Thanakit
ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อนตอนที่ “Sony” ประกาศเปิดตัวกล้อง “Mirrorless Full Frame” ตัวแรกพร้อมกันถึง 2 รุ่นคือ “A7 และ A7R” ซึ่งวางคอนเซ็ปต์ตัวเล็ก จับถนัดมือ คล่องตัว ดีไซน์สวยงามแบบกล้อง Mirrorless พร้อมจัดเต็มเซ็นเซอร์แบบ Full Frame เหมือนกับกล้อง DSLR ที่สำคัญยังมาในราคาที่จับต้องได้อยู่ที่ราว 50,000 – 70,000 บาท เท่านั้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ถูกใจ “ช่างภาพมืออาชีพ” ที่ Sony อยากตีตลาดมาตลอด
เวลานั้นหลายคนปรามาสว่า Mirrorless Full Frame ของ Sony จะไปได้สักกี่น้ำ ด้วยเทคโนโลยีที่ใส่เข้ามาจะประสบความสำเร็จถึงขนาดดึงความสนใจของช่างภาพมืออาชีพได้หรือไม่? เพราะอย่างที่รู้กัน 2 ตัวเลือกแรกเวลาที่มืออาชีพจะซื้อกล้องตัวใหม่มีอยู่ 2 แบรนด์คือ “Canon และ Nikon” ที่กินรวบตลาดเกือบจะ 100% อีกทั้งยังทำได้ดีมาตลอดในตลาดนี้
แต่แล้วด้วยราคาที่จับต้องได้และสเปกที่อัดแน่น Sony ก็สามารถหักปากกาเซียนลงได้เป็นผลสำเร็จ เพราะตั้งแต่เปิดตัว Mirrorless Full Frame ก็ทำให้ Sony ครองเบอร์ 1 กล้อง Mirrorless ในสหรัฐฯ มานานถึง 6 ปีด้วยกัน ที่สำคัญเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2018 ที่ผ่านมา Sony ยังได้ประกาศข่าวที่สร้างความ “ช็อก” ให้กับ 2 แบรนด์ยักษ์
ด้วยการก้าวขึ้นเป็นแชมป์ยอดขายกล้อง Full Frame ในช่วงครึ่งปีแรก 2018 โดยบอกว่ากล้อง Full Frame 4 ใน 10 ตัวที่ขายใน “สหรัฐอเมริกา” ซึ่งเป็นตลาดกล้องมืออาชีพที่ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของโลกถูกตีตราด้วยแบรนด์ Sony
“เมืองไทย” ก็ไม่ได้หนีจาก “ตลาดโลก”
สถานการณ์เช่นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในตลาดโลกเท่านั้น ตลาดในเมืองไทยก็ไม่ได้ต่างกันมากนักเพราะกลุ่มกล้อง Mirrorless ที่มีราคาตั้งแต่ 50,000 – 100,000 บาท ซึ่งคิดเป็นยอดขายราว 22,000 เครื่องต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 15% ในแง่มูลค่า Sony ได้กวาดส่วนแบ่งไปมากกว่า 80% ด้วยกัน
แน่นอนความสำเร็จของ Sony ไม่ได้มาด้วยโชคช่วย แต่เกิดจากยอดขายของ Mirrorless Full Frame กับความใจป้ำของ Sony ที่ยอมอัดสเปกและหั่นราคาทำให้ถูกใจช่างภาพมืออาชีพที่ต้องการกล้องมาไว้ใช้สำหรับถ่ายงานที่ไม่จำเป็นต้องจริงจังมาก อีกทั้งยังสามารสร้างแรงดึงดูดให้กับเหล่ามือสมัครเล่นที่มีอำนาจในการจ่ายให้เข้าถึง Sony อีกด้วย
ขณะเดียวกันหลายคนก็จับตาว่า “Canon และ Nikon” จะวางแผนการโต้กลับอย่างไร จะปล่อยไว้อย่างนี้คงไม่ดีแน่ๆ เพราะยิ่งนานไปฐานลูกค้าก็มีโอกาสเปลี่ยนใจหันไปซื้อกล้องของ Sony ถึงทั้งคู่จะมีความเห็นที่ตรงกันว่า
“ถึงตลาดกล้องในเมืองไทย 60% จะถูกครองโดยกล้อง Mirrorless ส่วนกล้อง DSLR ที่เป็นฐานหลักของทั้ง Canon และ Nikon จะเหลือเพียง 30% เท่านั้น แต่ก็เชื่อว่ากล้อง Mirrorless จะไม่สามารถกินรวบกล้อง DSLR ได้ทั้งหมดแน่นอน เพราะถึงอย่างไรช่างภาพมืออาชีพก็ยังเลือก DSLR อยู่ดี”
