สาธารณรัฐเอสโตเนีย หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่าเอสโตเนีย หนึ่งในประเทศเล็กๆ แถบยุโรปเหนือ มีพื้นที่เพียงแค่ราวๆ 45,000 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรเพียงแค่ 1.3 ล้านคนเท่านั้น มีพรมแดนติดกับอ่าวฟินแลนด์ ลัตเวีย และรัสเซีย ซึ่งประเทศเล็กๆ แห่งนี้นี่เอง ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบ e-Governance ที่ดีที่สุดในโลก
เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางธนาคารกรุงไทยได้มีโอกาสพาสื่อมวลชนบินเลาะฟ้าข้ามทวีปไปยังประเทศเอสโตเนีย เพื่อศึกษาดูงานระบบ e-Governance และถือโอกาสทดลองการใช้บัตร KRUNGTHAI Travel Card เพื่อทดลองการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว
เมื่อยิงคำถามที่ว่า ทำไมต้องเป็นประเทศเอสโตเนีย? ผยง ศรีวณิช แม่ทัพใหญ่ของธนาคารกรุงไทยได้ให้เหตุผลว่า “จริงๆ เคยได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานในหลากหลายประเทศในยุโรปที่มีความแข็งแกร่งในแต่ละด้าน แต่สุดท้ายประเทศนั้นๆ ก็บอกว่าให้ลองไปประเทศเอสโตเนีย เพราะมีการทำสำเร็จแล้ว จึงเป็นที่มาของการเดินทางมาเอสโตเนีย เพราะมีการวางระบบ e-Governance ครบวงจร”
เอสโตเนียได้รับยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีระบบ e-Governance ที่ดีมาก เนื่องจากตนเองเป็นประเทศเล็ก แต่อยู่ใกล้ประเทศใหญ่ๆ ทั้งสิ้น จึงต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ประเทศแข็งแรง
ปัจจุบันเอสโตเนียมีความก้าวหน้าด้าน e-Governance และ Digitalize บริการภาครัฐเป็น e-Service มากถึง 99% เรียกได้ว่าบริการภาครัฐทุกอย่างสามารถทำบนดิจิทัลได้ ยกเว้นการจดทะเบียนหย่า สาเหตุที่เอสโตเนียปฏิรูปรัฐบาลเป็น Digital Government คือ
- แก้ปัญหาคอร์รัปชัน หลังจากที่เอสโตเนียแยกตัวออกมาจากอดีตสหภาพโซเวียตในปี 1991 ประเทศเอสโตเนียประสบปัญหาคอร์รัปชัน และขาดแคลนทรัพยากรอย่างมาก
- ลดต้นทุนการให้บริการภาครัฐ เอสโตเนียเป็นประเทศเล็กมีประชากรประมาณ 3 ล้านคน ทำให้มีต้นทุนในการให้บริการของภาครัฐสูง และไม่สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีประชากรจำนวนมาก
ในยุค 90 เอสโตเนียมีคนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก เนื่องจากมีสถาบันวิจัยด้าน Cybernetics ซึ่งหารือร่วมกับรัฐบาลแล้วเห็นตรงกันว่า Digitalization จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้
สิ่งที่ทำให้เอสโตเนียประสบความสำเร็จในการ Digitalize บริการภาครัฐคือ พรรคการเมืองต่างๆ เห็นไปในทางเดียวกันว่า “ประเทศจะต้องพัฒนาด้านดิจิทัลต่อเนื่อง ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล” นอกจากนี้รัฐบาลยังร่วมมือกับภาคเอกชนซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำวิจัย และพัฒนา รวมถึงมีการปรับกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเอื้อให้เกิด Digitalization
ภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา นอกจากองค์กรด้านไอทีแล้ว ยังมีภาคธนาคารที่ต้องการให้บริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อเข้าถึงคนได้มากขึ้นด้วยต้นทุนการให้บริการที่ถูกกว่าการเปิดสาขา นอกจากนี้ธนาคารยังสนับสนุนการพัฒนา Computer Literacy ของคนในประเทศ เพื่อรองรับการใช้บริการแบบดิจิทัล
