ทริปล่ม คนไม่เที่ยว! ฉุดตลาด ‘กล้อง’ ติดลบ 43% หนักสุดในรอบ 3 ปี

ถือเป็นอีกตลาดที่ถูกเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์เนื่องจากการมาของ ‘สมาร์ทโฟน’ ที่พัฒนากล้องมาดีจนผู้บริโภคไม่ได้ต้องการซื้อกล้องมาใช้งาน ส่งผลให้ตลาด ‘กล้องถ่ายรูป’ ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องจนมีผู้เล่นบางรายหายไปจากตลาดแล้ว อาทิ ‘โอลิมปัส’ ที่เพิ่งขายธุรกิจกล้องถ่ายภาพให้กับ Japan Industrial Partners (JIP) ไปเมื่อปีที่ผ่านมา

COVID-19 ฉุดตลาดกล้องติดลบ 43%

แม้ว่าตลาดกล้องถ่ายภาพจะติดลบมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 แต่พอมาเจอ COVID-19 ยิ่งหนัก โดย วีระ เฉลียวปิยะสกุล ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ตลาดกล้องเป็นตลาดที่ต้องอาศัยอุตสาหกรรม ‘ท่องเที่ยว’ ดังนั้น เมื่อ COVID-19 ทำให้คนเดินทางท่องเที่ยวรวมถึงไม่สามารถจัดงาน ‘อีเวนต์’ ต่าง ๆ ได้ ยิ่งเป็นฝันร้ายของตลาดกล้องถ่ายภาพ

วิธีการตัดสินใจซื้อหรืออัพเกรดขึ้นอยู่กับทริปท่องเที่ยวที่จะไป นี่เป็นพฤติกรรมชัดเจนที่ส่งผลกับวงการกล้อง แต่พอเที่ยวไม่ได้ และงานไม่มี ก็หมดความจำเป็นในการซื้อกล้อง ยิ่งส่งผลให้เป็นปีที่ยากของอุตสาหกรรมกล้องถ่ายภาพ”

วีระ เฉลียวปิยะสกุล ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

จากตลาดในปี 2562 ที่มีมูลค่า 4,104 ล้านบาท แต่มาปี 2563 คาดว่าจะเหลือเพียง 2,294 ล้านบาท หายไป 43% ส่วนจำนวนกล้องลดจาก 1.24 แสนตัว เหลือ 6.53 หมื่นตัว และสำหรับในปีหน้า 2564 คาดว่ามูลค่าตลาดจะติดลบอีก 25% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปี 2563 นี้ยังไม่ใช่ ‘จุดต่ำสุด’

“เราถามตัวเองตลอดว่าจุดที่มันจะทรงตัวคือตอนไหน เพราะจากยอดขายปีละหลักล้านเครื่องตอนนี้เหลือหลักหมื่น แต่เราเชื่อว่าในปี 2565 ตลาดกล้องจะเริ่มกลับมาดีขึ้นและจะเป็นจุดทรงตัวของตลาด มันจะไม่มีทางต่ำไปกว่านี้อีกแล้ว”

ทางรอดอยู่ที่ ‘Full Frame’

โดยส่วนแบ่งการตลาดของกล้องในปัจจุบัน แบ่งเป็น กล้อง DSLR 26% และ Mirrorless 74% โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นประเภทกล้อง ‘Full Frame’ ถึง 43.3% และอาจเติบโตเป็น 50% ในอนาคตเนื่องจากยังเห็นแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่เป็นมืออาชีพซื้อ แต่ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วไปที่เริ่มซื้อกล้องหรือต้องการจะอัพเกรดกล้อง 70-80% มองหากล้อง Full Frame แถมลูกค้ากลุ่มนี้ยังมีการครอบครองเลนส์เฉลี่ยที่ประมาณ 3 ตัว ดังนั้น Nikon ในฐานะ ‘เบอร์ 1’ ของตลาด Full Frame ที่มีส่วนแบ่งตลาดที่ 42.4% จะต้องรักษาตำแหน่งให้ได้

