แอคเซสเซอรี่เงินสะพัด

เพราะไม่ใช่ของเล่นที่ซื้อมาตั้งวางแล้วจบ เสน่ห์ของตุ๊กตาบลายธ์อยู่ที่ออปชั่นเสริม สามารถการแต่งตัว แต่งหน้าเพิ่มได้ตลอดเวลา เป็นสินค้าไม่หยุดนิ่ง มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลาส่งผลให้มีเจ้าของธุรกิจรายย่อยผลิตแอคเซสเซอรี่บลายธ์ เช่น กระเป๋า เสื้อผ้า เกิดขึ้นในตลาดมากมาย และกลายเป็นธุรกิจทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ

ควบสองช่องทางแบบ

เนส ชฎารัตน์ แท่งทอง นักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบด้านแฟชั่นดีไซน์มาหมาดๆ จากรั้วสวนสุนันทา เธอเห็นบลายธ์ครั้งแรกจากภาพถ่ายใน flickr.com รู้สึกว่าตุ๊กตามีชีวิต มีอารมณ์ น่าหลงใหล และเก็บเงินซื้อบลายธ์ตัวแรกตอนเรียนชั้นปีที่ 2 สองเดือนผ่านไป เนสนำแพตเทิร์นพื้นฐานเสื้อผ้าคนมาดัดแปลง เลือกซื้อผ้า แล้วนำมาตัดเย็บชุด รีดชุด แพ็กใส่ถุง เย็บป้ายแบรนด์ และนำไปขายเองทุกวันศุกร์ ในงานอินดี้อินทาวน์ ที่เซ็นทรัลเวิลด์

การซื้อขายแบบเห็นหน้าค่าตา ได้เจอลูกค้าและพูดคุยแลกเปลี่ยนกันโดยตรง ทำให้ผู้ขายได้รับความไว้วางใจจากผู้ซื้อ ต่อมาเนสวางขายชุดบลายธ์บนเว็บ ได้รับการตอบรับดีทั้งจากลูกค้าเก่าและใหม่ และเกิดการบอกต่อ (Viral Marketing)

ในหนึ่งเดือน เนสจะออกแบบเสื้อผ้าบลายธ์ 2 เซต เซตละ 10 แบบ ตัดเย็บแบบละประมาณ 10 ตัว มากน้อยขึ้นอยู่กับการสั่งจองผ่านเว็บ จากนั้นจะนำไปวางขายในงานอินดี้อินทาวน์ ฟอรั่มใน blythethailand.com และเว็บไซต์ส่วนตัว netsepia.multiply.com ซึ่ง Social Networking ช่วยสร้างคอมมูนิตี้ให้เนส เพื่อน และลูกค้าที่ชื่นชอบบลายธ์เหมือนกัน มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนัดเจอเพื่อถ่ายรูปกันบ้างตามสวนสาธารณะ

เมื่อมีคนรู้จักมากขึ้น ปริมาณการสั่งสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เนสจึงคิดสร้างแบรนด์เสือผ้าบลายธ์ Netsepia คือแบรนด์ที่เนสสร้างขึ้น

“อยากให้คนรู้จักว่านี่เป็นแบรนด์ของเรา ลูกค้าส่วนใหญ่อยากดูของจริง การมีหน้าร้าน มีสังคมให้ที่คนเล่นมาเจอกัน เอาตุ๊กตามาเล่นกัน นอกจากจะแบ่งปันความสุขกันได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มคอนเนกชั่นและส่งเสริมการขายได้ และแต่ละเดือนทำรายได้ให้กับเนสในหลักหมื่น”

การซื้อสินค้าที่อินดี้อินทาวน์และซื้อผ่านเว็บไซต์ ทำรายได้ให้เนสได้ 50:50 โดยราคาขายนั้นมีตั้งแต่ 50-1,000 บาท และลูกค้ามักจะซื้อสินค้าครั้งละ 5 ชุดขึ้นไป

การทำตลาดบนเว็บไซต์จำเป็นต้องสร้างคอมมูนิตี้เพื่อส่งเสริมยอดขายให้มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง พอมีคู่แข่งเยอะ ทางเลี่ยงที่เธอจะเดินต่อคือ ตัดชุดที่ใส่ได้จริงทั้งคนทั้งตุ๊กตา ทำให้ตุ๊กตาได้ใกล้ชิดและมีความผูกพันกับเจ้าของมากขึ้น