ในปัจจุบัน 99% ของบริการกลายเป็น e-Service โดยบริการเดียวที่ยังไม่สามารถทำออนไลน์ได้ คือ การหย่า เพราะติดข้อจำกัดด้านกฎหมาย คาดว่าบริการภาครัฐจะเป็น e-Service ได้ 100% ในปี 2024
อย่างไรก็ดีทุกบริการที่เป็น e-Service หากไม่สะดวกใช้บริการสามารถใช้บริการรูปแบบเดิม โดยจะได้รับบริการรวดเร็วขึ้นเนื่องจากคนจำนวนมากเปลี่ยนไปใช้ e-Service
ตัวอย่าง e-Service ที่ให้บริการคือ
1. การยื่นภาษี เป็นบริการแรกๆ ที่ปรับเป็น e-Service ปัจจุบันสามารถยื่นชำระภาษีได้ด้วยการคลิกเพียงไม่กี่คลิกเนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ถูก Prefill มาให้แล้วโดยระบบจากข้อมูลที่ดึงมาจากหน่วยงานต่างๆ ปัจจุบันคนยื่นภาษีผ่านระบบออนไลน์ 90%
2. Internet Voting (i-Voting) เริ่มต้นครั้งแรกต้องแต่ปี 2005 เอสโตเนียเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการเลือกตั้งระดับประเทศผ่านอินเทอร์เน็ต ข้อดีของการเลือกตั้งออนไลน์ คือ สะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการจัดคูหาเลือกตั้ง รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับคนเอสโตเนียที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศที่ไม่มีสถานทูต นอกจากนี้ยังช่วยลดเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เพราะเลือกตั้งซ้ำได้หลายครั้งจนกว่าจะปิดให้เลือกตั้ง ดังนั้นแม้ในครั้งแรกจะเลือกพรรคหนึ่ง แต่ก็สามารถกลับไปเลือกพรรคใหม่ได้
การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเดือนมีนาคม 2023 ที่ผ่านมา มีคนเลือกตั้งผ่าน i-Voting ประมาณ 51% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีผู้เลือกตั้งออนไลน์มากกว่าครึ่งของคนที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด สาเหตุที่คนยังออกมาเลือกตั้งที่คูหาแบบเดิมอาจเป็นเพราะเอสโตเนียเพิ่งได้รับเอกราชมาไม่นาน การออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่คูหาจึงเหมือนสัญลักษณ์เฉลิมฉลองการได้รับเอกราช และการเลือกตั้งเป็นประเพณีของครอบครัว อีกทั้งคนบางกลุ่มมองว่าการเลือกตั้งออนไลน์ไม่ปลอดภัย
ปัจจุบันเอสโตเนียมี State Portal Website (eesti.ee) เป็น One-stop Shop สำหรับบริการภาครัฐ และเป็นแหล่งรวมข้อมูลสำหรับบุคคล และธุรกิจที่ออกแบบให้เข้าใจง่ายใช้งานง่าย นอกจากการดูข้อมูล และใช้บริการ e-Service ต่างๆ ของภาครัฐแล้ว ยังมีฟีเจอร์ที่โดดเด่น และสร้างความโปร่งใสเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชน คือ Data Tracker ทำให้ประชาชนเจ้าของข้อมูลสามารถดูได้ว่าข้อมูลของเราถูกหน่วยงานใดเรียกดูข้อมูลส่วนบุคคล หากมีสิ่งผิดปกติสามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบได้
โดยที่ 3 เสาหลักที่เป็นรากฐาน e-Service ของเอสโตเนีย คือ Confidentiality, Availability และ Integrity
1. Confidentiality คือ การที่คนสามารถยืนยันตัวตนผ่าน e-Identification ได้อย่างปลอดภัย มั่นใจว่าข้อมูลต่างๆ เป็นความลับ ปัจจุบันมี “อุปกรณ์” ในการยืนยันตัวตน 3 รูปแบบคือ 1) บัตรประชาชนที่มีชิป 2) Mobile ID ซึ่งเป็นซิมการ์ดที่ใช้ยืนยันตัวตน 3) Smart ID แอปพลิเคชันที่ใช้ยืนยันตัวตน โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะต้องใช้ร่วมกับ PIN 1 และ PIN 2 โดย PIN 1 ใช้กับการยืนยันตัวตน เช่น การล็อกอินเข้าระบบต่างๆ PIN 2 ใช้ในการลงนาม Digital Signature ซึ่งเทียบเท่ากับการลงนามบนกระดาษมีผลผูกพันทางกฎหมาย