โดยล่าสุด Nikon เปิดตัวกล้อง Full Frame รุ่นใหม่ ถึง 2 รุ่น คือ NIKON Z6 II และ NIKON Z7 II ที่มีจุดเด่นด้านการถ่าย ‘วิดีโอ’ ซึ่งถือเป็นเทรนด์ของความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้ที่ให้ความสำคัญทั้งการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอเท่า ๆ กัน ซึ่งในส่วนของการถ่ายวิดีโอนั้น Nikon ยอมรับว่าเป็นจุดอ่อนของแบรนด์มาโดยตลอด เพราะไม่ค่อยได้สื่อสารจนภาพจำลูกค้านึกถึงแต่ภาพนิ่ง

“กล้องเราถ่ายวิดีโอได้มานานแล้วแต่ไม่ค่อยได้สื่อสาร เพราะเรามีจุดแข็งที่ภาพนิ่งโดยเฉพาะ Full Frame ดังนั้น คู่แข่งจึงเน้นสื่อสารด้านวิดีโอแทน ซึ่งนั่นทำให้เราพลาด”

เน้นทำตลาดผ่าน ‘ออนไลน์’ เพื่อเข้าถึง ‘เด็ก’

อีกหนึ่งจุดอ่อนของ Nikon ก็คือ ฐานผู้ใช้ที่เป็น ‘ผู้ใหญ่’ เสียเยอะ โดยปัจจุบันกลุ่มลูกค้ามีอายุเฉลี่ยที่ 30 ปีต้น ๆ แม้ลดลงจากเดิมที่มีอายุเฉลี่ย 40-45 ปี แต่ฐานลูกค้าคู่แข่งเฉลี่ยที่อายุ 25 ปีเป็นหลัก ซึ่งจุดนี่ถือเป็นอีกจุดที่ Nikon มองว่าอาจเป็นปัญหาในระยะยาว ดังนั้น Nikon จึงพยายามสื่อสารไปที่คนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยดึงอินฟูลเอนเซอร์เด็ก ๆ เข้ามาเป็นกระบอกเสียง และมีทีมนิคอนยูสทีมเพื่อสื่อสารกับกลุ่มเด็ก ๆ

“นี่เป็นสิ่งที่เรากังวลมาก เพราะอายุเยอะขึ้นมีคนออกจากตลาดมากกว่าที่เราหาลูกค้าใหม่ ถ้าเป็นแบบนี้อีก 3-5 ปีเราจะลำบากมาก”

ประกอบกับหน้าร้านส่วนใหญ่ถูกปิดไปช่วงล็อกดาวน์ ทำให้หันไปโฟกัสการขายผ่านออนไลน์แทน ขณะที่ปีนี้งาน ‘Photo Fair’ ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ที่ช่วยสร้างยอดขายก็ไม่ได้จัด ดังนั้น จากการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด Nikon จึงต้องปรับตัว โดยปีนี้ได้ ยกเลิกโฆษณาในสื่อออฟไลน์ทั้งหมด ไปลงออนไลน์แทน เนื่องจากเร็วกว่า เปลี่ยนแปลงได้ง่าย นำเสนอได้หลายแบบ และไปโฟกัสที่คนรุ่นใหม่ และโปรโมชันต่าง ๆ จะทุ่มไปที่แคมเปญ 11.11 และ 12.12

“ด้วยสถานการณ์ การประท้วงที่อาจทำให้เดินทางไม่สะดวก รวมถึงต่างจังหวัดที่ไม่มีร้านกล้องอยู่ ขณะที่งบการตลาดจาก 200 ล้านบาท แต่ปีนี้เราใช้ไม่ถึง 30 ล้านบาทเพราะต้องระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้น ออนไลน์จึงเป็นทางที่เราไปเต็มรูปแบบเพราะตัวเลือกเราถูกบีบมา ดังนั้นเชื่อว่าอนาคตสัดส่วนยอดขายออนไลน์ปีนี้จะอยู่ที่ 21% จากปีที่ผ่านมามีเพียง 9.2% และปีหน้ามีโอกาสถึง 30-40%

สุดท้าย เป้าหมายปีนี้ของ Nikon คือ ต้องพยายามติดลบให้น้อยกว่าตลาด โดยต้องไม่เกิน 30% ซึ่งในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีจะเป็นตัวชี้วัดสิ่งที่เราทำ