สรุปภาพ ‘โซเชียลมีเดีย’ ครึ่งปีแรก สำหรับ ‘แบรนด์’ เตรียมพร้อม รับมือช่วงเวลาที่เหลือ

จากข้อมูลของ We Are Social พบว่าช่วง 6 เดือนแรกคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 9.06 ชั่วโมงต่อวัน สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก เฉพาะเวลาที่ใช้กับโซเชียลมีเดียอยู่ที่ 2.59 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 2.27 ชั่วโมงต่อวัน โดยไทยอยู่อันดับ 15 ร่วงลงมาจาก Top 5 เมื่อเทียบกับช่วง 2-3 ปีก่อนหน้า โดยแนวโน้มชี้ไปว่าคนไทยเริ่มใช้โซเชียลมีเดียน้อยลง

ในส่วนของโซเชียลมีเดียยอดนิยมของไทย 5 ปีหลังพบว่า YouTube แซง Facebook ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ส่วน Line อยู่อันดับ 3 ตามด้วย Facebook Messenger เป็นอันดับ 4 ขณะที่ TikTok มาแรงแซงทั้ง Instagram และ Twitter

Facebook ไม่ได้ Dominated โซเชียลอีกต่อไป

ในส่วนของแพลตฟอร์มที่มีแบรนด์เปิดบัญชีทางการของตัวเองมากที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2022 ได้แก่

  • Facebook 99%
  • Instagram 65%
  • YouTube 53%
  • Twitter 33%

“ตัวเลขของ Facebook ไม่เปลี่ยนมานาน มันกลายเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกแบรนด์ต้องมี ที่น่าสนใจคือ YouTube กับ Instagram ที่เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงในแง่เอ็นเกจเมนต์ด้วย แปลว่า Facebook ไม่ได้ dominated แบรนด์เริ่มกระจายไปยังแพลตฟอร์มอื่นแล้ว” กล้า ตั้งสุวรรณ Chief Executive Officer, Wisesight

อย่าสนใจ Like ให้สนรีแอคชั่นอื่น ๆ

จำนวนการกดไลก์เริ่มลดลงจาก 98% เหลือ 96% เนื่องจากผู้ใช้เริ่มกดอีโมชั่นอื่น ๆ มากขึ้น แปลว่า ไลก์ไม่ใช่ตัวชี้วัดอีกต่อไป แต่รีแอคชั่นอื่น ๆ มีความหมายมากขึ้น เพราะไลก์เป็นปุ่มที่กดง่ายที่สุด ดังนั้น ไม่มีความหมายอะไรทั้งนั้น

“ไลก์เยอะไม่ได้แปลว่าดี เพราะมันกดง่าย แต่ควรใส่ใจกับอีโมชั่นอื่น ไม่ว่าจะ Love หรือ Angry”

แบรนด์ทำคอนเทนต์เองมากกว่าจ้าง

จำนวนคอนเทนต์ของแบรนด์ในโลกโซเชียลมีปริมาณเพิ่มขึ้น 10.2% จาก 222,000 โพสต์ต่อเดือน เป็น 225,000 โพสต์ต่อเดือน แต่ที่ เอเจนซี่ กลับยิ่งเหนื่อยเป็นเพราะ แบรนด์ผลิตเอง เลือกที่จะไม่จ้างเอเจนซี่เนื่องจากต้องการ ประหยัดงบ ขณะที่อุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายทำก็หาได้ง่ายในราคาที่ไม่แพง

คนพิมพ์สั้นลงแต่โพสต์เยอะขึ้น

ชาวโซเชียลในปัจจุบันมีพฤติกรรมที่ชอบโพสต์ แต่พิมพ์ข้อความน้อยลง เนื่องจากกลัวว่าจะถูกมองว่า ไม่เรียล หรือถูกมองว่า โดนจ้างโพสต์ ซึ่งแปลว่าจากนี้ แบรนด์จะจับพฤติกรรมผู้บริโภคได้ยากขึ้นหากยังยึดติดกับ คีย์เวิร์ด หรือ แฮชแท็ก ดังนั้น แบรนด์อาจต้องหาเอไอจับโลโก้ เป็นต้น

“เรานึกภาพของโซเชียลมีเดียช่วง 3 เดือนก่อนไม่ออกด้วยซ้ำ เพราะอุตสาหกรรมดิจิทัลมีเดียเปลี่ยนแปลงเร็วมาก คงมีแค่ตลาดคริปโตฯ ที่เปลี่ยนเร็วกว่า และพฤติกรรมใหม่ ๆ ของผู้บริโภคถือเป็นสัญญาณที่ทำให้แบรนด์เข้าใจผู้บริโภคได้น้อยลง ถ้ายังวนเวียนกับคำว่าคีย์เวิร์ด”