ประชาชนทิพย์! “เอสโตเนีย” เปิดโอกาสเป็น “พลเมืองดิจิทัล” มีจุดรับไอดีการ์ดในไทยแล้ว

รู้จักโปรแกรม e-Residency ของ “เอสโตเนีย” โปรแกรมที่จะเปิดโอกาสให้คนทั่วโลกสมัครเป็น “พลเมืองดิจิทัล” ของประเทศ โดยไม่ต้องย้ายมาเอสโตเนียจริงๆ ปัจจุบันเปิด จุดรับ (pick-up point) ไอดีการ์ดหลังสมัครสำเร็จได้แล้วที่กรุงเทพฯ จากก่อนหน้านี้ชาวไทยต้องไปรับที่สิงคโปร์หรือเซี่ยงไฮ้

เอสโตเนีย เปิดโปรแกรม e-Residency นี้มาตั้งแต่ปี 2014 ให้คนชาติใดก็ได้สมัครขอเป็น พลเมืองดิจิทัล (e-Resident) ของเอสโตเนีย โดย “ลอรี่ ฮาฟ” กรรมการผู้จัดการ e-Residency อธิบายว่า จุดประสงค์โครงการคือให้ “อัตลักษณ์ออนไลน์” แก่คนชาติอื่น เพื่อให้คนคนนั้นทำงานแบบระยะไกลจากที่ไหนก็ได้ในโลก แต่มีสิทธิในเชิงการทำงานและธุรกิจแบบเดียวกับคนเอสโตเนีย

เหตุผลที่เอสโตเนียทำเช่นนี้ได้ เพราะเป็นประเทศที่ทำเอกสารราชการดิจิทัลได้ถึง 99% ของทั้งหมดโดยใช้ระบบลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ เหลือเพียง 2 อย่างที่คนเอสโตเนียต้องไปสถานที่ราชการ คือ จดทะเบียนสมรสและหย่า ดังนั้น แม้ตัวจะอยู่ที่อื่นในโลก แต่ก็ทำธุรกิจที่เอสโตเนียได้ ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนตั้งบริษัท เสียภาษี เปิดบัญชีธนาคาร หรือติดต่อราชการใดๆ

 

คนไทยได้อะไรจากการเป็น e-Resident เอสโตเนีย

ลอรี่ย้ำว่า คนที่ได้เป็น e-Resident เอสโตเนีย ไม่ได้หมายความว่าเป็นประชาชนเอสโตเนียจริงๆ ในโลกกายภาพ ไอดีการ์ดไม่สามารถใช้ในการเดินทางหรือใช้เป็นวีซ่าเข้าสหภาพยุโรปได้ แล้วประโยชน์ของมันคืออะไร?

ประโยชน์สำหรับคนไทยหรือชาติอื่นๆ ในโลกคือ สิทธิในการตั้งบริษัทสัญชาติเอสโตเนีย ซึ่งเป็นประเทศในสหภาพยุโรป การดำเนินธุรกิจในยุโรปจะเสมือนเป็นบริษัทสัญชาติยุโรป ธุรกิจที่มุ่งเจาะตลาดยุโรปจะทำงานง่ายขึ้น

นอกจากนี้ เอสโตเนียยังเสนอแรงจูงใจเพิ่มเติม เช่น ประเทศนี้อยู่ในอันดับ 14 การจัดอันดับประเทศที่เริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายที่สุด โดยธนาคารโลก (Ease of Doing Business Index) และอยู่ในอันดับ 18 ดัชนีชี้วัดมุมมองต่อการคอร์รัปชันในประเทศปี 2019 ซึ่งเหนือกว่าฝรั่งเศสและสหรัฐฯ

รวมถึงเป็นประเทศที่ระดับการแข่งขันด้านภาษีปี 2019 เป็นอันดับ 1 ของโลก เพราะมีโครงการให้สตาร์ทอัพที่จดทะเบียนในเอสโตเนีย ไม่ต้องเสียภาษีเมื่อทำกำไร (Profit Tax) จะเสียก็ต่อเมื่อจ่ายเงินปันผล (Dividend Tax) เพื่อส่งเสริมให้ใช้เงินหมุนเวียนกลับไปลงทุนในธุรกิจต่อ และสตาร์ทอัพจะโตได้ไวเพราะไม่มีภาระภาษีจากกำไร (อย่างไรก็ตาม หากคนไทยไปลงทุนแล้วรับจ่ายเงินปันผลจะเสียภาษีสองต่อคือภาษีนิติบุคคลที่เอสโตเนียและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ไทย)

