ก่อนจะเป็นของเล่นที่ฮิตจับใจคนทุกเพศทุกวัยทั่วโลกอย่างทุกวันนี้ บลายธ์เคยเป็นสินค้าที่ล้มเหลวขายไม่ออกจนทำเอาผู้ผลิตต้องเจ๊งปิดโรงงานไปในแค่ปีเดียวเมื่อสามสิบปีก่อน แต่ด้วยความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของสาวน้อยตาโตผมสวย แต่งตัวแฟชั่นจ๋าของเธอ ทำให้มากลับบูมได้อย่างยิ่งใหญ่ในที่สุด
Blythe หรือ “บลายธ์” ยุคแรกถูกออกแบบและวางจำหน่ายในปี 1972 (พ.ศ.2515) โดยโรงงานผลิตของเล่น Kenner ในสหรัฐฯ ได้ว่าจ้างนักออกแบบของเล่นคือ Allison Katzman จาก Marvin Glass & Associates หนึ่งในสตูดิโอออกแบบของเล่นที่มีชื่อเสียงให้ออกแบบของเล่นเป็นตุ๊กตาเด็กผู้หญิงตาโต ซึ่งแต่งตัวทำผมได้ และมีเอกลักษณ์ความแตกต่างออกมาเป็น 4 แบบ ชื่อ Blythe, Karess, Willow และ Skye ซึ่งแต่ละตัวมีทรงผมยอดฮิตในยุค 70’s ต่างทรงกันไป และแต่งตัวไม่เหมือนกัน มีเสื้อผ้าให้เลือก 12 ชุดซึ่งจะสลับจัดชุดเปลี่ยนกันไปมาได้ตามประสาสาวน้อยแต่งตัวเก่ง
ปี 1972 Blythe ของ Kenner ถูกส่งขายไปทั่วโลก เช่นที่อังกฤษโดยบริษัท Palitoy, ออสเตรเลียโดยบริษัท Toltoys และที่ญี่ปุ่นโดยบริษัท Tomy ในชื่อ AiAi Chan อ่านออกเสียงว่า “ไอ ไอ จัง”
การโปรโมตบลายธ์นั้นลงทุนถึงขนาดใช้โฆษณาโทรทัศน์ ชูจุดเด่นที่เปลี่ยนสีตาได้ 4 สี เขียว ชมพู ส้ม และน้ำเงิน โดยดึงห่วงที่อยู่หลังศีรษะ แถมเพิ่มเทคนิคด้วยการให้ตุ๊กตามองซ้าย มองขวา มองตรงได้ด้วยการกระตุกเชือก แต่ว่าจุดเด่นกลับกลายเป็นจุดตายเมื่อเด็กๆ กลัวสีตาที่แปลกประหลาด บลายธ์รุ่นดั้งเดิมนี้จึงล้มเหลวทางยอดขาย กลายเป็นสินค้าลดราคาล้างสต๊อกเหลือแค่ตัวละ 3.5 เหรียญสหรัฐ ต่อมาก็ถูกเหมาถูกๆไปเป็นของแถมพ่วงตุ๊กตาตัวอื่น และในที่สุดก็ต้องหยุดขายและปิดโรงงานลงในระยะเวลาแค่ 1 ปีหลังเปิดตัวเท่านั้น
แต่ในปี 2001 หรือ 30 ปีต่อมา น้องบลายธ์ก็กลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง เพราะมีหญิงสาวสาวชาวอเมริกันโปรดิวเซอร์รายการทีวีที่ชื่อ Gina Garan ได้ตุ๊กตาบลายธ์เป็นของขวัญจากเพื่อนแล้วเกิดหลงใหลน้องบลายธ์จนถึงกับพาเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวรอบโลกด้วยกัน ตลอดทางนั้นก็ให้น้องบลายธ์เป็นนางแบบให้เธอหัดถ่ายรูปเก็บไว้กว่า 100 รูปแล้วนำมารวมเล่มตีพิมพ์เป็นหนังสือ “This is Blythe” สวยน่ารักจนสร้างเซอร์ไพรส์ขายได้กว่าหมื่นเล่ม ต่อด้วยการจัดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายที่ส่งให้ Gina’s Gallery โด่งดัง
