จาก 29 ตู้คอนเทนเนอร์ สู่สตาร์บัคส์ ไต้หวัน เคนโกะ คุมะ สถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลัง ยุคที่ธุรกิจคุยกันด้วยแวลูของแบรนด์

จากปรากฏการณ์ของสตาร์บัคส์ สาขาล่าสุดในไต้หวัน ที่ดึงเอาสถาปนิกระดับโลกชาวญี่ปุ่น มาสร้างผลงานโดยนำตู้คอนเทนเนอร์ 29 ตู้ มาออกแบบจัดวางเป็นร้านสาขาในรูปแบบใหม่ เพียงเท่านั้นก็เป็นเหมือนข้อความชั้นดีที่ทำให้นอกจากแฟนสตาร์บัคส์ (Starbucks) แต่ยังรวมถึงคนรักดีไซน์และงานออกแบบ รวมทั้งคนทั่วไป ต้องเหลียวหันมามองด้วยแรงดึงดูดจากชื่อเสียงของดีไซเนอร์ เป็นเทคนิคที่สตาร์บัคส์เลือกเติมแวลูให้แบรนด์ง่ายๆ และเพิ่มเติมความเป็นเดสติเนชั่นให้กับสาขาใหม่นี้ในทันที

เคนโกะ คุมะ (Kengo Kuma) เป็นสถาปนิกระดับโลกชาวญี่ปุ่น ที่มีผลงานการออกแบบที่มีชื่อเสียงมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โครงการออกแบบสถานีรถไฟ ‘Saint-Denis Pleyel Railway Station’ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หรือสนามแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพในปี ค.ศ.2020 และอีกมากมาย

การเลือกสถาปนิกรายนี้ไม่เพียงแต่เลือกจากผลงาน แต่ยังถือเป็นสถาปนิกอินเทรนด์จากผลงานที่จะปรากฏโฉมต่อสายตาชาวโลกในอนาคตอันใกล้ในมหกรรมโอลิมปิกอีกด้วย

เอกลักษณ์การออกแบบของเคนโกะ คุมะ อยู่ที่การให้ความสำคัญกับวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาประยุกต์กับศิลปะสมัยใหม่ แต่สามารถถ่ายทอดตัวตนและความเป็นญี่ปุ่นออกมาได้ชัดเจน รวมทั้งเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างเช่น การนำไม้ฮิโนกิ ไม้ตระกูลต้นสนที่มีทั่วไปในญี่ปุ่น ซึ่งยังสอดคล้องกับนโยบายส่วนหนึ่งของ Starbucks ที่มีแผนการสร้างร้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จภายในปี 2025

ครั้งนี้สำหรับสาขาที่ไต้หวัน เขาได้ใช้ตู้คอนเทนเนอร์รีไซเคิลทั้งหมด 29 ตู้ มาปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ขนาดพื้นที่รวม 320 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่ในเมืองฮัวเหลียน (Hualien) ประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่ในภาคกลางของไต้หวัน มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่ออย่างตาโรโกะ ที่นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเองก็นิยมเดินทางไปเที่ยวไม่น้อย

โครงสร้างของร้านออกแบบให้มีหลายชั้น ดีไซน์ตกแต่งด้วยสีขาว ดูสะอาด โปร่งโล่ง มีหน้าต่างที่สามารถมองเห็นวิวภายนอกได้ชัดเจน

สาขาตู้คอนเทนเนอร์นี้ ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์การค้า Hualien Bay Mall ซึ่งมีชั้นลอยที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ภายในตัวห้าง มีไอคอนที่โดดเด่นซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของสตาร์บัคส์อยู่ด้านข้างของตู้คอนเทนเนอร์ชั้นบนสุด ที่ได้แรงบันดาลใจจากใบของต้นกาแฟและสถาปัตยกรรมโบราณของจีน ซึ่งอยู่ภายใต้ซุ้มประตูของพระราชวังและวัดในสถานที่ประวัติศาสตร์

หน้าต่างของตู้คอนเทนเนอร์ชั้นล่าง อยู่ติดกับถนน เหมาะสำหรับคนที่เดินมาซื้อกาแฟแบบไป-กลับ รวมไปถึงการตกแต่งและออกแบบ ทำให้ลูกค้าสามารถเพลิดเพลินกับเครื่องดื่ม ที่ตั้งอยู่ในบูธเรียงราย และนั่งจิบกาแฟสบายๆ ที่ม้านั่ง

เรียกว่าออกแบบมาตรงจุด เหมาะกับลูกค้าที่ต้องการความสะดวกสบาย เพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศได้ครบถ้วนเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การใช้ตู้คอนเทนเนอร์มารีโนเวตเป็นร้านกาแฟของสตาร์บัคส์รูปแบบนี้ แม้จะดูแปลกใหม่เต็มไปด้วยคอนเซ็ปต์ของทั้งผู้ออกแบบและนโยบายของแบรนด์ แต่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ใช้ตู้คอนเนเนอร์เป็นวัสดุในการทำร้าน เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการใช้ตู้คอนเทนเนอร์มาแล้วถึง 45 สาขาในสหรัฐอเมริกา แต่ครั้งนี้เป็นสาขาแรกที่ได้ดีไซเนอร์คนดังมาร่วมงานอย่างที่กล่าวมาในตอนต้น

สำหรับเคนโกะ คุมะ ครั้งนี้ก็ไม่ใช่การทำงานร่วมกับสตาร์บัคส์ครั้งแรก แต่เขาเคยมีผลงานออกแบบให้สตาร์บัคส์ สาขาดะไซฟุ (Dazaifu) ซึ่งกลายเป็นจุดเช็กอินของบรรดานักท่องเที่ยวฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว

โดยสาขาดะไซฟุ เป็นการเลือกใช้เทคนิคดั้งเดิมของการสอดประสานบล็อกไม้ถึง 2 พันชิ้นเข้าด้วยกัน ทำให้ดูไม่แปลกแยกจากสถาปัตยกรรมเก่าแก่ของชุมชนในเมืองที่อยู่ละแวกใกล้เคียง รวมไปถึงออกแบบ Starbucks Reserve Roastery แห่งใหม่ในโตเกียวที่รวมการออกแบบสไตล์ญี่ปุ่นที่มีความสดชื่น ทันสมัย และมีศิลปะ และจะทำการเปิดให้บริการ มอบประสบการณ์สุดหรูกับคอกาแฟ ในปลายปีนี้

ใครที่มีแผนไปโตเกียวปลายปีนี้ ก็อย่าลืมหาโอกาสไปฉลองสตาร์บัคส์สาขาใหม่ ผลงานดีไซเนอ์คนดังไปพร้อมกันด้วย

https://www.dezeen.com/2018/10/15/kengo-kuma-shipping-container-starbucks-coffee-shop-taiwan-architecture/amp/