เฟลชแมนฮิลลาร์ด ประเทศไทย เอเจนซี่ประชาสัมพันธ์และดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งข้ามชาติ เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดด้านความเชื่อ ทัศนคติ และมุมมองต่อสังคม ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการบริโภคของมิลเลนเนียลไทยยุค 4.0 ชี้ คนหนุ่มสาวยุคใหม่มีนิยามของความสำเร็จและความสุขที่ต่างออกไป แสวงหาความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย และไม่ยึดติดกับแบรนด์
แม้ “เงิน” จะสำคัญ แต่ “ความสุข” นั้น สำคัญกว่า
ในขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 70% ยอมรับว่าเงินคือตัวชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจนที่สุด และอีกกว่า 87% ยังเผยว่ารู้สึกดีที่ได้ใช้จ่ายเพื่อปรนเปรอตนเอง แต่พวกเขากลับบอกว่า แม้ว่า “เงิน” จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ แต่พวกเขาก็มีความชัดเจนกับความต้องการของตัวเองมากพอที่จะไม่มองว่าเงินสำคัญมากไปกว่าความสุขในชีวิต
นอกจากนี้ พวกเขายังให้ความเห็นต่อนิยามของความสุขว่า คือการมีสุขภาพที่ดี (67%) และการมีเวลาให้กับตัวเองและความมีอิสระในการใช้ชีวิต (67%) ขณะที่สัดส่วนของมนุษย์มิลเลนเนียลที่ให้ความสำคัญกับการออมเงินมีประมาณ 55%
ยอมเปย์เท่าไหร่ก็ได้ หากแบรนด์เข้าใจตัวตนของฉัน
หนุ่มสาวชาวมิลเลนเนียลให้ความสำคัญกับการแสดงความเป็นตัวตนที่ชัดเจนของตนเอง ชาวมิลเลนเนียล 79% จึงพร้อมที่จะจ่ายมากกว่าให้กับสินค้าและบริการ หากแบรนด์นั้นๆ สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะตัวของพวกเขาได้
โดยบรรดาแบรนด์สินค้าห้าอันดับแรกที่สามารถสร้างโอกาสได้ดีในการสร้าง personalized brand สำหรับชาวมิลเลนเนียล ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอาหาร ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม สินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ ธนาคาร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
เอกเทศ เอกเทรนด์
แม้จะชอบแบรนด์ที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตน ทว่ามิลเลนเนียลไทยกลับมองว่าความเป็นปัจเจกชนของพวกเขานั้น ไม่สามารถตอบสนองได้ด้วยแบรนด์ใดเพียงแบรนด์เดียว การที่ 84% ของหนุ่มสาวในยุคนี้ใช้แฟชั่นเป็นเครื่องแสดงตัวตน ทำให้พวกเขามักมองหากิจกรรม ดนตรี และเสื้อผ้า ที่แตกต่างไปจากกระแสนิยม
นอกจากนี้ ชาวมิลเลนเนียลอยากใช้เวลาอยู่กับตัวเองมากถึง 86% แม้จะชอบติดต่อกับเพื่อนผ่านโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลา แต่พวกเขากลับให้น้ำหนักความสำคัญกับการออกไปสมาคมสังสรรค์กับเพื่อนฝูงเพียงแค่ 21%
ภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์สำคัญกว่าโลกแห่งความจริง
แม้พวกเขาจะบอกว่าใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือมากเกินไป แต่ชาวมิลเลนเนียลก็ยอมรับว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และวิธีการแสดงความเป็นตัวตนบนโลกออนไลน์มากกว่าโลกในความเป็นจริงถึง 56% โดยราว 65% กล่าวว่าพวกเขาใช้เวลาไปกับการดูแลสุขภาพของตนเองเพื่อให้ดูดีขึ้นบนโลกโซเชียล ขณะที่ 56% เชื่อว่าโลกโซเชียล และแอปต่างๆ เช่น ทินเดอร์ (Tinder) คือสื่อกลางที่จะทำพวกเขาได้เจอกับความสัมพันธ์และมิตรภาพที่ดี
คนยุคใหม่มั่นใจกับอนาคตของประเทศ
ขณะที่ชาวมิลเลนเนียลแสวงหาความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม อาทิ อิสรภาพในการใช้ชีวิตควบคู่กับการทำงานผ่านเทคโนโลยีในทุกสถานที่ทั่วโลก ความเท่าเทียมในสังคมผ่านมิติความหลากหลายทางเพศ ศาสนา เชื้อชาติ และวัฒนธรรม การเมืองที่มุ่งตอบสนองต่อประชาชนส่วนใหญ่ พวกเขาก็ยังเชื่อมั่นกับอนาคตของประเทศไทยว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางทีดีขึ้น โดยผู้ชายยุคมิลเลนเนียล (42%) มีความมั่นใจในอนาคตของประเทศมากกว่าผู้หญิงชาวมิลเลนเนียล (28%)
มัดใจชาวมิลเลนเนียลให้อยู่หมัด
โสพิส เกษมสหสิน รองประธานอาวุโสและผู้จัดการทั่วไป และพาร์ตเนอร์ เฟลชแมน ฮิลลาร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ชาวมิลเลนเนียลที่สำรวจ มีอายุระหว่าง 25-37 ปี ซึ่งเป็นคนวัยทำงานส่วนใหญ่ และเป็นกำลังสำคัญที่ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้แบรนด์ต่างๆ ให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้อย่างมาก
ชาวมิลเลนเนียลเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความซับซ้อน มีความต้องการและทัศนคติที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้ว แม้จะกล้าใช้จ่ายกับสินค้าและการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการ แต่ก็คำนึงถึงปัจจัยด้านราคาเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน
การที่ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลมีมุมมองด้านการใช้ชีวิตและการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากคนยุคก่อน ทำให้แบรนด์ต่างๆ ต้องเร่งทำความเข้าใจ และปรับตัวพื่อตอบสนองต่อความต้องการของคนยุคใหม่ ทั้งสร้างสรรค์สินค้าและบริการ รวมไปถึงการนำเสนอโปรแกรมสมาชิกที่ตรงใจผู้บริโภค
การสร้างแบรนด์ที่มีความหมายต่อตัวตนและความเชื่อ จะซื้อใจชาวมิลเลนเนียลได้มากกว่าการสร้างแบรนด์ที่ตอกย้ำสถานะทางสังคม นอกจากนี้การที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความฉลาดเลือกและช่างค้นหา ความจริงใจและโปร่งใสของแบรนด์ รวมไปถึงการใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของพวกเขา จะทำให้เข้าถึงชาวมิลเลนเนียลได้มากกว่า
แบบสำรวจ “มิลเลนเนียลไทย : ความเชื่อ ทัศนคติ และมุมมองต่อสังคม” รวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างคนไทย อายุ 25 – 37 ปีทั่วประเทศจำนวน 500 คน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างเฟลชแมนฮิลลาร์ด ประเทศไทย และทีมโกลบัล อินเทลลิเจนซ์