เลือกตั้งครั้งนี้สนุกแน่! ใครจะได้ฐานเสียง “คนรุ่นใหม่” วัดกันที่กึ๋น “คอนเทนต์” ล้วนๆ

Thanatkit

ปี 2018 จะมีหลายๆ เหตุการณ์ที่เข้ามาช่วยให้อุตสาหกรรมโฆษณามีลุ้นกระเตื้องขึ้นมาบ้างทั้งฟุตบอลโลกกับเอเชียนเกมส์ และยังมีเหตุการณ์พิเศษที่เข้ามาเสริม อีกทั้งกระแส BNK48 ตอนต้นปี, ละครบุพเพสันนิวาส ส่งต่อมายังละครเมีย 2018 และยังมีละครเลือดข้นคนจางที่เพิ่งลาจอไปพร้อมกับกระแสมากมายในโลกออนไลน์

ภวัต เรืองเดชวรชัย

ถึงปี 2019 ยังไม่รู้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่ในมุมมองของ ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจสายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด เหตุการณ์ที่จะเข้ามาสร้างสีสันในปีหน้าให้กับวงการได้แน่ๆ คือการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงต้นปีหน้า

ย้อนกลับไปการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2011 ครั้งนั้นพรรคการของเมืองไทย ใช้เงินสำหรับสร้างการรับรู้ และโปรโมตให้กับฐานเสียงตัวเอง รวมกันทุกพรรคและใช้รวมกันทั้งปี 294,728,000 บาททีวี คือผู้ที่ครองสัดส่วนมากถึง 50% เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงคนไทยมากสุด ตามด้วยสิ่งพิมพ์ 46% ที่เหลือ 4% เป็นสื่ออื่น เช่น วิทยุ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ  

ส่วนปี 2019 พรรคการเมืองจะใช้เงินมากขึ้นหรือน้อยลงภวัตยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจน เพราะหลายๆ สื่อไม่ได้แสดงจุดยืนว่าสามารถให้พรรคการเมืองลงสื่อโฆษณาบนแพลตฟอร์มได้ไหม ความหมายคือ สมมุติมีเอเจนซี่หนึ่งรับเป็นตัวแทนประชาสัมพันธ์ให้พรรคการเมืองนี้ และมีการทำสปอตโฆษณาขึ้นมา ต้องการไปซื้อสื่อ ยังตอบไม่ได้ว่าจะให้ลงได้ไหม

สื่อในวันนี้กับอดีตไม่เหมือนกัน ปัจจุบันสื่อรวมกันเป็นเน็ตเวิร์ก จะมีผู้เล่นไม่กี่ราย ถ้าเกิดให้ลงก็ต้องดูว่าจะมีเอฟเฟกต์เกิดขึ้นในทิศทางไหน ต้องรอดูกัน วันนี้มีการถามไปแล้วเพราะเผื่อมีลุ้นปีหน้าจะมีเม็ดเงินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งไหลเข้ามา

แม้ยังไม่รู้จะมีเงินสะพัดมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ สิ่งหนึ่งที่ภวัตตอบได้คือ สื่อไหนที่จะถูกเลือกใช้มากที่สุด ซึ่งครั้งก่อนหลักๆ เงินอยู่ที่ทีวีกับหนังสือพิมพ์ แต่คราวนี้ส่วนตัวเชื่อว่า หนังสือพิมพ์อาจจะน้อยลง สมรภูมิจะถูกโยกไปฝั่งสื่อนอกบ้านและออนไลน์แทน

ขณะเดียวกันความไม่ชัดเจนของสื่อออนไลน์โดยเฉพาะ Facebook และ Youtube ที่ถือครองเม็ดเงินหลักของโฆษณาดิจิทัลอยู่ สร้างความกังวลอยู่พอสมควร เพราะนโยบาย Facebook และ Youtube ที่ค่อนข้างเข้มงวดกับการเลือกตั้ง วันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะอนุญาตให้พรรคการเข้ามาทำกิจกรรม หรือหาเสียงได้ลงลึกแค่ไหน เช่น Boost Post หรือ การใช้คำต่างๆ บนพจทางการของพรรคการเมือง ส่วนเพจส่วนตัวยังไปได้เรื่อยๆ

ก่อนหน้านี้แคลร์ ดีวีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการนโยบาย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เคยบอกกับ Positioning ว่า เรื่องหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจของผู้ใช้ในเมืองไทย คือการเลือกตั้งที่กำลังใกล้เข้ามาแล้ว โดย Facebook ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถใช้หาเสียงได้ แต่จากปัญหาข่าวลวง ที่สามารถส่งผลถึงการเลือกตั้ง หลายๆ คนจึงกังวลในเรื่องนี้

แคลร์ ให้ความเห็นกว้างๆ ว่า ช่วง 18 เดือนมานี้ Facebook ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เพื่อป้องกันปัญหาข่าวลวงที่มีเป้าหมายแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้ง เช่น พยายามบอกสถานที่เลือกตั้งผิดๆ หรือส่งข้อความบอกให้ลงคะแนนผ่าน Facebook ซึ่งหากเจอก็จะลบบัญชีผู้ใช้ทันที

เป้าหมายหลักที่พรรคการเมืองจะมุ่งเป้าไปในปีนี้ คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่เพราะจะมาเป็นนักเลือกตั้งหน้าใหม่” (New Voter) กันอย่างคึกคัก คะเนคร่าวๆ กลุ่มดังกล่าวมีฐานใหญ่มากถึง 7-8 ล้านคน ด้วยจำนวนขนาดนี้หมายถึงสามารถช่วยให้พลิกคะแนนเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองได้เลยทีเดียว

แน่นอนเมื่อต้องการกวาดคนรุ่นใหม่มาเป็นฐานเสียงในมือ การเข้าไปอยู่ใกล้ตัวกับพวกเขาจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก สื่อที่ใช้คงหนีไม่พ้นโซเซียลมีเดียต่างๆ อันได้แก่ Facebook, Youtube และ Twitter รวมไปถึง KOL ด้วย

เพื่อให้สามารถจับเสียงของคนกลุ่มนี้ได้คอนเทนต์จะกลายเป็นตัววัดกึ๋นของพรรคการเมืองได้ทันที โดยสิ่งที่เราจะพบได้ต่อจากนี้ คือ การปั่นเรื่องราวให้เป็นกระแส (Viral) แบบเนียนๆ ที่หากไม่ได้อยู่ในวงการโฆษณาก็อาจจะมองออกได้ยาก เพื่อดึงการมีส่วนร่วม (Engagement) ให้มากที่สุดด้วย หากคุยเรื่องนโยบายเพียงอย่างเดียว คนรุ่นใหม่อาจจะไม่อยากฟังได้

วัยรุ่นไม่ค่อยคิดเยอะ ถึงจะไม่ค่อยสนใจเรื่องการเมือง แต่ถ้ามีรายใดพูดภาษาที่วัยรุ่นเข้าใจ ก็อาจเป็นตัวเลือกสำหรับพวกเขาได้

หนึ่งในไวรัลที่ออกมาไม่นานก่อนหน้านี้ คือ การที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พร้อมบุตรสาว จินนี่ยศสุดา ลีลาปัญญาเลิศ ออกมาลงพื้นที่พบปะประชาชนย่านประตูน้ำ ได้เรียกสือฮือฮาให้กับชาวโซเชียลถึงขนาดตั้งแฮชแท็ก #เข้าคูหากาเพื่อเธอ #เข้าคูหากาให้แม่ยายผมด้วยนะครับ ทั้งใน Twitter และ Facebook เลยทีเดียว.