ปัจจัยที่ทำให้ e-Identity ในเอสโตเนียประสบความสำเร็จ คือ รัฐบาลบังคับให้ทุกคนมี Digital Identity โดยให้มาพร้อมกับบัตรประชาชน นอกจากนี้รัฐยังเปิดให้ภาคเอกชนต่างๆ นำ e-Identity ไปใช้ในการยืนยันตัวตนทำให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารที่นำไปใช้ยืนยันตัวตนลูกค้าเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งทำให้ประชาชนคุ้นเคยกับการใช้ e-Identity เทคโนโลยีหนึ่งที่นำมาใช้ในการยืนยันตัวตนออนไลน์ คือ Splitkey ของ Cybernetica ซึ่งทำให้คนสามารถใช้มือถือ และแท็บเล็ตในการลงนาม Digital Signature
2. Availability หมายถึงข้อมูลต้องเข้าถึงได้ตลอดเวลาโดยสิ่งที่สนับสนุนสิ่งนี้ คือ X-Road พัฒนาโดยบริษัท Cybernetica โดยที่ X-road เป็น Secure Data Exchange Infrastructure ที่ทำให้หน่วยงานต่างๆ สามารถส่งข้อมูลไปมาระหว่างกันได้อย่างปลอดภัยด้วยการเข้ารหัสข้อมูลที่ส่งโครงสร้างการจัดเก็บข้อมูลของเอสโตเนียเป็นแบบ Decentralized คือ แต่ละหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของตนเอง เมื่อหน่วยงานอื่นต้องการใช้ข้อมูลดังกล่าวสามารถดึงข้อมูลดังกล่าวไปใช้ ทำให้ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเดียวกันซ้ำในสองที่ (Once-only Principle) มั่นใจได้ว่าข้อมูลถูกต้อง และเป็นปัจจุบันเช่นข้อมูลที่อยู่จะถูกจัดเก็บไว้ที่ฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎร์เพียงที่เดียว
หากหน่วยงานอื่นต้องการทราบว่าบุคคลนี้อาศัยอยู่ในเมือง Tallinn หรือไม่ สามารถดึงข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์ โดย e-Service ของหน่วยงานอื่นจะถามมาที่ฐานข้อมูลของทะเบียนราษฎร์ว่าบุคคลนี้อาศัยอยู่ใน Tallinn หรือไม่ และได้รับคำตอบเพียงเท่าที่จำเป็นต่อการตอบคำถามเท่านั้น (Need-to-know Basis) หากมีการย้ายบ้านก็แจ้งย้ายบ้านกับทะเบียนราษฎร์เพียงครั้งเดียว ไม่ต้องไปแจ้งหน่วยงานอื่นๆ โดยข้อมูลจะถูกส่งผ่าน X-road แต่ X-road ไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชนก็จัดเก็บข้อมูล และส่งข้อมูลผ่าน X-road เช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นธนาคารมหาวิทยาลัย ฯลฯ
3. Integrity หรือความถูกต้อง และความสมบูรณ์ของข้อมูล ซึ่งไม่มีใครสามารถแก้ไขข้อมูลจึงมีการนำ KSI Blockchain ที่บริษัท Guardtime ให้กับรัฐบาลเอสโตเนียมาใช้ในการรักษาความปลอดภัยของ Sensitive Data การพัฒนา KSI Blockchain มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เอสโตเนียโดน Cyberattack ในระดับประเทศ จึงต้องหาวิธีรักษาความปลอดภัยนอกจากนี้ยังมี Data Embassy คือการ Back Up ข้อมูลต่างๆ ไว้ในต่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยง หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ข้อมูลหายไปหรือเกิด Cyberattack
เอสโตเนียในปัจจุบันเป็นแหล่งรวม Start-up ของโลกแห่งหนึ่ง เห็นได้จากการที่เอสโตเนียเป็นประเทศที่มี Start-up per Capita สูงที่สุดในโลกมี Unicorn per Capita สูงที่สุดในยุโรป และเป็นอันดับ 2 ของโลก
