ทีวี โฆษณาหด ไตรมาส 3/61 กำไรลดถ้วนหน้า อาร์เอสได้ Home Shopping ช่วย

สถานการณ์ของทีวีดิจิทัลเวลานี้ อยู่ในช่วง “ท้าทาย” อย่างมาก เมื่อรายได้จากค่าโฆษณาไตรมาส 3 ลดลงต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่ค่ายอาร์เอส ทีวีดิจิทัลช่อง 8 แต่อาศัยว่าธุรกิจ Home Shopping ยังเป็นรายได้หลักของบริษัท ทำให้บริษัทมีผลกำไรอยู่ที่ 106.6 ล้านบาท ลดลง 13.9%

อาร์เอสแจ้งผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2561 ว่า มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวมของไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 837.3 ล้านบาท ลดลง 15.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลง 12.3% จากไตรมาส 2 ของปีนี้

ในส่วนของกำไร ก็ลดลงเช่นกัน โดยไตรมาส 3 ปีนี้ มีกำไรอยู่ที่ 106.6 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวของปีที่แล้ว 13.9% และลดลงถึง 36.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีนี้

อาร์เอสชี้แจงว่า สาเหตุที่รายได้และกำไรลดลง เป็นผลมาจากงบโฆษณาสื่อทีวีไตรมาส 3 ลดลงต่อเนื่องทุกเดือน โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา งบโฆษณารวมลดลง 0.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งช่อง 8 ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ทำให้รายได้ส่วนนี้อยู่ที่ 300 ล้านบาท ลดลง 35.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากค่าโฆษณาที่ 463.1 ล้านบาท

ในขณะที่รายได้จากธุรกิจขายสินค้าประเภท Home Shopping มีรายได้อยู่ที่ 495.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% จากปีก่อน แต่ลดลง 8.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เพราะได้รับผลกระทบจากข่าว การตรวจพบสินค้ามีสารปลอมปน สารต้องห้าม แต่อาร์เอสชี้แจงว่าจะเริ่มดีขึ้นหลังจากเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป โดยรายได้จากการสินค้านี้ กลายเป็นสัดส่วนสำคัญถึง 54.9% ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจาก 42.8% ในปีก่อน และ 52.8% ในไตรมาส 2 ของปีนี้

กระแสละครไทย เรตติ้งมาแรงสุด แซงซีรีส์อินเดีย

อาร์เอสได้ชี้แจงว่าธุรกิจทีวีดิจิทัล ช่อง 8 ยังมีรายการหลักที่ได้รับความนิยมสูงมากขึ้นเรื่อยๆ คือละครไทย จากเนื้อหาหลัก คือ รายการขายสินค้า, ข่าว, ซีรีส์อินเดียและภาพยนตร์อินเดีย, มวย และละครไทย

ช่อง 8 เริ่มจัดละครไทยลงผังช่วงเย็นของวันทำงานเมื่อกลางปีนี้ ด้วยละคร “พยัคฆา” ส่งต่อมายัง “สาปกระสือ” ที่ออกอากาศตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน และเพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

สำหรับ “สาปกระสือ” เป็นละครพีเรียด ดราม่า ลึกลับ ตามแบบฉบับของละครที่จับกลุ่มคนดูต่างจังหวัด ที่ผูกพันกับความเชื่อมาตั้งแต่ในอดีต เรื่องความลึกลับเกี่ยวกับกระสือ จึงสร้างความสนใจกับกลุ่มผู้ชมได้เร็วขึ้น

จากสรุปเรตติ้งเฉลี่ยทั้งเรื่อง มีเรตติ้งอยู่ที่ 2.136 เป็นผู้ชมในพื้นที่ต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพฯ ตรงตามฐานผู้ชมของช่อง 8 โดยมีเรตติ้งสูงสุดในตอนจบ ได้สูงถึง 3.534

กลุ่มผู้ชมละครเรื่องนี้มากที่สุด เป็นกลุ่มผู้ชมอายุ 50+ และ อายุ 40-49 ปี แต่ที่น่าสนใจคือมีกลุ่มเด็กอายุ 4-9 ปี รับชมมาก รองลงมาด้วย เนื่องจากเป็นละครออกอากาศช่วงเย็น

