Blythe ของเล่นๆ ที่เป็นเงิน

“Blythe” “ตุ๊กตา” ที่ไม่ใช่แค่ “ของเล่น” อีกต่อไป แต่ Blythe ได้กลายเป็นกรณีศึกษาที่นักการตลาดต้องสนใจ เพราะ Blythe ทำให้ “ผู้บริโภคพันธุ์ใหม่” ปรากฏตัวชัดขึ้นว่า “พวกเขา” กลุ่มที่ชอบนำเทรนด์ อยู่ในโลกออนไลน์ พร้อมลงทุนซื้อความสุขที่จับต้องได้นี้ กำลังขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น

Blythe ออกมาแสดงให้เห็นว่าโปรดักต์ที่แตกต่าง และการตลาดอย่างมีกลยุทธ์ตั้งแต่การจำกัดดีมานด์เพื่อสร้างซัพพลาย ด้วยแผน Limited และ Pre-order กับการสร้างชุมชน จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของโลกออนไลน์ จนเกิด “สาวก” ทำให้ Blythe ชิงพื้นที่ความรักในใจผู้บริโภคไปได้มากมาย เกิดนักสะสมที่ภายในชั่วพริบตาก็หาซื้อไว้ด้วยเงินหลักหลายล้านบาท

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเพิ่มจุดแข็งบนจุดอ่อนของสินค้าเดิมที่มีอยู่แล้วในตลาดอย่าง Barbie จน Blythe น่ารักและน่าเล่นมากกว่า ก็มีผลทำให้ Barbie แบรนด์เก่าแก่อายุ 50 ปีเงียบเฉาไปอย่างไม่น่าเชื่อ

ขณะเดียวกัน Blythe ทำให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งเสื้อผ้า หน้า ผม การปรับโฉม (Custom) ที่ส่งเสริมให้ Blythe กลายเป็น “My Blythe” บ่งบอกตัวตนของเจ้าของได้มากขึ้น นอกจากทำให้เกิดเจ้าของธุรกิจใหม่ๆ แล้ว ยังทำให้ Blythe มีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น และความฮอตของ Blythe ครบสูตร เมื่อสินค้าอย่างน้อย 3 แบรนด์ นำน้อง Blythe มาเป็นเครื่องมือทางการตลาด และยังทำให้ตุ๊กตาค่ายอื่นๆ เห็นโอกาส โดยเฉพาะ BJD (Ball Jointed Doll) ที่กำลังเดินตาม Blythe ชนิดที่จุดแข็งมีตรงไหน ก็พร้อมเติมจุดแข็งมากกว่า

เวลานี้ จึงพลาดไม่ได้ที่ต้องทำความรู้จัก “Blythe” ให้มากขึ้น