ก่อนออกแบบเนสสังเกตจากภาพในเว็บทั่วไป ดูตามนิตยสาร หรือดัดแปลงจากชุดคน ภายใต้คอนเซ็ปต์หวาน เปรี้ยว เท่
อีกด้านที่ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับเนสและแบรนด์ได้ไม่น้อยคือ การประกวดเกี่ยวกับบลายธ์ที่เนสเข้าร่วม 4 ครั้ง เธอกวาดรางวัลทุกครั้ง ทั้งรางวัล คำติชม และกำลังใจที่ได้รับจากคอมมูนิตี้เป็นบททดสอบว่าเธอมีความสามารถมากแค่ไหน

รางวัลที่เนสเคยได้รับ
– ประกวดชุดบลายธ์บนเว็บไซต์ ichigoheaven.com และได้รับรางวัลที่ 3
– ส่งภาพสเกตแนว Winter เข้าประกวด Doll Mania ของเซ็นทรัล พระราม 3 เมื่อเข้ารอบได้ตัดเย็บเป็นชุดคนกับชุดตุ๊กตา และได้รางวัลชมเชย
– ประกวดโลโก้เว็บ moneadolly.com และได้รับรางวัลชนะเลิศ
– ประกวด 4th Blythe Beauty Contest 2009 กับ blythedoll.com ภายใต้ทีม Love Creation ตุ๊กตาบลายธ์ที่ส่งประกวดชื่อ Cordelia ผลตัดสินดูจากคะแนนโหวต และได้รับรางวัลที่ 2

Blythe Beauty Contest 2009 เป็นการประกวดในระดับ World Wide ธีมการแข่งขันในปีนี้คือฤดูกาล ซึ่ง Love Creation ทีมที่มีเนสรับหน้าที่ออกแบบเสื้อผ้าได้เลือกฤดูใบไม้ผลิ โทนสีที่เนสคิดคือชมพู โอโรส ขาว ครีม ตามช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ญี่ปุ่นซึ่งมีดอกซากุระเบ่งบาน ออกแบบชุดในสไตล์โลลิต้า โดยมีสิ่งที่เธอเสริมให้เข้ากับชุด ได้แก่ ที่คาดผม เสื้อคลุม โบผูกคอ

เสื้อผ้าบลายธ์เป็นธุรกิจเล็กๆ ที่เนสวางไว้เป็นงานอดิเรก จะตัดเย็บชุดให้ตุ๊กตาตัวอื่นหรือไม่เธอต้องดูกระแสต่อไป และมองว่าการจะออกแบบชุดได้นั้น ต้องเข้าไปคลุกคลี สร้างคอมมูนิตี้ให้กับตุ๊กตาตัวนั้นๆ ก่อน จะได้รู้ว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร จึงจะทำขายได้

ยอดขายจากเว็บ
blythethailand.com 70%
netsepia.multiply.com 30%

เสื้อผ้าบลายธ์ ธุรกิจที่เด็กทำได้

เด็กสาววัย 14 ที่เคยจับบาร์บี้แต่งตัว นพพรรณ พรวนสุข หรือ น้องไข่มุก ปันใจให้กับตุ๊กตาบลายธ์ทันทีเมื่อน้าอี๊ด เพื่อนแม่ที่เป็นเจ้าของร้านขายตุ๊กตาแนะนำน้องหัวโตให้รู้จักตั้งแต่อยู่ ป.5 แต่ของเล่นมีมูลค่าและต้องการการดูแล กว่าไข่มุกจะได้ครอบครองก็ตอนที่เรียนชั้น ม.2 และเริ่มเล่นจากตัวที่ถูกที่สุด