“โมโน” พลิกขาดทุน 70 ล้าน 

ไตรมาส 3 ของปี 2561 นับเป็นไตรมาสแรกของปีนี้ ที่โมโนรายงานผลประกอบการขาดทุน หลังจากที่ทำกำไรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 ด้วยผลกระทบจากรายได้โฆษณาที่กระจายตัว ในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก และกีฬาเอเชียนเกมส์ และรายได้ขาลงของธุรกิจให้บริการข้อมูลข่าวสารและบันเทิงผ่านมือถือ

ธุรกิจหลักของโมโน เทคโนโลยี มี 2 ส่วนคือ ธุรกิจสื่อ ที่มีทั้งทีวี ออนไลน์ วิทยุ และธุรกิจให้บริการคอนเทนต์ ทั้งภาพยนตร์ เพลง กีฬา เกม ท่องเที่ยว โดยรายได้หลักจะเป็นรายได้จากค่าโฆษณา ตามมาด้วยธุรกิจด้านการให้บริการข้อมูลข่าวสารผ่านมือถือ

จากผลประกอบการบริษัทโมโน เทคโนโลยี ไตรมาส 3 ปี 2561 ที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น ระบุว่า ไตรมาส 3 ของปี 2561 นั้น มีผลกระทบจากธุรกิจที่เป็นรายได้หลักทั้ง 2 ส่วน จนทำให้มีผลประกอบการขาดทุนเป็นครั้งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะไตรมาส 3 ขาดทุนอยู่ที่ 69.99 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 ที่มีกำไรอยู่ที่ 70.69 ล้านบาท

ในขณะที่ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2561 นั้น ก็ยังขาดทุนอยู่ที่ 36.86 ล้านบาท จากที่เคยกำไร 145.46 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2560

ส่วนรายได้รวมในไตรมาส 3 ปี 2561 อยู่ที่  576.48 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้อยู่ที่ 711.30 ล้านบาท และรายได้รวมใน 9 เดือนปี 2561 ก็ลดลงเช่นกัน โดยลดลงจาก 2,051.19 ล้านบาทใน 9 เดือนแรกของปี 2560 มาอยู่ที่ 1,905.54 ล้านบาท

บอลโลก เอเชียนเกมส์ กระทบ

ช่องโมโน ครองเรตติ้งอยู่ในสถานะอันดับ 3 ของทีวีดิจิทัลทั้ง 25 ช่องในปัจจุบัน แต่ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โมโนชี้แจงว่าได้รับผลกระทบจากมหกรรมฟุตบอลโลก และการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ที่ทำให้เรตติ้งของช่องในช่วงดังกล่าวตกลงมา โดยเฉพาะในช่วงเอเชียนเกมส์ ที่ถ่ายทอดสดโดยช่องเวิร์คพอยท์ ส่งผลให้เรตติ้งช่องโมโนตกลงมาอยู่ในอันดับ 4

โมโน ได้ชี้แจงว่า ปกติรายได้จากค่าโฆษณาจะเติบโตตาม TV rating ที่เพิ่มขึ้น แต่มหกรรมฟุตบอลโลกและเอเชียนเกมส์มีส่วนทำให้โฆษณาถูกกระจายออกไป รายได้จากค่าโฆษณาของช่องโมโนจึงได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

โดยรายได้ค่าโฆษณาในไตรมาส 3 ปีนี้ อยู่ที่ 437.5 ล้านบาท ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีรายได้อยู่ที่ 478.63 ล้านบาท ส่วนรายได้โฆษณาใน 9 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 1,398.19 ล้านบาท นับว่าเพิ่มขึ้น 7.22% จากรายได้ช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่อยู่ที่ 1,304.05 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาสก่อนหน้านี้รายได้จากค่าโฆษณายังเติบโต

ทั้งนี้ รายได้ที่ลดลงมาที่สุดคือ รายได้จากการให้บริการข้อมูลผ่านมือถือ โดยในไตรมาส 3 ปีนี้มีรายได้ 46.32 ล้านบาท ลดลง 71.84% จากรายได้ 164.51 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2560 ส่วนรายได้ในรอบ 9 เดือนของปีนี้อยู่ที่ 261.56 ล้านบาท ลดลง 54.35% จากรายได้ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้อยู่ที่  573.03 ล้านบาท

โมโนเองก็ระบุว่า ธุรกิจดังกล่าวมีแนวโน้มลดลง จึงได้พยายามหารายได้อื่นๆ เข้ามาชดเชยรายได้ในส่วนนี้.