หลังจากนั้น Gina กับโปรดิวเซอร์ชาวญี่ปุ่นชื่อ Junko Wong ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการเกี่ยวกับ Blythe ขึ้นหลายครั้ง เป็นที่สนใจของวงการแฟชั่น แต่ละงานมีดีไซเนอร์ฝีมือดีของห้องเสื้อแบรนด์เนมดังจากทั่วโลกไม่ว่า Prada, Gucci, Vivienne Westwood, Issey Miyake, Versace และอีกมากมายมาร่วมกันออกแบบเสื้อผ้าให้ Blythe เป็นนางแบบ
แม้ “เจ๊ดัน” อย่างสาว Gina จะทำให้น้องบลายธ์กลับมาดังได้ แต่เบื้องหลังสำคัญที่สุดที่ทำให้บลายธ์ฮิตติดตลาดโลกทุกวันนี้คือบริษัทของเล่นในญี่ปุ่นที่ชื่อ Takara CWC ที่เห็นโอกาสทางธุรกิจ ลงทุนซื้อลิขสิทธิ์บลายธ์ไปผลิตที่ญี่ปุ่นในชื่อ Neo-Blythe ภายใต้แบรนด์ Takara โดยแปลงโฉม Blythe ให้ตัวใหญ่ขึ้นเป็น 11 นิ้ว โปรโมตด้วยการผลักดันให้เป็นนางเอกโฆษณาทีวีให้ห้างสรรพสินค้าดัง Parco จนสินค้า Neo-Blythe บนเว็บขายสินค้าของ Yahoo หมดเกลี้ยงสต๊อกถึง 4 ครั้งติดต่อกัน
ความสำเร็จครั้งนี้เริ่มที่รุ่น “Parco Limited Edition” ตามชื่อห้างสรรพสินค้า ซึ่งผลิตออกขายแค่ 1,000 ตัวแล้วก็ขายหมดเกลี้ยงในเวลาไม่ถึงชั่วโมง เป็นต้นแบบกลยุทธ์การตลาดแบบ “Limited Edition” ที่บลายธ์ใช้ตลอดมาถึงทุกวันนี้ จากนั้นตามมาด้วยรุ่นต่างๆ คือ Mondrian, Rosie Red, Holly Wood, All Gold in One, Kozy Kape inspired, Aztec Arrival, Sunday Best และ Miss Anniversary Blythe เพื่อฉลองวันเกิดครบรอบ 1 ปีของ Neo Blythe
จากนั้นก็มีการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ด้วยการออก “Petite Blythe” ตัวเล็กเพียง 4 นิ้วครึ่ง และตามมาด้วย “Blythe Belle” ทำจากพีวีซีตัวแค่ 3 นิ้วเท่านั้น ซึ่งทั้ง 2 รุ่นนี้ก็โด่งดังเป็นที่นิยมพกพาความน่ารักอย่างสะดวกง่ายดายไปได้ทุกที่แบบที่ตัวใหญ่ให้ไม่ได้
ปีต่อมาคือ 2003 ก็เปิดตัว “Excellent Blythe” ที่มีรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับฉบับดั้งเดิมของ Kenner มากขึ้นสอดรับกับที่ตำนานเรื่องราวต้นกำเนิดบลายธ์เป็นที่สนใจพูดถึงไปทั่วโลก และหลังจากนั้น Takara ก็ออกบลายธ์แบบต่างๆ มาอย่างรวดเร็ว มีการแต่งลูกตาให้แวววาว ปรับพื้นผิวหน้าให้อ่อนนุ่ม เปลี่ยนสีผิวให้มันวาวขึ้น แต่งเปลือกตาให้ชัดขึ้น และปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ ตลอดมาถึงทุกวันนี้
ส่วนบลายธ์ดั้งเดิมของ Kenner ที่ล้มเหลวไปเมื่อ 30 ปีก่อน กลายเป็นของหายาก แม้ตัวจะเริ่มเหลืองดูโทรม แต่แพงขึ้นหลายเท่า คิดเป็นเงินไทยตั้งแต่ 2 ถึง 6 หมื่นบาทตามสภาพ และหากยังอยู่ในกล่องไม่เคยแกะ ราคาไปถึงแสนกว่าบาท นักสะสมหลายคนสรุปว่านอกจากความเก่าคลาสสิกแล้ว บลายธ์รุ่นดั้งเดิมนั้นมีความพิเศษที่บลายธ์ปัจจุบันไม่มี คือผิวหน้าขาวใสอมชมพูเรืองแสงเล็กน้อย เพราะเม็ดพลาสติกที่ใช้ในอดีตและวิธีผลิต หรืออาจเพราะกาลเวลายาวนาน ซึ่งบลายธ์รุ่นปัจจุบันยังไม่เคยทำได้เหมือนในจุดนี้
