เถาเป่า เมคเกอร์ เฟสติวัล 2018 บิ๊กอีเวนต์ของบิ๊กไอเดียคนรุ่นใหม่ จาก Made in China สู่ Created in China

จากไทยใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง ก็มาถึงเมืองหังโจว ประเทศจีน เมืองนี้นอกจากจะมีทะเลสาบซีหู ที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังเป็นที่ตั้งสำนักงานอาลีบาบา กรุ๊ป ที่ผู้ก่อตั้ง แจ็ค หม่า เพิ่งประกาศวางมือในอีก 1 ปีข้างหน้า เพื่อเปิดทางให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ขึ้นรับตำแหน่งแทน

บริเวณด้านนอกงาน ทะเลสาบซีหู

ไฮไลต์ของการเดินทางมาหังโจวในครั้งนี้ คือการเยี่ยมชมงาน “เถาเป่า เมคเกอร์ เฟสติวัล 2018” หรือ TMF 2018 จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ระหว่างวันที่ 13-16 ก.ย. 61 ปีนี้ ณ ริมทะเลสาบซีหู หรือเวสต์เลค ถือเป็นการจัดงานกลางแจ้งเป็นครั้งแรก เพื่อต้องการสื่อสารถึงนวัตกรรมของคนชาวจีนให้เผยแพร่ไปทั่วโลก

วงดนตรีไร้คน

งานปีนี้ถือว่าเป็นงานใหญ่ของเถาเป่า เพราะมีผู้ร่วมแสดงกว่า 200 ราย ที่ผ่านการคัดเลือกจาก 2 พันราย ล้วนแต่เป็นคนรุ่นใหม่ วัยทีน เจ้าของกิจการขนาดเล็ก เจ้าของแบรนด์ ดีไซเนอร์ ผู้ผลิตเกมแอนิเมชั่น นักออกแบบแฟชั่น

คนเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นเจ้าของไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์ ค้าขายอยู่บนบนแพลตฟอร์มเถาเป่า ดังนั้นแทนที่จะอยู่แต่บนโลกออนไลน์ เถาเป่านำมาสู่โลกออฟไลน์ โดยจัดเป็นอีเวนต์ใหญ่ เถาเป่า เมคเกอร์ เฟสติวัลขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ผลงานออกไปทั่วโลก

หุ่นยนต์ ชงกาแฟ

อกจากช่วยกระตุ้นให้มีคนรุ่นใหม่ที่เป็นเจ้าของไอเดียแปลกใหม่ เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มของเถาเป่าได้ต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นการสะท้อนด้วยว่า จีนยุคนี้ไม่ได้เป็น “ผู้ผลิต” ตามออเดอร์อีกแล้ว แต่เป็นต้นกำเนิด “ไอเดีย” ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

คริส ต่ง ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด อาลีบาบา กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มงานเถาเป่า เมคเกอร์ เฟสติวัล และงานเทศกาลลดราคา 11.11 ที่โด่งดังไปทั่วโลก บอกว่า งานเถาเป่า เป็นอีเวนต์ที่ทำขึ้นให้กับผู้ที่เป็นเจ้าของไอเดียสร้างสรรค์ หรือเรียกว่า เมคเกอร์ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีความกล้าคิดกล้าทำสิ่งใหม่ๆ ได้เผยแพร่ผลงานไปยังกลุ่มคนอื่นๆ จึงทำให้เขาริเริ่มงานนนี้ขึ้นมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพื่อที่จะสร้างการรับรู้ใหม่ จาก Made in China มาเป็น Created in China

ในฐานะของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน จึงต้องสนับสนุนสร้างการรับรู้ ว่าจีนได้เปลี่ยนการเป็นผู้ผลิต มาสู่การเป็นผู้คิดค้นสินค้าใหม่ๆ ผ่านงาน เถาเป่า เมคเกอร์ เฟสติวัล

โดยเฉพาะสินค้าที่เป็น “ออริจินัล ดีไซน์” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนที่มองหาสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น มีบุคลิกที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งไตรมาส 4 ปี 2560 มีสินค้าที่เป็น “ออริจินัล ดีไซน์” กว่า 170 ล้านอย่าง

งานปีนี้ จึงแตกต่างจากสองปีทั้งเรื่องของการจัดงานกลางแจ้งเป็นครั้งแรก และความหลากหลาย ผสมผสาน ทั้งเรื่องของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เทคโนโลยี วัฒนธรรมจีน แฟชั่น สัตว์เลี้ยง