ตีความหมายได้จากคำพูดนี้ง่ายๆ คือ ถึงแนวโน้มช่างภาพมืออาชีพจะหันไปสนใจ Mirrorless Full Frame มากขึ้น แต่กล้องรุ่นนี้ยังไม่ได้เหมาะกับทุกสถานการณ์ หากต้องถ่ายในงานที่ไม่สามารถมีข้อผิดพลาดได้เลย หรือกระทั่งการแข่งขันกีฬาที่ต้องจับภาพการแข่งขันที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว “DSLR” ยังถือเป็นตัวเลือกแรกอยู่ดี ส่วน Mirrorless Full Frame ซื้อมาสำหรับเป็นกล้องตัวที่ 2 เท่านั้น
มั่นใจใน “DSLR” แต่ก็ทั้ง “Mirrorless Full Frame”
แต่ถึงจะมั่นใจในกล้อง DSLR ของตัวเองก็ตาม แต่การจะปล่อยให้ Sony ทำตลาดใน Mirrorless Full Frame คนเดียวก็คงจะไม่ดีนัก ในที่สุดก็ถึงเวลาที่ 2 ยักษ์ที่หลับมานานก็ได้ขยับตัวบุก Mirrorless Full Frame เสียที เพราะถึงอย่างไรทั้ง Canon และ Nikon ยังคงได้เปรียบกว่า Sony ตรงที่มี “Brand Image” ของความเป็นมืออาชีพซึ่งหากใครจับก็จะได้ภาพลักษณ์เช่นนั้นติดไปด้วยต่างจาก Sony ที่ยังติดภาพของการเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า
ทีนี้ก็เหลือแต่ว่า Canon และ Nikon จะเข็น Mirrorless Full Frame ออกมาโดนใจช่างภาพมืออาชีพหรือเปล่า เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรสำหรับช่างภาพที่จะซื้อกล้องใหม่สักตัวด้วย Mirrorless มีขนาดที่เล็กกว่า DSLR เลนส์ที่มีหลายรุ่นจึงใช้ด้วยกันไม่ได้ จะขายของที่มีหรือซื้อใหม่ทั้งหมดก็ต้องใช้เงินหลักหลายแสนบาท
เรื่องนี้จึงไม่ได้จบแค่กล้อง 1 ตัว แต่ยังมีเรื่องเลนส์ที่ต้องคิดอีกจากการที่ช่างภาพแต่ละคนมักจะมีเลนส์อย่างน้อย 3-4 ตัวติดในกระเป๋า ช่วงราคาที่ซื้อก็มักจะอยู่ระหว่าง 30,000 – 80,000 บาท การแก้โจทย์จึงอยู่ที่ ต้องวางขายเมาท์อะแดปเตอร์ไปพร้อมกัน เพื่อสร้างตัวเลือกให้กับลูกค้า และไม่ต้องคิดมากจนเกินไปหากจะซื้อ Mirrorless Full Frame ของทั้งคู่
ไม่ต้องลุ้นให้มากความ Nikon พร้อมขาย “Z Series” แล้ว
NiKon บอกว่าได้จับตาดูความเปลี่ยนแปลงของตลาดกล้องเมืองไทยในช่วง 3 ปีมานี้อย่างใกล้ชิด โดยมองว่า Mirrorless ได้ผ่านจุดที่พีคที่สุดไปแล้ว เนื่องจาก Mirrorless เริ่มมีสัดส่วนที่เล็กลงไป ส่วน DSLR เริ่มมีมากขึ้น หากผ่านช่วงนี้ไปในที่สุดสิ่งที่เหลืออยู่จะเป็นดีมานด์ที่แท้จริงของตลาด
แต่ถึงอย่างนั้น Nikon ก็ละเลย Mirrorless ไม่ได้ โดยเซกเมนต์ที่ NiKon กำลังให้ความสนใจมากที่สุดคือ Mirrorless Full Frame ที่แม้จะมีสัดส่วนเพียง 30% หากมีอัตราเติบโตมากถึงปีละ 30% ซึ่งมาจาการที่กลุ่มมืออาชีพและมือสมัครเล่นที่กำลังพัฒนาขึ้นมาเป็นมืออาชีพหันมาซื้อกล้องประเภทนี้มากขึ้น
อีกทั้งราคาเฉลี่ยในตลาดก็ลดลงเพราะมีสินค้าใหม่เข้ามาทดแทน ฐานตลาดจึงใหญ่ขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีราคาตั้งแต่ 30,000 – 130,000 บาท โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 60,000 – 80,000 บาท
