“แคนนอน” ใช้สูตรมาช้าดีกว่าไม่มา กดปุ่ม ลุยมิเรอร์เลสฟูลเฟรมส่ง “EOS R” ลุยตลาด หวังขึ้นเบอร์ 1 ปี 2019

Thanatkit

หลังจากที่ปล่อยให้มวยรอง โซนี่เข้ามาโกยยอดขายมิเรอร์เลสฟูลเฟรมล่วงหน้าถึง 5 ปี อีกทั้งยังโดนคู่กัดนิคอนปล่อย “Z Series” ให้วางขายในเมืองไทยก่อนเป็นเดือน ในที่สุดก็ได้เวลาของแคนนอนเข้ามาลุยตลาดมิเรอร์เลสฟูลเฟรมเสียดี

ด้วยการเปิดตัวรุ่นแรกด้วยโค้ดเนม “EOS R” ที่ยกเครื่องครั้งใหญ่ด้วย มาพร้อมเลนส์ใหม่ในตระกูล RF ที่มีขั้วสัมผัสไฟฟ้า 12 จุด โดยย้ำว่า สามารถใช้เลนส์ตระกูล EF และ EF-S ได้ทุกรุ่น เพราะมีเมาท์อะแดปเตอร์ RF เปิดตัวมาคู่กัน

การเป็นมิเรอร์เลสฟูลเฟรมทำให้ราคาเปิดตัวค่อนข้างแรง เฉพาะตัวกล้อง 82,900 บาท ถ้าพร้อมพร้อมเลนส์ 25-105 ราคา 122,990 บาท พร้อมขายตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป ส่วนเลนส์มี 4 รุ่น ราคา 19,900 – 111,400 บาท, เมาท์อะแดปเตอร์ 3 รุ่น 3,990 – 7,990 บาท

ราคานี้เกินความคาดหมายของบรรดาแฟนคลับแคนนอนอยู่ไม่น้อย เพราะคาดกันว่า ราคาเปิดตัวคงไม่เกิน 80,000 บาท แต่ขายจริงเกินขึ้นมาเกือบ 3,000 บาท ส่วนญี่ปุ่นอยู่ประมาณ 70,000 ต้นๆ เท่านั้น

EOS R+RF 50mm f 1.2L USM

ราคาในเมืองไทยถูกเคาะโดยแคนนอนประเทศญี่ปุ่น สร้างความหนักอกหนักใจให้กับแคนนอนเมืองไทยไม่น้อยเลย เบื้องต้นจึงแก้ด้วยการแถมเมาท์อะแดปเตอร์ EF-EOS R ราคา 3,990 บาท เพื่อปลอบใจให้กับแฟนคลับชาวไทย

สำหรับฐานลูกค้าของ “EOS R” ต้องการกวาดไปในทุกเซ็นเมต์ทั้งมืออาชีพ หรือมือสมัครเล่น โดยหลักๆ จะมาจาก 2 กลุ่มได้แก่ 1.กลุ่มที่ซื้อไปเป็นกล้องตัวที่ 2 และ 2.ดึงจากคู่แข่ง

วรินทร์ ตันติพงศ์พาณิช รองประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ตอนแรกก็กังวลเหมือนกันเนื่องจากมาช้ากว่าคู่แข่ง กล้องที่ออกมาจะสู้ได้ไหม แต่จากผลตอบรับในระดับโลก และในเมืองไทยที่ตอนนี้มียอดสั่งจองเข้ามาแล้วกว่า 1,000 ตัว ทำให้สถานการณ์ของแคนนอนเปลี่ยนทันที พร้อมกับตั้งความหวังว่า ในเมืองไทย EOS R จะไปได้ดีแน่ๆ

เบื้องต้นจนถึงสิ้นปีแคนนอนตั้งเป้ายอดขายเฉลี่ยเดือนละประมาณ 1,000 ตัว เพราะยังประเมินไม่ได้ว่าสินค้าจะเข้ามาช่วงไหน ช่วงแรกจึงจะเน้นประชาสัมพันธ์ว่าวางขายแล้ว และเน้นให้ผู้บริโภคได้เข้ามาทดลอง เพราะมองว่า การโฆษณาไม่ดึงดูดเท่ากับให้ผู้บริโภคมาสัมผัสเอง

อย่างไรก็ตาม การลงลุยตลาดมิเรอร์เลสฟูลเฟรมแคนนอนเชื่อว่าจะไม่กระทบกับตลาดดีเอสแอลอาร์จนต้องหายไปจากตลาด แต่ต้องการเพิ่มความหลากหลายให้ลูกค้า

แม้ว่าสัดส่วนยอดขายมิเรอร์เลสเคยพุ่งไปกินสัดส่วนสูงถึง 80% ส่วนดีเอสแอลอาร์เหลือเพียง 20% หากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามิเรอร์เลสลดลงมาเหลือ 60% ส่วนดีเอสแอลอาร์เพิ่มมาเป็น 40% 

แคนนอนยังต้องรักษาตลาด ดีเอสแอลอาร์ เอาไว้ เพราะคู่แข่งน้อย ความต้องการยังมีอยู่ และแคนนอนก็เป็นเบอร์ 1 ในตลาดนี้อยู่แล้ว ด้วยส่วนแบ่ง 50-60% ในแง่ของจำนวนเครื่อง

ต่อจากนี้การออกกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ก็จะไปพร้อมกันทั้งกลุ่มดีเอสแอลอาร์และมิเรอร์เลส เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นว่าแคนนอนมีตัวเลือกหลากหลาย

ส่วนในภาพใหญ่แคนนอนได้ตั้งเป้าที่จะขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในกลุ่มมลเรอร์เลสอย่างเร็วที่สุดภายในปี 2019 หรือช้าที่สุดในปี 2020 เมื่อถึงเวลานั้นแคนนอนจะต้องมีส่วนแบ่งมากกว่า 30% จากวันนี้ที่มีประมาณ 20% และภายในสิ้นปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มมาเป็น 25%.