ภายในงานแบ่งออกเป็นโซน 11 ธีม เช่น Anime Zone นำเสนผลิตภัณฑ์ แอนิเมะ, การ์ตูน และเกม Marvelous Market นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจและเทคโนโลยี  Vintage Market ของโบราณหายาก, เถาเป่า มิวเซียม ย้อนความเป็นมา 15 ปี ของแพลตฟอร์มเถาเป่า

ขาดไม่ได้ คือ โซน Future Retail and Technology Museum สาธิตการใช้เทคโนโลยี Taobao Mixed-Reality (MR) เป็นฟีเจอร์สำคัญของปีนี้ โดยการใช้เทคโนโลยี มิกซ์-เรียลลิตี้ ที่พัฒนาร่วมกับไมโครซอฟท์ โดยใช้ virtual rendering AI และอุปกรณ์สวมใส่ และข้อมูลผู้บริโภคจากเถาเป่าที่เข้าถึงผู้บริโภค และความรู้ นำเสนอประสบการณ์ช้อปปิ้งของโลกอนาคต ซึ่งงานปีที่แล้ว เถาคาเฟ่ เป็นรูปแบบของคาเฟ่ที่ไม่ต้องใช้คนให้บริการสร้างความฮือฮามาแล้ว

ปีนี้ยังเพิ่มโซน Pet Market เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ของจีน นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยง  คอนเสิร์ตในธีมป่า หรือ ไนต์มาร์เก็ต นำร้านอาหารขึ้นชื่อของท้องถิ่นและบนเถาเป่ามาออกงาน และแฟชั่นโชว์ บนสะพานขาด Broken Bridge เพื่อนำเสนอผลงานของดีไซน์รุ่นใหม่ของจีน 20 ราย โดยจะไลฟ์สดทางออนไลน์ และให้สั่งซื้อสินค้าที่เห็นจากแฟชั่นโชว์ได้ทันที

คริส ต่ง ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการตลาด อาลีบาบา กรุ๊ป

คริส ต่ง บอกว่า ในอนาคตอาจจะมีการจัดอีเวนต์ในลักษณะนี้ในประเทศอื่นๆ ด้วย เหมือนอย่างที่11.11 กลายเป็นอีเวนต์ระดับโลก ซึ่งจะช่วยขยายการเติบโตอาลีบาบาไปยังประเทศต่างๆ

เป้าหมายของการจัดงานเถาเป่า ไม่ใช่เรื่องของรายได้หรือทรานแซคชั่น แต่ต้องการผลักดันให้คนเข้ามาใช้ชีวิตในเถาเป่าเพิ่มขึ้น และจะดียิ่งขึ้น หากได้พบกับสินค้าที่ไม่รู้มาก่อนว่าชื่นชอบมากๆ เพราะจะช่วยกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ๆ สร้างผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ ดึงดูดคนซื้อที่ชื่นชอบในแบบเดียวกัน กลายเป็น “คอมมูนิตี้” ที่จะผลักดันให้เถาเป่าเติบโต และมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนต่อไปได้

“จะเห็นได้ว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของกลุ่มนักคิดนักสร้างสรรค์มากขึ้น จากแค่ 1 พันรายเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ปีนี้เพิ่มเป็น 10 เท่า เป็นตัวเลขที่น่าตื่นเต้นมาก” คริส ต่ง บอก

สำหรับเถาเป่านั้น โดยอาลีบาบากรุ๊ปในปี 2546 เริ่มต้นจาการบริการแชท และเปิดให้ซื้อขายสินค้าออนไลน์เมื่อ 15 ปีที่แล้ว แต่ช่วงแรกสินค้ายังจำกัดเฉพาะกลุ่ม (นิช มาร์เก็ต) จนเมื่อมี “สมาร์ทโฟน” เข้ามามีบทบาท และอาลีบาบาได้พัฒนา “อาลีเพย์” แพลตฟอร์มชำระเงินขึ้นมา สร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้ กลายเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ “เถาเป่า”  ก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มโมบายคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ ปีที่ผ่านมามีมูลค่าซื้อขายสินค้า 25 ล้านล้านบาท