และหลังจากที่ปล่อยให้เหล่าสาวก Nikon ลุ้นมาหลายเดือนจนเกิดเป็นข่าวลือพร้อมภาพหลุดตัวเครื่องต่างๆ นานา ในที่สุด Nikon ก็พร้อมเปิดตัว Mirrorless Full Frame รุ่นแรกของตัวเองภายใต้ชื่อ “Z Series”
ครั้งนี้ไม่ได้มาเพียง 1 แต่มาถึง 2 ด้วยกัน ได้แก่ Nikon Z6 ราคาเฉพาะตัวกล้อง 69,900 บาท พร้อมเลนส์ 75,990 – 91,990 บาท โดยยังไม่มีกำหนดวางขาย
โทรุ มัทสึบาระ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท นิคอน เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า
“ผู้บริโภคอยากได้กล้องที่เล็กลงแต่คุณภาพเดียวกับ DSLR จึงพัฒนากล้องตัวนี้มา ถามว่ามาช้าไปไหมในตลาด คงตอบว่าไม่ เนื่องจากช่วงนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะกล้องเป็นระบบใหม่ทั้งหมดเลย ตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนก่อนผลตอบรับดีมากๆ ถึงเราไม่ใช่รายแรกในตลาดที่ทำ แต่มั่นใจว่าพัฒนาให้เกิดความสมบูรณ์มากกว่ารุ่นอื่นๆ ในตลาดแน่นอน”
ในการนี้ Nikon ได้วางแผนการตลาดที่เน้นการสร้างโอกาสในการปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผ่านการสัมมนาเวิร์กชอปทุกอาทิตย์และกิจกรรมทางการตลาดอื่นๆ ที่จัดขึ้นในหลายพื้นที่
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญในปีนี้คือการเปิด “Nikon Experience Hub” แห่งแรกในเมืองไทย ที่ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมกับวางแผนขยาย Nikon Experience Zone ในร้านที่มีทราฟฟิกจำนวนมาก ตั้งเป้าทำ 6 สาขาในกรุงเทพฯ ก่อน
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้ Nikon พลิกกลับขึ้นมาเป็น “เบอร์ 1” ให้ได้ หลังจากที่โดนแบรนด์รองที่เร่งเครื่องทำตลาดจน Nikon หล่นมาเป็นเบอร์ 4 ในตลาด Mirrorless โดยย้ำความมั่นใจว่าเบอร์ 1-4 มีส่วนแบ่งตลาดที่ไม่ห่างกันมาก ราว 1-3% จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ Nikon จะเบียดขึ้นไปได้
ไม่ปล่อยให้ Nikon รอนาน “Canon” ส่ง “EOS R” เข้าร่วมสงครามด้วย
คล้อยหลัง Nikon ไม่ถึง 1 เดือน ในที่สุด Canon ก็เผยโฉม Mirrorless Full Frame รุ่นแรกให้กับเหล่าสาวกในเมืองไทย ภายใต้รุ่น “EOS R” ที่ได้ยกเครื่องครั้งใหญ่พร้อมกับนำเข้าจากญี่ปุ่น
ซึ่งเหตุผลนี้แหละที่ทำให้ราคาเฉพาะตัวกล้องเปิดตัวออกมา “เกิดความคาดหมาย” ของบรรดาแฟนคลับ Canon อยู่ไม่น้อย เพราะคาดกันว่าราคาเปิดตัวคงไม่เกิน 80,000 บาท แต่ขายจริงเกินขึ้นมาเกือบ 3,000 บาท ส่วนญี่ปุ่นอยู่ประมาณ 70,000 ต้นๆ เท่านั้น
โดยราคาเฉพาะตัวกล้องอยู่ที่ 82,900 บาท ถ้ามาพร้อมเลนส์ 25-105 ราคา 122,990 บาทพร้อมวางขายเรียบร้อยแล้ว ส่วนเลนส์มี 4 รุ่น ราคา 19,900 – 111,400 บาท, เมาท์อะแดปเตอร์ 3 รุ่น 3,990 – 7,990 บาท
