“ซิตี้แบงก์” ยกเครื่อง Mobile Banking จุดพลุฝั่งบัตรเครดิต รูดปรื๊ดผ่าน App

Thanatkit

เมื่อ “Mobile Banking” เป็นอาวุธสำคัญสำหรับธนาคารพาณิชย์ไทยที่ใช้สู้ศึก และด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มคุ้นชินกับการใช้บริการ ดังนั้น สเต็ปต่อไปจึงต้องพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้ดึงดูดให้คนยังใช้งานต่อไป ไม่หนีไปหาธนาคารอื่นๆ ซึ่งตอนนี้สิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการมากที่สุดคือ “ง่าย เร็ว และปลอดภัย”

ทั้ง 3 ข้อกลายเป็นใจความหลักที่ “ธนาคารซิตี้แบงก์” ใช้ยกเครื่อง Mobile Banking ใหญ่ครั้งที่ 2 ซึ่งพัฒนาต่อมาจากเวอร์ชั่นแรกที่เปิดตัวในปี 2016 โดยไม่ได้ระบุว่า ใช้เงินไปเท่าไหร่ในครั้งนี้ ด้วย “ซิตี้โมบายล์แอปพลิเคชัน” ถูกพัฒนาให้เป็นเวอร์ชั่นเดียวกันทั่วโลก จึงถือเป็นงบลงทุนในภาพรวม

หลักๆ แล้ว UI (User Interface) หรือหน้าจอของผู้ใช้จะเหมือนกันในทุกประเทศ ยกเว้นฟีเจอร์ต่างๆ ที่แต่ละประเทศจะปรับเปลี่ยนกันเอง อย่างของในเมืองไทย ซิตี้แบงก์จะเริ่มจากฝั่งผู้ใช้งานบัตรเครดิตก่อน

เนื่องจากช่วงต้นปีที่ผ่านมาซิตี้แบงก์ได้รับโอน “ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลและธุรกิจบัตรเครดิต” จากธนาคารทิสโก้จำกัด (มหาชน) ด้วยมูลค่า 6,900 ล้านบาท ทำให้มีฐานผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอีกราว 100,000 ราย

ฟีเจอร์ที่มีใน Mobile Banking เวอร์ชั่นใหม่ อาทิ การทำรายการเปลี่ยนวงเงินบัตรเครดิตให้เป็นเงินก้อนโอนเข้าบัญชี หรือเปลี่ยนยอดใช้บัตรโดยทำการแบ่งชำระยอดเป็นรายเดือน การระงับการใช้บัตรชั่วคราว และเปิดใช้งานได้ทันทีที่ต้องการ หรือการเปลี่ยนรหัสเอทีเอ็มผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

ส่วนฟีเจอร์ที่มีเฉพาะเมืองไทยคือการสแกนและจ่ายด้วยบัตรเครดิต (Scan and Pay) ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ การจ่ายผ่าน QR Code ซึ่งจะต่างจากบริการที่มีอยู่ในวันนี้ที่การจ่ายจะหักจากบัญชีผู้ใช้งานโดยตรง แต่ครั้งนี้จะหักผ่านบัตรเครดิต

ปัจจุบันร้านค้าที่รองรับจึงยังมีไม่มากนัก หลักๆ จะอยู่ในกรุงเทพฯ เช่นเดอะมอลล์ตลาดนัดรถไฟ หรือตลาด อ... เป็นต้น โดยบริการนี้ของซิตี้แบงก์ถือเป็นรายแรกของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ได้รับอนุญาต เปิดให้ใช้งานจากธนาคารแห่งประเทศไทย

นายประทีป คามัคค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายดิจิทัลแบงกิ้ง ธนาคารซิตี้แบงก์

ประทีป คามัคค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายดิจิทัลแบงกิ้ง ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า

“Mobile Banking เวอร์ชั่นก่อนหน้านี้จะรวมเอาฟีเจอร์ทั้งในฝั่งของผู้ใช้รายย่อยและบัตรเครดิตมาไว้รวมกัน แต่เราพบว่า บางฟีเจอร์ก็ไม่จำเป็นกับผู้ใช้บัตรเครดิต จึงได้พัฒนาใหม่โดยแยกออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อให้ลูกค้าใช้งานได้ง่ายและใช้เวลาในการทำธุรกรรมให้น้อยที่สุด ส่วนของผู้ใช้รายย่อย ก็จะพัฒนาเป็นเฟสต่อไป คาดว่าจะเปิดตัวได้ไม่เกินเมษายนปีหน้า”

ปัจจุบันซิตี้แบงก์มีฐานลูกค้าบัตรเครดิตทั้งหมด 1 ล้านราย ใช้งาน Mobile Banking 50% เฉลี่ย 2-3 ครั้งต่อเดือน หลังจากยกเครื่องแล้วต้องการให้ใช้งานทั้ง 100% ภายใน 1-2 ปีนี้ และเพิ่มการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนอีก 1 เท่าตัว

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ซิตี้แบงก์มีการลงทุนที่มากกว่าปกติทุกปี ไม่ใช่แค่การซื้อพอร์ตบัตรเครดิตแต่ในฝั่งของการตลาดก็ใช้เงินมากกว่าที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ตั้งให้ สู่ขวัญ บูลกุล” มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ ซิตี้โกลด์ ซึ่งเป็นบริการการบริหารความมั่งคั่ง

ตามต่อด้วยการใช้เงินกว่า 100 ล้านบาท เปิดตัวบัตรเครดิตซิตี้ พรีเมียร์” เน้นเจาะกลุ่มผู้ที่ชอบการช้อปปิ้งและท่องเที่ยว โดยได้ชมพู่อารยา เอ ฮาร์เก็ต” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ซึ่งซิตี้แบงก์ช่วยให้ยอดสมัครบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 25% ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่องทางออนไลน์

นอกจากนี้เป็นสปอนเซอร์หลักของ MICHELIN Guide Thailand และ บุกเข้าไปในฝั่งแฟชั่นด้วยการจับมือกับ VATANIKA แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังของไทย ทำคอลเลกชั่นพิเศษโดยใช้รับแรงบันดาลใจมาจากลวดลายบนหน้าบัตรเครดิตซิตี้ พรีเมียร์ ซึ่งจัดแสดงในงาน แอล แฟชั่น วีค 2018 อีกด้วย.