ใกล้วัยรุ่นไว้ก่อน

11.59 น. วันที่ 23 กรกฎาคม 2552 ที่กลางลานสยามสแควร์ ประตูอาคารขนาด 4 ชั้นทอดตัวยาวคล้ายอุโมงค์ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 2 ไร่ บนพื้นที่ “เซ็นเตอร์พ้อยท์” เดิม ถูกเปิดออกเผยโฉม “ดิจิตอล เกตเวย์” ให้วัยรุ่นและหนุ่มสาวได้สัมผัสกับสถานที่ใหม่ล่าสุดของ “สยามสแควร์ “

หลังจากเฝ้ารอมานานประมาณ 1 ปีในการก่อสร้าง หลังจากเปิดประตูไม่กี่นาที วัยรุ่นทั้งที่แต่งตัวโฉบเฉี่ยวและนักเรียนอีกหลายคน ต่างเดินเข้าอุโมงค์ดิจิตอลแห่งนี้ แม้พื้นที่ร้านค้าภายในยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และยังมีสายตาจำนวนมากจากสถานีรถไฟฟ้าสยามฯ ที่มองตรงมายังหลังคาโค้งมนยาวนี้

เป็นภาพที่ทำให้ “โสมพัฒน์ ไตรโสรัส” กรรมการบริหาร และ “วัลภา ไตรโสรัส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัททีซีซี แลนด์ จำกัด ทายาทรุ่นที่สอง ในฐานะบุตรเขย และบุตรสาว ของ “เจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” นักธุรกิจระดับบิ๊กของเมืองไทยมั่นใจว่า “ดิจิตอล เกตเวย์” ไม่เพียงเป็นธุรกิจใหม่ล่าสุดของเครือทีซีซีแลนด์ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังบ่งบอกทิศทางสำคัญว่าพร้อมเดินหน้าธุรกิจ “รีเทล” ที่ทีซีซีแลนด์กำลังสยายปีกกว้างขึ้น

“โสมพัฒน์” บอกว่า ดิจิตอลเกตเวย์ตอบสนองเทรนด์คนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้สินค้าไอทีมากขึ้น ซึ่งในพื้นที่สยามสแควร์ยังไม่มีห้างสรรพสินค้าที่มี Positioning ชัดเจนเกี่ยวกับสินค้าไอที และที่นี่สำหรับทีซีซีแลนด์ ยัง “หวังกล่อง” มากกว่า “เงิน” และยังหวังแบรนด์ดิ้งให้ “ทีซีซีแลนด์” ใกล้ชิดกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น

“กล่อง” ที่ว่านี้คือการเสริมสร้างความรู้ตามเงื่อนไขที่ทำให้ทีซีซีแลนด์ชนะการประมูลเช่าพื้นที่จากสำนักงานทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีพื้นที่คือลานกิจกรรม ด้านหน้าหรือลานน้ำพุเดิม และชั้น 4 พื้นที่จัดนิทรรศการ ที่เตรียมดึงกิจกรรมดังๆ มาที่นี่ อย่างการแข่งขันเทคโนโลยีหุ่นยนต์ หรือหากสินค้าใดต้องการเช่าพื้นที่เพื่อจัดอีเวนต์ ก็จะเน้นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับไอทีและการเรียนรู้ใหม่ๆ

นี่คือเหตุผลที่ “โสมพัฒน์” บอกว่า ดิจิตอล เกตเวย์ ได้ว่าจ้างบริษัท RDG (Retail Design Group) ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบห้างสรรพสินค้าจากอังกฤษ มาออกแบบทั้งหมด และได้ย้ำกับผู้เช่าพื้นที่ให้เน้นคอนเซ็ปต์ของร้านที่มีไอเดียแปลกใหม่ เพราะหากไม่มีความต่างก็คงยากจะดึงกลุ่มวัยรุ่นในย่านสยามสแควร์ที่มีเฉลี่ยวันละ 1 แสนคนเข้ามา โดยหวังว่าจะมีค่าใช้จ่ายต่อคนอย่างน้อย 200-300 บาท และบางกลุ่มที่ซื้อสินค้า รับประทานอาหารด้วยจะเฉลี่ยอย่างต่ำคนละ 1,000 บาท

แม้ดิจิตอล เกตเวย์ใช้เวลาคุ้มทุนนานถึง 9 ปี จากสัญญาเช่ากับจุฬาฯ ทั้งหมด 15 ปี ด้วยวงเงินก่อสร้างประมาณ 300 ล้านบาท และค่าเช่าพื้นที่อีกประมาณ 1,200 ล้านบาท แต่นี่คืออีกก้าวที่สำคัญที่ “โสมพัฒน์” มั่นใจว่าจะทำให้ “ทีซีซีแลนด์” จะปักธงในใจคนรุ่นใหม่ให้ได้อย่างแน่นอน

ดิจิตอล เกตเวย์
เจ้าของพื้นที่ – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้บริหารโครงการ
– บริษัททิพย์พัฒน อาร์เขต ในเครือ ทีซีซีแลนด์ของครอบครัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” เจ้าของธุรกิจที่หลากหลายตั้งแต่ผลิตสุรา เบียร์ และอสังหาริมทรัพย์
เงินลงทุนรวม -1500 ล้านบาท
Positioning -ดิจิตอลไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ เน้นสินค้าและกิจกรรมที่เกี่ยวกับไอที
Target – วัยรุ่น วัยทำงานย่านสยามสแควร์ เฉลี่ยวันละ 1 แสนคน