ซึ่งราคาที่ว่านี้ถูกเคาะโดย Canon Japan ได้สร้างความหนักอกหนักใจให้กับ Canon Thailand ที่ไม่สามารถทำให้ชาวไทยซื้อในราคาที่ถูกกว่านี้ได้ เบื้องต้นจึงแก้ด้วยการแถมเมาท์อะแดปเตอร์ EF-EOS R ราคา 3,990 บาท เพื่อปลอบใจให้กับแฟนคลับชาวไทย โดยจะต้องซื้อภายใน 1 เดือนนับจากวันแรกที่วางขายเท่านั้น
สำหรับฐานลูกค้าของ “EOS R” ต้องการกวาดไปในทุกเซ็กเมนต์ทั้งมืออาชีพหรือมือสมัครเล่นโดยหลักๆ จะมาจาก 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่ซื้อไปเป็นกล้องตัวที่ 2 และ 2.ดึงจากฐานลูกค้าคู่แข่ง
วรินทร์ ตันติพงศ์พาณิช รองประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า
“ตอนแรกก็กังวลเหมือนกันเนื่องจากมาช้ากว่าคู่แข่ง กล้องที่ออกมาจะสู้ได้ไหม แต่จากผลตอบรับในระดับโลกและในเมืองไทยที่ตอนนี้มียอดสั่งจองเข้ามาแล้วกว่า 1,000 ตัว ทำให้สถานการณ์ของ Canon เปลี่ยนทันที พร้อมกับตั้งความหวังว่าในเมืองไทย EOS R จะไปได้ดีแน่ๆ”
เบื้องต้นจนถึงสิ้นปี Canon ตั้งเป้ายอดขายเฉลี่ยเดือนละประมาณ 1,000 ตัว เหตุที่ไม่ตั้งเยอะกว่านี้เพราะยังไม่มั่นใจว่าสินค้าจะเข้ามาเยอะแค่ไหน ดังนั้นในช่วงนี้เกมการตลาดจึงจะเน้นประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งให้ผู้บริโภคทราบถึงเรื่องที่ “EOS R” เข้ามาวางจำหน่ายแล้ว
ส่วนปีหน้าค่อยมาวางแผนการตลาดอีกที แต่หลักๆ แล้วจะเน้นการทำกิจกรรมเพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้ามาทดลองกับตัวเครื่องมากกว่า เนื่องจาก Canon มีความเห็นว่าการโฆษณามากๆ ดึงดูดลูกค้าไม่มากเท่าการดึงให้พวกเขาได้มาสัมผัสเองด้วยตัวเลือกที่เพิ่มมากขึ้น กับการเห็นสินค้าด้วยตาตัวเองย่อมดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ Canon จะเป็นเบอร์ 1 ของกล้อง DSLR ด้วยส่วนแบ่ง 50-60% ในแง่ของจำนวนเครื่องก็ตาม แต่ในส่วนของ Mirrorless รั้งเบอร์ 3-4 มีส่วนแบ่งราว 20% เท่านั้น
การเข้ามาของ EOS R สร้างความหวังให้กับ Canon ที่ต้องการให้จนถึงสิ้นปีนี้ส่วนแบ่งจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 25% พร้อมกับตั้งความหวังที่ต้องการขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 อย่างเร็วที่สุดภายในปี 2019 หรือช้าที่สุดภายในปี 2020
เมื่อถึงเวลานั้น Canon ก็เชื่อว่าตัวเองจะต้องมีส่วนแบ่งไม่น้อยกว่า 30% อย่างแน่นอน ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากการที่ “EOS R” จะมีรุ่นใหม่เข็นเข้าสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 1-2 รุ่นอย่างแน่นอน
ทั้งหมดนี้คือเกมที่ 2 ยักษ์ที่เคยหลับจำต้องลุกขึ้นมาเข้าสู่สงคราม “Mirrorless Full Frame” ที่ตัวเองละเลยมานาน ความหวังของทั้งคู่จึงต้องฝากไว้กับทั้ง “Z Series” และ “EOS R” จะพลิกเกมและสร้างความฝันที่วางไว้ได้หรือไม่ ต้องติดตามต่อไป แบบห้ามกะพริบตาเลยทีเดียว.