Thanatkit
ถึงแม้ 2 แบรนด์ยักษ์ในกล้องมือโปรอย่าง Canon และ Nikon ตัดสินใจลงสังเวียน “Mirrorless Full Frame” หลังจากปล่อยให้มวยรองบ่อน “Sony” กอบโกยยอดขายล่วงหน้าถึง 5 จนกระทบส่วนแบ่งตลาดไปทั่วโลก (อ่านต่อ >> ถึงคราวยักษ์หลับต้องขยับตัว “Canon – Nikon” เปิดศึก Mirrorless Full Frame หลังจากปล่อยให้ “Sony” กินรวบมานาน)
แต่กลับสวนทางการเดินเกมของ “Olympus” แบรนด์ที่ครั้งหนึ่งเคยครองเบอร์ 1 ในตลาดเมืองไทย แต่วันนี้กลับอยู่เบอร์ 3 ด้วยส่วนแบ่ง 14% ประกาศตัวชัดเจนจะไม่ลงมาเล่นในเกม Mirrorless Full Frame โดยเด็ดขาด
Olympus ให้เหตุผลว่า ถึง Mirrorless Full Frame จะมีขนาดเล็กกว่า DSLR แต่จริงๆ แล้วด้วยเซ็นเซอร์ Full Frame ที่มีขนาดใหญ่ ภายนอกโดยรวมจึงลดลงเล็กน้อยไม่ได้แตกต่างจาก DSLR อย่างชัดเจน
“ถ้าทำกล้อง Mirrorless Full Frame ขึ้นมาจริงๆ Olympus จะต้องเปลี่ยนไลฟ์อัพของสินค้าทั้งหมดตั้งแต่กล้องไปจนถึงเลนส์ ซึ่งเรามองว่าไม่จำเป็นที่ต้องทำอย่างนั้น” มิซึฮิโร ทานากะ กรรมการบริษัทและผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์กล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บริษัท โอลิมปัส (ประเทศไทย) จำกัด บอกอย่างนั้น
ทำให้ Olympus จึงมุ่งไปที่เซ็กเมนต์ไลน์สไลต์ ซึ่งเป็นกล้องตัวเล็ก พกพาสะดวก เอาไว้ไปเที่ยวหรือถ่ายตัวเอง ไม่ได้ต้องการคุณภาพของภาพที่สูงสุด โดยเพิ่มเติมเทคโนโลยีกันสั่น 5 แกนของ Olympus ที่ช่วยให้ภาพนิ่ง ยิ่งเป็นกล้องระดับบนจะมีกันน้ำ กันฝุ่น โดยเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบการถ่ายภาพในป่า
Olypus มองว่า ความท้าทายที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่ตัวสินค้า แต่อยู่ที่ประสบการณ์ของผู้ใช้งานมากกว่า ด้วยวันนี้การถ่ายภาพถือเป็นงานอดิเรกไปแล้ว แบรนด์ในตลาดกล้องต่างก็มุ่งเน้นสร้างการรับรู้ผ่านการ Inspire ซึ่ง Olympus ก็จะทำอย่างนั้น แต่จะพยายามให้ต่างจากคนอื่น
จึงเป็นที่มาของ “โอลิมปัส สโตร์ บาย บิ๊กคาเมร่า” แฟลกชิพสโตร์แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ ณ ชั้น 4 โซนทางเข้า ZEN ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ ด้วยงบลงทุนกว่า 15 ล้านบาท
นอกเหนือจากสินค้าที่นำมาแบบ Full Line Up ทุกผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์เสริม อาทิ เคสหนังสำหรับใส่กล้อง สายคล้องกล้อง แบตเตอรี และแอปพลิเคชั่นต่างๆ รวมไปถึงเครื่องบันทึกเสียงดิจิทัลมาจำหน่าย ที่นี่ยังถือเป็น Business Model ใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นคอมมูนิตี้ของคนรักการถ่ายภาพได้มาเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยสื่อสารไปหากลุ่มลูกค้าได้โดยตรง จากที่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้สื่อสารเท่าไหร่นัก
โดยจะมีการทำเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการใช้กล้องถ่ายภาพ เทคนิคการถ่ายภาพโดยช่างภาพชื่อดัง เป็นกลุ่มเล็กๆ 20-30 คน ทำต่อเนื่องทุกอาทิตย์ โดยเชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยให้เพิ่มฐานแฟนคลับของ Olympus ที่ตอนนี้มีราว 500,000 – 600,000 คน
Olympus คาดหวังว่า ในแต่ละปีจะมีกลุ่มลูกค้ามาใช้บริการเฉลี่ยมากกว่า 20,000 คนต่อปี และสามารถช่วยเพิ่มยอดขายให้กับโอลิมปัสได้มากกว่า 20% ต่อปี อีกทั้งเป็นตัวช่วยสำคัญในการดันให้ Olympus พลิกกลับมาเป็นเบอร์ 1 ให้ได้ภายใน 2-3 ปีจากนี้
ปัจจุบันยอดขายของ Olympus ในเมืองไทย 70% มาจากกล้องรุ่น OMD ราคา 30,000 – 100,000 บาท ที่เหลือ 30% ราคาต่ำกว่า 30,000 บาท โดยมีกล้องที่วางขายอยู่ทั้งหมด 16-17 รุ่น ปีนี้เปิดตัวกล้องใหม่ไป 1 รุ่น EPL 9 โดยปีหน้าเชื่อว่าอาจมีการเปิดตัวกล้องมากกว่า 1 รุ่นแน่นอน.