ฟาน เจียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ เถาเป่า มาร์เก็ตเพลส บอกว่า เถาเป่าเป็นแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสขนาดใหญ่ ที่มีคนจีนเข้ามาที่เถาเป่า 200 ล้านคนต่อวันโดย 1 ใน 7 ของคนจีนจะเข้าทุกวัน โดยใช้เวลากับเถาเป่าเฉลี่ย 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งอาจไม่ได้ซื้อสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่เข้ามาเพื่อหาคอนเทนต์ความรู้ และความบันเทิง

โดยใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำเสนอสินค้าเฉพาะบุคคล รวมถึงการใช้คอนเทนต์ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างคนซื้อและคนขาย เช่น ไลฟ์บรอดคาส รีวิวสินค้า อัพเดตแบบเรียลไทม์ ก็ยิ่งสร้างคอนเทนต์ให้น่าสนใจ ดึงดูดให้คนเข้ามา ช่วยผลักดันให้เถาเป่าเติบโตอย่างรวดเร็ว”

แต่หลายคนอาจสงสัย “เถาเป่า” กับ “ทีมอลล์” วางจุดยืนต่างกันอย่างไร เจียงบอกว่า เถาเป่า จะแพลตฟอร์มออนไลน์ “c 2 c” ให้คนทั่วไป หรือผู้ประกอบการรายย่อย ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง ในขณะที่ “ทีมอลล์” จะเน้นสินค้าที่มีแบรนด์เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว เช่น ท็อป 500 แบรนด์ดัง จะอยู่ในทีมอลล์

เถาเป่า จึงเป็นแพลตฟอร์มเถาเป่าในการขายของ ซึ่งเถาเป่าเมคเกอร์ เฟสติวัล เป็น เทศกาลสำคัญ ในการโปรโมตให้กับผู้ที่ผลิตสินค้าใหม่ๆ ออกมา

โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หลังยุคเจน Z เกิดหลัง ปี 1990-1995 เรียกว่า กลุ่ม “ACGN” ย่อมาจาก Animation-Comic-Game-Novel คนกลุ่มนี้จะชื่นชอบแอนนิเมชั่น การ์ตูน เกม นวนิยายเข้ามาในเถาเป่ามากขึ้นเพื่อเสนอขายสินค้า ดึงให้ผู้สนใจสินค้าเหล่านี้ตามเข้ามา จนกลายเป็น “คอมมูนิตี้” ที่มีบทบาท

คนกลุ่มนี้จะมีไลฟ์สไตล์แตกต่าง เช่น ชื่นชอบสัตว์เลี้ยง นิยมเลี้ยงสุนัข แมว ทำให้มีสินค้าที่เกิดจากผู้ที่หลงใหลในเรื่องเหล่านี้จริงๆ ออกมา

งานนี้เรียกว่า เป็นงานนำเสนอไอเดียคนรุ่นใหม่ที่หลากหลาย เทคโนโลยีนำมาใช้กับการช้อปปิ้งแห่งโลกในอนาคต และขาดไม่ได้คือเรื่องความสนุกสนานในการเข้าชมงาน เพื่อให้คนเข้าถึงง่ายๆ

ตามมาดูกันว่า ปีนี้จะมีร้านที่น่าสนใจอะไรบ้าง และนี่คือส่วนหนึ่งของร้านจำนวนมากในงาน

กระถางอัจฉริยะเดินหาแสง

Sattva Lab เจ้าของผลิตภัณฑ์ Smart Sun Flower Pot กระถางอัจฉริยะทานตะวัน

Xi Liu ซิว หลิว ผู้ร่วมก่อตั้งกระถางอัจฉริยะ

Xi Liu (ชี หลิว) วัย 26 ปี เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง จบมาจาก New York University เล่าว่า เธออยากจะนำเทคโนโลยีมาผสานกับศิลปะ จึงพัฒนากระถางทานตะวัน ที่วิ่งตามแสง เหมาะสำหรับคนปัจจุบันที่บางทีเลี้ยงต้นไม้ไว้แต่อาจจะไม่มีเวลาดูแล กระถางนี้จะมีเซ็นเซอร์ ทำให้มันวิ่งตามหาแสงแดด และอยู่ในสภาพที่เหมาะสม และยังมีแอปที่คอยเตือนว่า ต้นไม้หิวน้ำแล้ว เพื่อจะได้ไม่ลืมให้น้ำ ราคาในช่วงเริ่มต้น 1,000 หยวน สร้างโดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ เพิ่งเข้ามาขายในเถาเป่าเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง

