การเปลี่ยนสีตา ทำผมแต่งหน้า แต่งปากใหม่ ไม่เพียงแต่ทำให้ Blythe มีเสน่ห์จนหยุดไม่อยู่ เกิดสังคมกับธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดไอเดียใหม่ อย่างตุ๊กตา BJD หรือ Ball Jointed Doll ที่เกิดมาเพื่อบอกว่า Blythe ยังมีช่องว่างให้ BJD แทรกได้
BJD “ตุ๊กตา” ที่หาจุดต่างได้อีก
BJD ที่เป็นลักษณะข้อต่อทำด้วยไม้มีมานาน ตั้งแต่ทศวรรษ 1800 ที่ยุโรป แต่ที่ถือเป็นตุ๊กตาเพื่อการค้าตัวแรก เป็นของเอเชียที่ทำจากเรซิน เป็นของ Volks ในรุ่น Super Dollfie (SD) ขนาด 57 เซนติเมตร เมื่อปี 1999 ท่ามกลางความแข็งแกร่งของแบรนด์ตุ๊กตาของเด็กทั่วโลกอย่าง Barbie และการพยายามทำตลาดของ Blythe
ด้วยคุณสมบัติ ตั้งแต่ด่านแรก คือ “ใบหน้า” ของ BJD ที่ส่วนใหญ่มีโครงหน้าสวยหวาน และคมชัด ไม่ว่าจะเป็นขนาดใด แม้จะไม่ใกล้เคียงกับใบหน้าของคนทั่วไป แต่ก็เป็นใบหน้าในจินตนาการของหลายๆ คน สิ่งที่เป็นแรงดึงดูดสำคัญยังเป็นดวงตาที่คมชัด บางตัวหวาน และเศร้าที่ทำให้ผู้ที่มองและจ้องนานๆ ไม่อาจละสายตาไปได้ง่ายๆ
ลูกเล่นที่สำคัญของ BJD คือตุ๊กตาที่มีข้อต่อเหมือนมนุษย์ มียางยืดอย่างดีอยู่ภายในโครงสร้าง ทำให้ตุ๊กตาสามารถยืดหดข้อต่อต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นไหล่ ข้อศอก ข้อมือ เข่า สะโพก ความยืดหยุ่นนี้ทำให้เจ้าของสามารถจัดรูปร่างของตุ๊กตาให้โพสต์ท่าได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็นนั่ง ยืน ปรับทิศทางของแขน ขา ทำได้มากกว่า Blythe ที่หากจะดัดแขน ก็งอได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น นี่คือเสน่ห์ที่ทำให้ BJD ถูกอวดโฉมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องถ่ายรูปอวดกันใน Social Network
ความพิเศษของ BJD คือผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ยังพยายามออกแบบมาเพื่อให้สามารถนำส่วนต่างๆ มาต่อเข้าด้วยกันได้ เช่น หัวของ BJD แบรนด์หนึ่งอาจนำมาใส่กับตัวของ BJD อีกแบรนด์หนึ่ง ที่เรียกกันว่าเป็น Hybrid Doll