แอคเซสเซอรี่ที่แต่งให้บลายธ์ในตอนแรก ได้แก่ วิกกับเสื้อผ้าที่ผู้ใหญ่ซื้อให้ ต่อมาน้า น้องแม่ ซึ่งเป็นดีไซเนอร์ได้แนะให้ไข่มุกลองออกแบบเสื้อผ้าบลายธ์ แบบแรกที่ได้ทำคือ เสื้อยืด ใช้เวลาออกแบบนาน 3 สัปดาห์ในช่วงปิดเทอม จากการทำเสื้อยืด 50 ตัว ขายส่งเสื้อยืดตัวขายส่งละ 55 บาท ทำให้ไข่มุกได้เงินกินขนมครั้งแรก 1,000 บาท

ความฝันที่อยากเป็นดีไซเนอร์เพราะคนใกล้ชิด ธุรกิจโรงงานเย็บผ้าของที่บ้าน และการเลี้ยงดูแบบมีอิสระทางความคิด ผลักดันให้ไข่มุกกล้าคิดกล้าทำ และมองการออกแบบเสื้อผ้าบลายธ์อย่างมีแบบแผน และเห็นโอกาสทางธุรกิจ เช่น มีคนเห็นเสื้อผ้าแล้วขอแยกไปขาย 10 ชุด ไข่มุกก็จะคิดราคาแพงกว่าที่ขายให้ร้านน้าอี๊ดเล็กน้อย

จากการผลิตเสื้อยืดเมื่อปีที่แล้ว กระบวนการออกแบบและผลิตใช้เวลาสองอาทิตย์เสร็จหนึ่งแบบ คือออกแบบแล้วส่งไปทำแพตเทิร์นตัดเย็บที่โรงงาน 2 วัน ได้ 40-60 ชุด ตอนนี้ไข่มุกทำได้เดือนละ 3 แบบ แบบละ 30-40 ชุด บางชุดเพิ่มมูลค่าจากการที่มีคนนำไปขายต่อในห้างระดับพรีเมียม เช่น พารากอน เช่น ชุดราคา 600 บาท พอเปลี่ยนสถานที่ขาย ราคาสูงขึ้นเป็น 1,000 บาท

ไข่มุกจะรีดและแพ็กใส่ถุงเองทุกชุด ตอนแรกแพ็กเกจจิ้งเป็นถุงพลาสติกธรรมดา พอใส่ชุดบลายธ์แล้วก็ไหลไปกองรวมกันที่ก้นถุง ไข่มุกจึงทำแพ็กเกจจิ้งใหม่แบบง่ายๆ โดยกรีดกระดาษแข็งให้พอดีกับชุดและแอคเซสเซอรี่อื่น (ถ้ามี) ล็อกชุดให้อยู่กับที่และดูดีขึ้น ส่วนราคาชุดจะคิดจากต้นทุน โดยมีแม่ช่วยดูแล

ไข่มุกออกแบบเสื้อผ้าแล้วส่งร้านน่าอี๊ดช่องทางเดียว ไอเดียเรื่องออกแบบชุดจึงมีทั้งที่คิดขึ้นเองและน้าอี๊ดเสนอ เช่น อยากได้ชุดที่แปลกขึ้น ซึ่งการออกแบบทุกชุดจะเกิดจากความชอบของไข่มุกก่อน

สไตล์เสื้อผ้าของบลายธ์เวลานี้ แบบโบฮีเมียน, โลลิต้าที่มีลักษณะหรูๆ ฟูๆ และแฟนซีกำลังมาแรง

สถานที่หลักๆ ที่ดีไซเนอร์ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ต้องไปเป็นประจำ คือ “สำเพ็ง” แหล่งค้าส่งผ้า ที่ไข่มุกมักจะไปเลือกหาซื้อผ้า เพื่อนำมาตัดเย็บตามแบบ จากนั้นวันอาทิตย์จะนำสินค้าไปส่งที่ร้าน นำตุ๊กตาบลายธ์ใส่ชุดใหม่ไปให้ลูกค้าดู และรับออเดอร์กลับมาทำต่อ

เมื่อมีคู่แข่งมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือ การตัดราคาโดยไม่ได้ใส่ใจกับคุณภาพชิ้นงานเท่าที่ควร ทางออกของไข่มุกออกแบบชุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าติดตามแบบใหม่ๆ เป็นกลยุทธ์ดึงความสนใจจากลูกค้า สร้างลูกค้าขาประจำ