TIMELINE (แป๋งช่วยทำเป็นเส้นไทม์ไลน์ด้วยครับ)
ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515)
– โรงงานผลิตของเล่น Kenner ในสหรัฐฯ ได้ว่าจ้างนักออกแบบของเล่นคือ Allison Katzman จาก Marvin Glass & Associates ให้ออกแบบของเล่นเป็นตุ๊กตาเด็กผู้หญิงตาโต ซึ่งแต่งตัวทำผมได้ และมีเอกลักษณ์ความแตกต่างออกมาเป็น 4 แบบ ชื่อ Blythe, Karess, Willow และ Skye
ค.ศ. 1973
– ล้มเหลวทางยอดขาย กลายเป็นสินค้าลดราคาล้างสต๊อกเหลือแค่ตัวละ 3.5 เหรียญสหรัฐ ต่อมาก็ถูกเหมาถูกๆไปเป็นของแถมพ่วงตุ๊กตาตัวอื่น และในที่สุดก็ต้องหยุดขายและปิดโรงงานลงในระยะเวลาแค่ 1 ปีหลังเปิดตัวเท่านั้น
ค.ศ. 2001
– หญิงสาวสาวชาวอเมริกันโปรดิวเซอร์รายการทีวีที่ชื่อ Gina Garan ได้ตุ๊กตาบลายธ์เป็นของขวัญจากเพื่อน แล้วถ่ายรูปเก็บไว้กว่า 100 รูปตีพิมพ์เป็นหนังสือ “This is Blythe” ขายได้กว่าหมื่นเล่ม แล้วจัดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายที่ส่งให้ Gina’s Gallery โด่งดัง
– บริษัทของเล่นในญี่ปุ่นที่ชื่อ Takara CWC ที่เห็นโอกาสทางธุรกิจ ลงทุนซื้อลิขสิทธิ์บลายธ์ไปผลิตที่ญี่ปุ่นในชื่อ Neo-Blythe ภายใต้แบรนด์ Takara ขายบน Yahoo หมดเกลี้ยงสต๊อกถึง 4 ครั้งติดต่อกัน
ค.ศ. 2002
– Gina กับโปรดิวเซอร์ชาวญี่ปุ่นชื่อ Junko Wong ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการเกี่ยวกับ Blythe ขึ้นหลายครั้ง เป็นที่สนใจของวงการแฟชั่น แต่ละงานมีดีไซเนอร์ฝีมือดีของห้องเสื้อแบรนด์เนมดังจากทั่วโลกไม่ว่า Prada, Gucci, Vivienne Westwood, Issey Miyake, Versace และอีกมากมายมาร่วมกันออกแบบเสื้อผ้าให้ Blythe เป็นนางแบบ
– “Petite Blythe” ตัวเล็กเพียง 4 นิ้วครึ่ง ออกวางตลาด และตามมาด้วย “Blythe Belle” ทำจากพีวีซีตัวแค่ 3 นิ้วเท่านั้น
ค.ศ. 2003
– เปิดตัว “Excellent Blythe” ที่มีรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับฉบับดั้งเดิมของ Kenner มากขึ้น แต่งลูกตาให้แวววาว ปรับพื้นผิวหน้าให้อ่อนนุ่ม เปลี่ยนสีผิวให้มันวาวขึ้น แต่งเปลือกตาให้ชัดขึ้น
ค.ศ. 2004 – ปัจจุบัน
บลายธ์รุ่นใหม่ๆ ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ส่วนดั้งเดิมของ Kenner ที่ล้มเหลวไปเมื่อ 30 ปีก่อน กลายเป็นของหายาก แพงขึ้นหลายเท่า