ในส่วนผิวของ BJD ยิ่งทำให้รู้สึกใกล้ชิดกับเจ้าของ เพราะทำมาจาก “เรซิน” ที่บางแบรนด์ยังผสมกับ UV เพื่อรักษาผิวให้ตุ๊กตา ต่างจาก Blythe ที่ทำมาจากพลาสติก ทำให้ผิวของ Blythe ให้ความรู้สึกเป็นตุ๊กตา แต่เรซินของ BJD ทำให้รู้สึกมีผิวใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น ด้วย 3 เฉดสีผิว ให้กลุ่มเป้าหมายได้เลือกมากขึ้น คือ 1.โทนขาวเหลือง ชมพู (Normal Skin) 2.โทนขาวซีด (White Skin Snow Skin Vampire Skin) และ 3.ผิวสีแทน (Tanned Skin) โดยสามารถแต่งหน้า เติมสีได้ด้วยวิธีการ Custom เช่นเดียวกับ Blythe
และผิวพิเศษนี้เอง ทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของต้องทะนุถนอมมากกว่า Blythe ทั้งการทำความสะอาด การเช็ดถูที่ต้องระวังมากกว่าผิวของคนทั่วไปเสียอีก ขนาดที่ว่ามือที่สัมผัสอาจทำให้ผิวมีร่องรอยนิ้วมือได้ โดยเฉพาะผิวหน้าที่แม้แต่เจ้าของ BJD ก็ไม่อยากสัมผัสบ่อยๆ หรือขนาดที่ว่าอยากหอมแก้ BJD ตรงหน้า ก็ยังต้องอดใจไว้ เพราะหากผิวเลอะขึ้นมา จะทำความสะอาดได้ยาก
Size Segment & Price ที่มากกว่า
BJD มีเรื่องขนาดของตุ๊กตาที่หลากหลาย ตอบสนองทุกกลุ่มเป้าหมายและกำลังซื้อ แต่อยู่ในระดับไฮเอนด์ ต่างจาก Blythe และ Barbie ที่มี 2 ขนาดให้เลือก คือเล็ก และกลาง เท่านั้น
สำหรับ BJD โดยทั่วไปแบ่งได้มี 3 ขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กสูงน้อยกว่า 25 เซนติเมตร ซึ่งมีทั้งตุ๊กตาสัตว์และเด็ก ที่กำลังท็อปฮิตอยู่ในขณะนี้ คือ “หมูน้อย” หรือ Elfdoll Elice Cherry Blossom ตกลงตัวละ 20,000 บาท ซึ่งขณะนี้เป็นที่นิยมในหมู่คนเล่น BJD และลูมิ ลามิ (ขนาด 12 เซนติเมตร) ในกลุ่มตุ๊กตา Yellow คู่แฝดจากค่าย Latidoll เกาหลี ที่กำลังมาในเมืองไทย เฉลี่ยราคาประมาณ 10,000 บาท
2. กลุ่มขนาดกลาง Medium Size เป็นตุ๊กตาสำหรับผู้ใหญ่ขนาด ประมาณ 40 เซนติเมตร ลักษณะขายาว ลำตัวสั้น เช่น กลุ่ม Pullip ที่ทำตลาดโดยบริษัท Groove เกาหลี ราคาขั้นต่ำประมาณ 5,000 บาท
3. Large Size ขนาดประมาณ 60 เซนติเมตร เช่น Volks ราคา 30,000 บาท
ความพิเศษที่เกิดขึ้นกับตัวสินค้า BJD นี้ทำให้ราคาขั้นต่ำต่อหน่วยสูง และแพงกว่า Blythe ที่เฉลี่ยอยู่ในหลักประมาณ 4,000 บาทขึ้นไป และ Barbie อยู่ในหลัก 600 บาทขึ้นไป แต่ BJD ส่วนใหญ่อยู่ในราคาหลักหมื่นบาทขึ้นไป
ที่สำคัญการมีไซส์ที่หลากหลายทำให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น เพราะแต่ละคนย่อมต้องการตุ๊กตาที่ต่างกัน
เรื่องราวยาว ยิ่งเพิ่มมูลค่า