“คู่แข่งมีเยอะก็ต้องรีบทำ ไม่อย่างนั้นจะแย่ ก็รู้อยู่แล้วว่า ความนิยมอาจจบลง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเมื่อไหร่ เวลานี้ก็มีตุ๊กตาตัวอื่นๆ เข้ามาขายมากขึ้น ส่วน BJD ราคาแพง ก็เลยยังค่อยไม่สนใจ ตอนนี้ที่ทำอยู่ขอแค่ขายได้ อยู่ในเทรนด์ และไม่เว่อร์เกินไปที่จะซื้อใส่ได้” ไข่มุกพูดถึงมุมมองทางการตลาดที่ไม่ได้ศึกษาจากตำราใดๆ

ทุกวันนี้ ไข่มุกจะมีรายได้ จากการทำเสื้อผ้าให้ตุ๊กตาบลายธ์ ถ้าขายส่งครั้งหนึ่งได้ 20,000 กว่าบาท ไข่มุกจะได้ 30% จากยอดขาย หรือประมาณ 6,000 กว่าบาท ซึ่งเงินสะสมในบัญชีจากธุรกิจเสื้อผ้าบลายธ์ ทำให้ไข่มุกมีเงินเก็บเกือบ 60,000 บาท
ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง หรือเพื่อนในวัยเดียวกับไข่มุกหลายคนก็เล่นตุ๊กตาบลายธ์ คอมมูนิตี้ของไข่มุกจึงเกิดขึ้นระหว่างเพื่อนฝูง คนรู้จัก เธอไม่เคยข้องเกี่ยวกับ Social Networking จึงยังไม่ได้คิดเรื่องการทำตลาดกับนิวมีเดีย (New Media)

นอกจากเสื้อผ้า ไข่มุกฝึกคัสตอมตุ๊กตาบลายธ์ได้บ้างแล้ว แม่ของเพื่อนไข่มุกบางคนก็ซื้อตุ๊กตาบลายธ์ไว้เก็งกำไร เพราะเห็นว่ายิ่งเก่ายิ่งแพง ซึ่งราคาขายอย่างต่ำก็มักจะได้ 2,000-6000 บาท ต่อตัว และถ้าแอคเซสเซอรี่เยอะก็จะยิ่งแพง เช่น ไวโอลิน หูกระต่าย เป็นต้น

แอคเซสเซอรี่
ทำให้งานอดิเรก = งานประจำ

Blythe Accessories from Positioning Magazine on Vimeo.

คนรักตุ๊กตาบลายธ์ยังเปลี่ยนอาชีพ ฟั้น ธันยธรณ์ ศิวานุเคราะห์ อดีตช่างภาพสาวประจำนิตยสาร Shape, สุดสัปดาห์, LIP LUXE เจอภาพตุ๊กตาบลายธ์เที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต เห็นว่าน่ารักดีจึงสั่งซื้อตุ๊กตาทางอินเทอร์เน็ต
3 ปีที่แล้ว เสื้อผ้าบลายธ์ที่วางขายในอินเทอร์เน็ตมีราคาแพง คนไทยยังไม่ค่อยได้ซื้อขาย ฟั้นจึงสั่งซื้อเสื้อผ้าเข้ามาเพื่อศึกษาแพตเทิร์น และให้น้าที่เป็นช่างเย็บผ้าช่วยถอดแบบให้ ฟั้นออกแบบชุดเพื่อเปลี่ยนให้ตุ๊กตาแบบสนุกๆ แต่ปีที่แล้วเมื่อตุ๊กตาบลายธ์บูม แอคเซสเซอรี่ทั้งหลายเป็นที่ต้องการของตลาด ฟั้นเริ่มจากวาดแบบให้น้าดู บอกความต้องการของลักษณะเนื้อผ้าและสี แล้วให้น้าช่วยเย็บ จากนั้นวางขายสินค้าใน ebay.com, blythethailand.com, funtland.com และเปิดเว็บไซต์ tinything.com เพิ่มอีกหนึ่งช่องทางหนึ่ง เมื่อธุรกิจเล็กๆ เลี้ยงชีพได้ ฟั้นจึงลาออกจากงานประจำแล้วมาออกแบบเสื้อผ้าให้บลายธ์เต็มตัว