สาเหตุสำคัญ คือ การที่รัฐบาลทำให้เอสโตเนียมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมี Ease of Doing Business ในระดับสูง เช่น สามารถตั้งบริษัทได้ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีโครงการ e-Residency คือการที่คนต่างชาติมาสมัครเป็นพลเมืองของเอสโตเนีย และตั้งบริษัทสัญชาติเอสโตเนียบริหารจัดการบริษัทได้แบบออนไลน์ 100% ลดความยุ่งยากในการติดต่อกับรัฐบาล
ทำให้เข้าถึง European Single Market โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่เอสโตเนียจากโครงการ e-Residency เอสโตเนียได้ประโยชน์จากการจัดเก็บภาษีชดเชยภาษีที่เก็บได้น้อยลงจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ รวมถึงเกิดการสร้างงานทางอ้อมภายในประเทศ และมีการใช้จ่าย หรือใช้บริการบริษัทอื่นๆ
นอกจากนี้เอสโตเนียยังมีนโยบายจัดเก็บภาษีที่ดึงดูดโดยยกเว้นการเก็บภาษีจากกำไรที่นำกลับมาลงทุนต่อรวมทั้งชุมชน Start-up สนับสนุนกันและกันแบ่งปันความรู้กันเนื่องจาก Start-up ในเอสโตเนียไม่แข่งขันกันแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศ เพราะต่างมีตลาดของตนเองในต่างประเทศ
ในอนาคตเอสโตเนียมีแนวทางพัฒนาด้านต่างๆ ดังนี้
- รัฐบาลต้องการเป็น Proactive Government ที่จะนำบริการหรือสิทธิที่ประชาชนแต่ละคนพึงได้รับไปยื่นให้กับประชาชนโดยไม่ต้องมาสมัคร เพราะประชาชนบางคนก็ไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ หรือสวัสดิการใดบ้าง เช่น เมื่อคลอดลูกโรงพยาบาลจะแจ้งเกิดให้พ่อแม่ที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตรจะได้รับข้อความให้เลือกบัญชีที่จะรับเงินทันทีโดยไม่ต้องไปแจ้งกับหน่วยงานที่ให้สวัสดิการเองว่าตนเองมีลูกแล้วเป็นต้น
- นำ AI Chatbot มาช่วยในการโต้ตอบกับประชาชนให้ความช่วยเหลือและให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริการภาครัฐพัฒนา Speech Recognition เพื่อให้สามารถคุยกันได้โดยใช้เสียงทำให้คนที่มีปัญหาไม่สามารถพิมพ์โต้ตอบสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างเท่าเทียม
- ใช้งานระบบต่างๆในต่างประเทศได้ (Cross-border Digitalization) ซึ่งในปัจจุบันใช้ได้แล้วเช่น e-Prescription สามารถให้หมอที่หาประจำออกใบสั่งยาให้ และแสดงบัตรประชาชนซื้อยาในฟินแลนด์ได้ เป็นต้น
- ทำ Personalized Medicine คือ การนำข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลทางพันธุกรรมมาประมวลผลเพื่อให้คำแนะนำกับประชาชนในการป้องกันโรคซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าการรักษาโรค
- มุ่งสู่ Green ICT ด้วยการหาแนวทางและกำหนดยุทธศาสตร์ในการลด Carbon Footprint ที่เกิดการจากจัดเก็บข้อมูลและดำเนินการด้านดิจิทัล
อ่านเพิ่มเติม
- ประชาชนทิพย์! “เอสโตเนีย” เปิดโอกาสเป็น “พลเมืองดิจิทัล” มีจุดรับไอดีการ์ดในไทยแล้ว
- “ฟินแลนด์” แชมป์ประเทศที่ “มีความสุขที่สุดในโลก” แห่งปี 2023 “สิงคโปร์” สุขที่สุดในเอเชีย
- Bolt เปิดบริการเรียกรถเฉพาะ “คนขับหญิง” อุดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย
- เปิดโผ 8 เมืองดาวรุ่ง แหล่งดึงดูด “เทคสตาร์ทอัพ” แห่งปี 2020