Blythe ที่มีเรื่องราวของแต่ละตัวเป็นจุดขาย แต่ละตัวออกมาด้วยจำนวนจำกัด หมดแล้วไม่ทำเพิ่ม แต่ BJD บางแบรนด์นอกจากมีจำนวนจำกัดแล้ว ยังสามารถสร้างเรื่องราวจนทำให้หนึ่งคนที่สะสม BJD ต้องมีมากกว่า 1 ตัว
กรณีของ Pullip คือตัวอย่างที่ดีที่สามารถสร้างเรื่องให้ผู้สะสมในเซตหนึ่งต้องมีอย่างน้อย 3 ตัว คือตัวพี่ชาย และน้องสาว และแฟนของพี่ชาย จากเดิมที่มีเพียงสาว Pullip ในช่วงแรก แต่เมื่อสร้างเรื่องราวให้มีตัวตุ๊กตาผู้ชาย ชื่อ Taeyang ก็ต้องมีน้องสาวชื่อ Dal ที่ตั้งใจทำให้ออกแนวแบบงอนๆ เพราะหวงพี่ชาย BJD จึงสนุกขึ้น
เช่นเดียวกับลูมิ ลามิ ฝาแฝด ที่ Latidoll ของเกาหลี ตั้งใจให้ลามิ ออกแนวเข็มแข็ง สปอร์ตเกิร์ล ชอบออกกำลังกาย และมีเพื่อนจำนวนมาก แต่ลูมิจะออกแนวเรียบร้อย ชอบความสวยงาม รักความสันโดษ รักงานศิลปะ เครื่องสำอาง หลายคนจึงต้องมีอย่างน้อย 2 ตัว
นอกจากนี้ ยังมี Lea ที่ Latidaoll สร้างให้เป็นเพื่อนสนิทของ Coco โดยนิสัย Lea เกลียดการเป็นที่สองรองคนอื่น และคิดว่า Lami เป็นคู่แข่งในเรื่องการเรียนและกีฬา และพยายามเอาชนะลามิให้ได้
นอกจากนี้ยังมีเซกเมนต์ตามขนาดตุ๊กตา โดยใช้สีเป็นตัวแบ่ง คือ
1. White จะเป็นช่วงเด็กน้อย
2. Yellow เทียบเท่ากับอายุของเด็ก 5-7 ขวบ
3. Orange ช่วงประถมปลาย
4. Green มัธยมต้น
5. Blue มัธยมปลาย
6. Red วัยหนุ่มสาวเต็มตัว
ความพิเศษนี้ที่ทำให้ BJD เริ่มมีกระแส กลุ่มเป้าหมายส่วนหนึ่งที่ต้องการรักษาความเป็น Trend Setters ตลอดเวลา จึงเริ่มขยับเทรนด์อีกครั้ง ขณะที่ Blythe กำลังเริ่มขยายตลาดในวงกว้างมากขึ้น BJD จึงถูกคาดว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ได้อีกครั้ง
คนรัก Blythe เทใจหา BJD
ด้วยความหลากหลายของ BJD ทำให้คนเล่น BJD ค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งจากที่สำรวจย์ร้านค้าในจตุจักรพลาซ่า แม้ลูกค้าจำนวนมากยังคงเล่น Blythe แต่ก็เริ่มมีกลุ่มหนึ่งที่มาถามหา BJD โดยเฉพาะ “ลูมิ ลามิ” และ Pullip อย่างเช่น “สุทธาทิพย์ แซ่ตัน” วัย 27 ปี เจ้าของธุรกิจส่วนตัว ที่มาพบกับเพื่อนๆ ที่ร้านพร้อมกับลูมิ ลามิเกือบ 10 ตัว โดยที่เธอมีกระเป๋าอย่างดีที่ใส่น้องๆ ลูมิ ลามิ มา และอีกไม่นาน “สุทธาทิพย์” ก็บอกว่ากำลังจะไปเรียนที่ลอนดอน ก็จะพาทั้งหมดไปด้วย
“ตัวแทน-ออนไลน์” ที่ต้องมี
Latidoll BJD (Ball Jointed Doll) Thailand Agent from Positioning Magazine on Vimeo.