ยอดขายจากเว็บ
-ebay.com 50%
-blythethailand.com 20%
-tinything.com 20%
-funtland.com 10%

ลูกค้าค่อนข้างครอบคลุมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่หลักๆ แล้วจะมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป โดยในส่วนของ ebay.com ลูกค้าต่างชาติจะสั่งซื้อและมีเข้ามาต่อเนื่อง ตอนนี้ชุดที่กำลังได้รับความนิยม ได้แก่ ชุดฟูๆ เลื่อมๆ มีลูกปัดหรือคริสตัล ชุดราตรี เพราะความชื่นชอบตุ๊กตาของชาวต่างชาติจะกินระยะเวลานาน แต่สำหรับคนไทยไม่นานก็เลิกเล่น ทำอะไรตามกระแส

การออกแบบจะเป็นตามที่ดีไซเนอร์ชอบและพึงพอใจ ราคาต่ำสุดต่อชุดคือ 290 บาท สูงสุดเกือบ 1,000 บาท ไอเดียมาจากแฟชั่นบ้าง ดูจากหนังสือบ้าง เสื้อผ้าคนที่เดินสวนกันบนท้องถนนบ้าง ฟั้นบอกว่าเธอเคยเล่นบาร์บี้และออกแบบชุดให้บาร์บี้มาก่อน ตอนนี้ก็ยังมีสั่งกันอยู่ แต่เลิกรับแล้วเพราะผลิตเสื้อผ้าให้บลายธ์ไม่ทัน

เดือนหนึ่งฟั้นจะออกแบบเสื้อผ้าได้ 2 เชต เซตละ 10 แบบ รวมแล้ว 20 แบบต่อเดือน และสามารถตัดเย็บได้ 30 ชุดเป็นอย่างน้อย รวมการผลิตทั้งหมดแล้วมีประมาณ 70 แบบ นับได้ 900-1,000 ชุด หน้าที่หลักของฟั้นคือ เย็บกระดุม แพ็กลงถุง และฝากขาย นอกจากนี้ยังรับทำตามออเดอร์ 12 ชุดขึ้นไป

ฟั้นออกแบบเสื้อผ้าให้ลาติดอลล์และ BJD ด้วย แต่ไม่มากนัก ราคาขายต่ำสุดชุดละ 390 บาท เหตุที่ยังไม่ลงลึกเพราะเธอมองว่า ตลาดบลายธ์ยังโตได้อีกปีหรือสองปี หลังจากนั้นสเกลของคนเล่นจะน้อยลง เหลือคนที่เล่นจริงเท่านั้นที่อยู่ได้นาน การขยับตัวจึงต้องสังเกตตลาดต่อไป

“นักออกแบบแต่ละคนจะมีแนวของใครของมัน เสื้อผ้าของฟั้นจะเน้นว่าดูเด็กๆ ใส่สบาย และมีแนวโลลิต้าหลายชุด เราขายผ่านเว็บไซต์เป็นหลัก ยิ่งทำบ่อยยิ่งได้เยอะ ตอนนี้รายได้อยู่ในหลักหมื่นแล้ว จะขายดีต้องทำ PR เยอะๆ ราคาไม่แพงเกินไปก็จะอยู่ได้ การจะขายของบนเว็บให้ได้ดีต้องขยันโพสต์ อยู่เฉยๆ ไม่มีใครรู้จัก”

เมื่อก่อนฟั้นเปิดร้านขายเสื้อผ้าให้คนทั่วไปที่จตุจักร เมื่อเสื้อผ้าคนไปไว ตามไม่ทัน ก็เลยหันมาเล่นเว็บไซต์ สร้างแบรนด์ funtland ให้เสื้อผ้าบลายธ์ ต่อยอดด้วยกิ๊บ ที่คาดผม ดูซื้อของสำเร็จรูปมาแต่งเพิ่ม เกิดการขายแบบจัดเซ็ต สิ่งเหล่านี้ช่วยต่อยอดธุรกิจได้อีกมาก