Smart Future Robot  หุ่นยนต์ขนาดใหญ่ หัน เหลย CEO เล่าว่าเขาได้เริ่มธุรกิจเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยตอนแรกคิดว่าจะลองสร้างขึ้นมาเฉยๆ แต่พอเห็นงาน TMF จึงคิดว่าน่าจะใช้งานนี้เพื่อสร้างความรู้จัก

โดยต้องการเน้นขายให้กับธุรกิจที่ต้องการหุ่นยนต์ไปใช้เพื่อสร้างความน่าสนใจ และความบันเทิงให้ลูกค้าเช่นช้อปปิ้งมอลล์ช่วงแรกหุ่นยนต์ยักษ์ฯ วางขาย 15 ล้านหยวนเนื่องจากมีการลงทุนด้านงานวิจัยพัฒนาเยอะมาก แต่ในอนาคตหากมีการสร้างในจำนวนมากเพื่อเชิงพาณิชย์ราคาก็น่าจะลงต่ำกว่านี้

Machine Planet เริ่มต้นเมื่อปี 2012 มาจากความชื่นชอบส่วนตัวของผู้ก่อตั้งที่อยากได้หุ่นยนต์แต่ไม่มีเงินที่จะไปซื้อหุ่นยนต์แพงๆ จึงสร้างหุ่นยนต์เองโดยนำอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบเป็นหุ่นยนต์

โดยตอนแรกทำหุ่นยนต์ตั้งโชว์ จากนั้นในปี 2013 ก็เริ่มทำให้มีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น เริ่มจากทำหุ่นยนต์ที่เป็นที่ตั้งโทรศัพท์มือถือ แล้วก็ขยายไปสู่อย่างอื่น เช่น โคมไฟ นาฬิกา และล่าสุดตัวที่เป็นไฮไลต์ทำเพื่อนำเสนอในการจะเข้ามาแสดงในงานนี้คือเป็นหุ่นยนต์ที่เป็นลำโพงบลูทูธ โดยผลิตภัณฑ์ของเขามีสองแบบ คือ เป็นสินค้าสำเร็จรูป กับสินค้าที่เป็นชิ้นส่วนให้ไปต่อเองสำหรับคนที่ชอบ DIY

Fighting Robot  ซึ่งเริ่มต้นจากการมีรายการทีวีชื่อ KOB (King of Bots) ที่ให้คนเข้ามาแข่งขันบังคับหุ่นยนต์กัน ซึ่งมีคนเข้ามาแข่งขันราว 7.000 คนทั่วโลก ต่อมาได้รวมตัวกันเป็นสมาคมแล้วก็นำเสนอไอเดียการออกแบบหุ่นยนต์แบบต่างๆ ซึ่งหากมีศักยภาพมากพอก็จะมีการลงทุนทำออกมาเชิงพาณิชย์

AstroReality สร้างขึ้นเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว โดยผู้ก่อตั้งเคยทำงานที่ Adobe กว่า 10 ปี แล้วออกมาสร้างสตาร์ทอัพของตนเอง โดยนำ AR (Augmented Reality) เข้ามาใช้ในด้านการสำรวจอวกาศ

เริ่มด้วยการนำภาพถ่ายที่นาซ่าได้จากการการสำรวจวงโคจรรอบดวงจันทร์มาประกอบกับเทคโนโลยีพิมพ์สามมิติเมื่อใช้ App ดูจะเห็นสภาพภูมิประเทศที่มีอยู่ในดวงจันทร์ จากนั้นขยายไปสู่ระบบสุริยะ นอกจากนี้ก็ยังมีสมุดโน้ต ที่ใช้แอปส่องก็มีรายละเอียดปรากฏขึ้นบนภาพ ราคาประมาณ 100-150 หยวน ลูกโลกราคา 1,000 หยวน ระบบสุริยะราคาประมาณ USD120

San Zhao Xiu (ซาน เฉา เชี่ยว) ร้านกระเป๋าที่นำลวดลายตัวอักษร จากกลุ่มผู้หญิงของชนเผ่าคนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในแถบหูหนานใช้สื่อสารกันเองภายใน นำมาเป็นลวดลายบนกระเป๋า ซึ่งผู้ก่อตั้งที่มาจากเผ่าดังกล่าว ได้ริเริ่มทำขึ้น เพื่ออนุรักษ์ไว้ไม่ได้วัฒนธรรมนี้เลือนหายไป ราคาสินค้าอยู่ประมาณ 200 -300 หยวนขึ้นไปผู้ก่อตั้งที่มาจากเผ่านี้.