วัน แชมเปียนชิพ การแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (Mixed Martial Art : MMA)

ONE Championship รวมทั้งเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ เพื่อนำคอนเทนต์ รูปแบบไฮไลต์ คลิปจากรายการเพลงแบบเรียลลิตี้ เช่น รายการ The Mask Singer Project A และรายการ I Can See Your Voice มาปล่อยบนทวิตเตอร์

ทำตลาดผ่านทวิตเตอร์อย่างไรให้ได้ผล

ผู้บริหารทวิตเตอร์บอกด้วยว่า พฤติกรรมการใช้ทวิตเตอร์กับแพลตฟอร์มจะแตกต่างกันค่อนข้างมาก

คนส่วนใหญ่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารในเชิงความสัมพันธ์ (Relationship) กับคนใกล้ชิด เช่น ครอบครัว และเพื่อน มีความเป็นส่วนตัวสูงกว่า โดยจะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอง โพสต์ภาพสวยๆ ของตัวเอง เช่น ภาพถ่ายปลายเท้าขณะนอนเล่นริมชายหาดในวันพักร้อน เป็นต้น เป็นพฤติกรรมแบบ Look at me ดูฉันสิ ชีวิตของฉันดีงามแค่ไหน

แต่คนคนเดียวกันเมื่อใช้ทวิตเตอร์ จะสื่อสารแบบ #LookAtThis ชี้ชวนหรือบอกกล่าวให้คนอื่นได้รับรู้ข่าวคราว กระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเป็นเรื่องราวที่เขาสนใจและหลงใหล (Interest & Passion) ทำให้การใช้ทวิตเตอร์จึงแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่น โดยเน้นการค้นหาสิ่งใหม่ๆ และเปิดกว้างมากกว่า

ในแง่การตลาด ทวิตเตอร์เหมาะกับแบรนด์จะใช้สำรวจความสนใจหรือประเด็นที่กำลังเป็นที่พูดถึงในโลกโซเซียลอย่างมหกรรมกีฬาต่างๆ อย่างฟุตบอลโลก รวมถึงข่าวสาร การเมือง เทรนด์ ความบันเทิง วัฒนธรรม และภัยพิบัติต่างๆ

สร้างการมีส่วนร่วมหรือจดจำได้มากว่าในแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งที่คนจะไถหน้าจอไปมา หรือเป็น mindset แบบ Lean back”

นอกจากนี้ ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ยังเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนรอบข้าง 69% โดยมักจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการใหม่ๆ ให้กับครอบครัวและเพื่อนๆ ทำให้เกิด conversation นอกทวิตเตอร์ได้

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับทวิตเตอร์ในไทยก็คือ มีทั้งปรากฏการณ์ที่เป็น Imported Conversation

โดยยกเคส #MAMAwards2017 หรือรายการ 2017 Mnet Asian Music Awards  ที่แฟนๆ เค-ป็อปช่วยกันสร้างกระแสและช่วยกันโหวตให้ศิลปินเกาหลีใต้ที่ตัวเองชอบกว่า 48 ล้านทวีต ซึ่งมิลเลนเนียนชาวไทยทวีตกันหนักหน่วง และถือเป็นแฟนที่เหนียวแน่นของเค-ป็อปเป็นอันดับที่ 2 รองจากตลาดในเกาหลีใต้เอง

ส่วน #ThaiCaveRescue ภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง เป็น Exported Conversation มียอดทวีตเกือบ 3 ล้านทวีต ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น

ทำให้เวลานี้หลายแบรนด์เริ่มใช้ Twitter trend กันเยอะมากขึ้น โดยเฉพาะใช้เปิดตัวแคมเปญใหม่ๆ และสร้างกระแสที่เป็น Big idea

ยิ่งทุกวันนี้ทวิตเตอร์ปรับเปลี่ยนจำนวนตัวอักษรในการทวีตต่อครั้งจาก 140 ตัวอักษร เป็น 280 ตัวอักษร รวมถึงการเพิ่มอัตราการมองเห็นในแต่ละทวีต จากเดิมที่จะต้อง Retweet ถึงจะเห็น เปลี่ยนมาเป็นแค่กด Like ทำให้ทวิตข่าวสารแพร่หลายได้กว้างขึ้น

ธนาคาร-สื่อสาร ใช้เยอะสุด

สำหรับในไทยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทุ่มเม็ดเงินโฆษณากับทวิตเตอร์มากที่สุด คือ กลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน รวมถึงกลุ่มโทรคมนาคม เนื่องจากต้องการเข้าถึงกลุ่มมิลเลนเนียล ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้งานหลักของทวิตเตอร์ในประเทศไทย.