เสื้อผ้าของฟั้นจะสวมใส่ง่ายๆ สบายๆ โทนสีเสื้อผ้าจะเน้นสีหวาน เช่น ขาว ชมพู ฟ้า เหลือง สีดำก็เป็นสีที่ขายดี แต่นานๆ จะทำครั้ง เพราะคนไทยยังเชื่อเรื่องความทุกข์ ฟั้นบอกว่ามีหลายเจ้าอยากให้ช่วยเย็บ แต่งานของตัวเองยังเย็บไม่ทัน ตอนดูหนังที่บ้านต้องแพ็กหรือเย็บกระดุมไปด้วย เป็นงานที่ใจรักและสามารถทำได้ตลอดเวลา

Casual, Lolita, ราตรี เป็นสไตล์ที่ขายดี ในด้านการสั่งซื้อ คนที่เล่นบลายธ์ซื้อทีละหลายๆ ชุดเพื่อประหยัดค่าส่ง

ลักษณะโดยทั่วไปของผู้ทำธุรกิจเสื้อผ้าบลายธ์
– มีใจรักในตุ๊กตาบลายธ์
– ช่างคิด ช่างสังเกต หรือดูเทรนด์จากเว็บไซต์หรือแมกกาซีนต่างๆ เสริมไอเดีย
– ออกแบบชุดอย่างมีเอกลักษณ์และต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าติดตาม
– การสร้างแบรนด์ช่วยให้คนจดจำได้ง่ายขึ้น เพิ่มมูลค่าและความน่าเชื่อถือได้ ทำให้เกิดการแนะนำแบบปากต่อปาก
– ต้องดูกระแส เพราะบลายธ์เป็นตุ๊กตาที่แจ้งเกิดตามกระแสนิยม เสื้อผ้าบลายธ์จึงบูมและเป็นที่ต้องการ ดังนั้น หากกระแสใหม่ๆ มา ทำให้ตุ๊กตาแบรนด์อื่นฮิต เจ้าของธุรกิจเสื้อผ้าก็ควรจะพลิกสถานการณ์ตามได้

ปัญหาร่วมของผู้ทำธุรกิจเสื้อผ้า
– ตุ๊กตาบลายธ์ไม่มีสเกลแน่นอน ในการผลิตครั้งแรกต้องแก้แพตเทิร์นบ่อยครั้ง
– ชุดที่มีรายละเอียดเยอะจะตัดเย็บยาก เพราะเสื้อผ้ามีขนาดเล็ก
– ตุ๊กตาฮิตทำให้มีคู่แข่งเพิ่มขึ้น เกิดการขายตัดราคา
– ถ้าเลือกผ้าไม่ดี สีตกใส่ตุ๊กตาจะส่งผลต่อยอดขายได้

ภาพรวมของแอคเซสเซอรี่
เจนนี่ หรือ เจนขวัญ อินทะวงษ์ สมาชิก blythethailand และเจ้าของร้าน Dollita House มองตลาดแอคเซสเซอรี่ว่า สินค้าที่ขายดีที่สุดคือ เสื้อผ้าแนวโลลิต้ากับกระเป๋า (Soft Case) ซึ่งแอคเซสเซอรี่ทั้งสองประเภทมีคนไทยสร้างแบรนด์ใหม่มาก ในขณะที่รองเท้าบลายธ์มักจะนำเข้าจากไต้หวัน เนื่องจากการผลิตรองเท้าฝีมือคนไทยยังด้อยคุณภาพ ทำให้สินค้าไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับและขายไม่ค่อยได้ และในด้านของผู้เล่นที่มาเล่นตุ๊กตาบลายธ์ มักจะเป็นลูกค้าใหม่ แต่ผู้เล่นที่มาเล่นตุ๊กตา BJD มักจะเล่นหรือคุ้นเคยกับตุ๊กตาบลายธ์มาก่อน

ราคานี้ ก็สวยได้ทั้งตัว
กระเป๋าใส่บลายธ์ 200-6,000 บาท
แว่นตา 500-1,900 บาท
เสื้อผ้า 50-2,000 บาท
หมวก 100-900 บาท
กระเป๋าถือ 100-800 บาท
รองเท้า 50-1,200 บาท
ถุงเท้า ถุงน่อง 100-200 บาท
ตู้เสื้อผ้า 1,100-1,500 บาท
ไม้แขวนเสื้อ 80-300 บาท