จากเดิม BJD ก็เช่นเดียวกับ Blythe ที่ผู้ที่อยากได้ต้องสั่งซื้อทางเว็บไซต์ หรือไม่ก็หิ้วมาจากแหล่งที่ผลิต เช่น เกาหลี แต่เมื่อเทรนด์มาแรง Blythe ก็ต้องระมัดระวังเรื่องตัวสินค้าและลิขสิทธิ์ทั้งหลายเพื่อรักษาแบรนด์ไว้ให้มากที่สุด และ BJD ก็กำลังเดินตามกลยุทธ์นี้ โดยมีกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งไม่ลังเลที่จะลงทุนด้วยเงินไม่น้อยกว่า 7 หลัก
“วิภาส เผดิมวงศ์” และ “พรชัย แรมลี” ทั้งสองเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของบริษัทคะฉามิ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจหลากหลายในปัจจุบันตั้งแต่รับเหมาก่อสร้างจนถึงแผ่นยางรองเท้า เพิ่งทำสัญญาการเป็น Sole Agent ให้กับ Latidoll เกาหลี ภายใต้ชื่อ Latidoll Thailand โดย ณ เดือนกรกฎาคม Latidoll Thailand เป็นเพียง Agent เดียวที่อยู่นอกเกาหลี
เขาทั้งสองไม่เคยมีประสบการณ์กับธุรกิจตุ๊กตามาก่อน เพียงแต่ว่ารุ่นพี่ที่ได้บังเอิญเจอกับ “ลูมิ ลามิ” มาก่อนเห็นว่าเป็นตุ๊กตาที่น่าหลงใหล จงมาหารือร่วมกัน และต่างเห็นด้วยที่จะลงทุน
Sole Agent ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับดีลเลอร์ที่เป็นร้านค้าตุ๊กตาทั่วประเทศเท่านั้น แต่ยังมีเงื่อนไขที่ได้ตกลงกับ Latidoll เกาหลีไว้ว่า สามารถสร้างชุมชนโดยเริ่มจากออนไลน์ บน www.latithailand.com ให้ออฟไลน์แล้วมาพบกัน เกิดกิจกรรมต่างๆ จนนำมาสู่ยอดขายที่เพิ่มขึ้น
ความเป็น Sole Agent จะช่วยให้ดีลเลอร์ได้ตุ๊กตาเร็วขึ้น และยังได้ความมั่นใจและรับประกันตัวสินค้า โดยจะไม่ขายกับลูกค้าทั่วไปโดยตรง เพื่อต้องการให้ลูกค้าซื้อผ่านดีลเลอร์อีกต่อหนึ่ง
Pre order-Limited ยิ่งมาแรง
ด้วยลักษณะของ BJD ที่เกือบจะผลิตด้วย Hand Made อย่างที่คนรัก BJD หลายคนบอกว่าเป็นงาน “ศิลปะ” มากกว่าเป็นแค่ตุ๊กตา ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตได้จำนวนมาก เพราะฉะนั้น BJD บางรุ่นต้องสั่งล่วงหน้า และลูกค้าจะเห็นจากรูปวาดของตุ๊กตาก่อนเท่านั้น จากนั้นเมื่อจ่ายเงินล่วงหน้าแล้วยังต้องใช้เวลารอหลายเดือนกว่าในรุ่น Limited Editon จึงจะได้มาครองครอง กลยุทธ์นี้ยิ่งเพิ่มความรู้สึกถึงมูลค่าและคุณค่าให้ตัวสินค้า เช่น กลุ่ม Rosenlied เกาหลี รุ่น Tuesday Child ผลิตทั่วโลกแค่ 20 ตัว และมีลูกค้าในไทย 3 ตัว ด้วยราคาตัวละ 30,000 บาท
ทุกวันนี้ “วิภาส” บอกว่าได้รับโทรศัพท์จากลูกค้าจำนวนมาก จนไม่เหลือสต๊อกในบริษัท หรือแม้แต่ลูมิ ลามิ ที่หิ้วเข้ามาเป็นตัวอย่างในเที่ยวบินไปเจรจากับ Latidoll ที่เกาหลี 2-3 ครั้ง เมื่อช่วงต้นปี ขณะนี้ก็หมดแล้ว
สัญญาณที่ชัดของเทรนด์นี้กับ BJD ทำให้ทั้งสองมั่นใจเดินมาถูกทาง และพร้อมลงสนามเต็มที่กับธุรกิจตุ๊กตา สินค้าที่หากใครมีไว้ครอบครองแล้ว ต้องหลงรักจนไม่ต้องถามหาเหตุผลใดๆ