ในขณะที่ตุ๊กตาบลายธ์กลายเป็นกระแสนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะในกลุ่มสาวไทยวัยทำงาน ความนิยมของตุ๊กตาบลายธ์ในญี่ปุ่นกลับดำเนินไปอย่างราบเรียบ แต่แฝงไปด้วยพลังราวคลื่นใต้น้ำท่ามกลางตุ๊กตาอีกมากหน้าหลายตาเกินกว่าจะนับได้ในญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นเมืองหลวงแห่งโลกแอนิเมชั่นและของเล่น
ทุกวันนี้หลายคนอาจจะเผลอพูดออกมาว่า “What is Blythe?” แทนที่จะเป็น “This is Blythe” เหมือนอย่างตอนที่เธอ Debut ในญี่ปุ่นใหม่ๆ ในฐานะพรีเซ็นเตอร์ของ Parco ห้างสรรพสินค้าแฟชั่นในเครือ Seibu เมื่อปี 2004
กระนั้นก็ตาม ที่จริงแล้วสาวญี่ปุ่นเริ่มรู้จักตุ๊กตาบลายธ์กันตั้งแต่ปี 2001 โดยTakara Tomy ผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่ซึ่งได้ลิขสิทธิ์จาก CWC ผลิตและจำหน่าย Neo Blythe อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่คนญี่ปุ่นเริ่มสร้าง Social Network บนโลกอินเทอร์เน็ตซึ่งแนะนำบุคลิกอันโดดเด่นของตุ๊กตาบลายธ์ผ่าน Blog ส่วนตัว ก่อเกิดการรวมกลุ่มคนที่ชื่นชอบ อีกทั้งการบอกเล่าต่อๆ กันในหมู่เพื่อนฝูงจนกลายเป็น Subculture ใหม่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบตุ๊กตาบลายธ์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะหลังจากที่ Mixi ขึ้นแท่น Social Network อันดับ 1 ของญี่ปุ่น
ปัจจุบันมี Blythe Community ใน Mixi ไม่ต่ำกว่า 10 กลุ่ม ซึ่ง Community ที่ใหญ่ที่สุดมีสมาชิกเกือบ 20,000 คน นอกจากนี้ยังมี Community กระจายกลุ่มกันในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งสมาชิกสามารถแสดงผลงานส่วนตัวการแต่งตัวให้ตุ๊กตาบลายธ์คนโปรดจาก Accessories ที่จำหน่ายในร้าน หรือ Hand-made ที่ผลิตขึ้นมาเอง
นอกจากนี้แนวโน้มใหม่ของ Petite Blythe กำลังกลายเป็นที่นิยมสำหรับเด็กเล็กซึ่งได้รับอิทธิผลจากผู้ปกครองที่สะสมตุ๊กตาบลายธ์อยู่แล้ว ช่วยสร้างสายสัมพันธ์และกิจกรรมร่วมกันระหว่างคุณแม่กับลูกสาว ซึ่งอาจขยายวงรวมไปถึงเพื่อนคุณแม่-เพื่อนลูกสาวอีกด้วย
Blythe Community แสดงบทบาทเป็นแรงขับเคลื่อนให้ตุ๊กตาบลายธ์โลดแล่นไปได้เฉพาะในกลุ่มคนรักบลายธ์แม้ในยามเศรษฐกิจไม่เป็นใจอย่างในปัจจุบันก็ตาม การดำเนินธุรกิจอย่างมืออาชีพโดย Junko Wong ผู้ก่อตั้งบริษัท CWC ซึ่งเป็นหลักค้ำประกันให้ตุ๊กตาบลายธ์ยังดำรงอยู่ได้ท่ามกลางตัวเลือกของตุ๊กตามากมายในญี่ปุ่น
CWC เป็นชื่อที่มาคู่กับตุ๊กตาบลายธ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางควบคุมทุกความเคลื่อนไหวตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ผลิต จัดจำหน่าย ลิขสิทธิ์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ อีเวนต์ และกิจกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก Blythe Community ในญี่ปุ่นเป็นอย่างดี
สถานที่ที่ถือเป็นเมกกะแห่งตุ๊กตาบลายธ์ตั้งอยู่ที่ Daikanyama ใน Shibuya ทำเลงามใจกลางมหานครโตเกียวซึ่งมีร้าน Junie Moon ร้านค้าอย่างเป็นทางการ, Gallery LELE และคาเฟ่ที่ชื่อ Hana เป็นแหล่งรวมแฟชั่นสำหรับตุกตาบลายธ์
กลยุทธ์การตลาดแบบ “Limited Version” ถือว่าเป็นไม้ตายที่ใช้ได้ตลอดกาลกับลูกค้าชาวญี่ปุ่นซึ่งถูกประยุกต์เข้ากับตุ๊กตาบลายธ์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ Limited Version ชนิดใด (เช่นตุ๊กตาบลายธ์รุ่นพิเศษ เสื้อผ้า เครื่องประดับ ฯลฯ) จะมีราคาสูงขึ้นเท่าใดก็ตาม สินค้าเหล่านั้นเป็นอันหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว และมักจะไม่มีการผลิตซ้ำอีก
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการประมูลซื้อขายตุ๊กตาบลายธ์และสินค้าเกี่ยวข้องผ่าน Internet Auction ซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ CWC กำหนดขึ้นมา
นอกจากนี้ Limited Version ดังกล่าวมักจะไม่วางจำหน่ายในร้านตัวแทนของตุ๊กตาบลายธ์ทั่วไป ดังนั้นการติดตามข่าวสารทุกย่างก้าวเริ่มจากการลงทะเบียนเป็นสมาชิกผ่าน www.blythedoll.com บนโทรศัพท์มือถือซึ่งทำให้ตุ๊กตาบลายธ์กลายเป็นของสะสมล้ำค่าไปโดยปริยาย
บนเว็บไซต์ของบลายธ์ยังเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถโพสต์ภาพถ่ายตุ๊กตาบลายธ์ โพสต์ความคิดเห็น ส่งข้อความไปให้สมาชิกคนอื่น ติดตามข่าวสารอีเวนต์ต่างๆ แฟชั่นโชว์ รวมถึงการประกวดการแต่งตัวและ Modify หน้าตาของบลายธ์ที่เป็นเหมือนงานประจำปีสำคัญในหมู่คนรักตุ๊กตาบลายธ์
กิจกรรมทั้งหลายเหล่านี้ดำเนินไปได้ด้วยคุณค่าของตุ๊กตาบลายธ์ที่ทั้ง CWC และสมาชิกทุกคนมีร่วมกัน ภายใต้เงื่อนไขทางธุรกิจที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
แม้ว่าตุ๊กตาบลายธ์จัดเป็น Subculture หนึ่งของญี่ปุ่นก็ตาม แต่ภายในโลกแห่งบลายธ์นั้นมีสาระ สีสัน และความหลากหลายให้ติดตามอย่างไม่รู้จบ