เมืองทาลลินน์ เอสโตเนีย (Photo : Pixabay)

โครงการยังแนะนำ “ตัวอย่าง” e-Resident ที่อยู่ในภูมิภาคนี้ คือ จาค็อบ ปูเธนปารามบิล ซีอีโอบริษัท Redhill เอเยนซีด้านการประชาสัมพันธ์ จดทะเบียนในสิงคโปร์ แต่ล่าสุดเขาเพิ่งตั้งสาขาในเอสโตเนียแบบดิจิทัลตามโครงการนี้ เพื่อเริ่มเจาะตลาดยุโรปโดยไม่ต้องบินไปท่ามกลางโรคระบาด และใช้ประโยชน์จาก “ทาเลนต์” คนเอสโตเนียในการทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์และโปรแกรมเมอร์ ซึ่งติดต่องานออนไลน์ได้ทั้งหมด

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ มัทเทีย มอนทานารี ผู้ร่วมก่อตั้ง Resonance บริษัทการตลาดดิจิทัล เขาเป็นประชากรยุโรป แต่ต้องการเดินทางรอบโลก จึงสมัคร e-Resident เพื่อตั้งบริษัทเอสโตเนีย ใช้ประโยชน์จากการติดต่อราชการออนไลน์ 100% ทำให้เขาทำงานจากที่ไหนก็ได้ ปัจจุบันเขาอยู่ในบาหลี อินโดนีเซีย แต่เมื่อปีที่แล้วเขาเคยอาศัยอยู่ในไทยมาก่อน

จะเห็นได้ว่า แม้จะตั้งบริษัทอะไรก็ได้จากสิทธิตรงนี้ แต่ในทางปฏิบัติ บริษัทที่ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุดคือธุรกิจที่สามารถดำเนินการออนไลน์ได้ ทั้งผู้ให้บริการและรับบริการอาจอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก เช่น การตลาดดิจิทัล ที่ปรึกษา กราฟิกดีไซเนอร์ ฯลฯ

 

เปิดจุดรับไอดีการ์ดใหม่ที่กรุงเทพฯ

สำหรับวิธีสมัครเป็น e-Resident ของเอสโตเนีย ทำได้ใน 3 ขั้นตอนนี้

1.เข้าไปลงทะเบียนส่งเอกสารในเว็บ https://eresident.politsei.ee/

2.จากนั้นรอสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เอสโตเนียตรวจสอบประวัติไม่เกิน 30 วัน

3.เมื่อผ่านแล้วรอออก e-Residency Kit หรือ “ไอดีการ์ด” แสดงความเป็น e-Resident ของคุณมาส่งที่ “จุดรับ” (pick-up point) ที่ใกล้ที่สุด (ต้องไปรับด้วยตนเองเพื่อพิมพ์ลายนิ้วมือ) ใช้เวลา 2-5 สัปดาห์ ผู้รับมีเวลาไม่เกิน 6 เดือนในการไปรับไอดีการ์ด และการ์ดมีอายุใช้งาน 5 ปี

e-Residency Kit ที่ได้รับเมื่อสมัครสำเร็จ

“จุดรับ” นี้เมื่อก่อนเอสโตเนียเคยให้ไปรับที่สถานทูตเอสโตเนียประจำประเทศนั้นๆ ซึ่งไม่ได้มีทุกประเทศแน่นอน ทำให้คนไทยหรือ expat ในไทยที่สมัคร ต้องบินไปรับไอดีการ์ดที่สิงคโปร์ แต่เนื่องจากโรคระบาด เอสโตเนียมีการปิดสถานทูตหลายแห่ง ปัจจุบันจึงเปลี่ยนมาจับมือพันธมิตรบริษัท BLS International ในการทำจุดรับขึ้นมา และหนึ่งในเมืองที่เลือกเปิดคือ “กรุงเทพฯ” ที่อาคารอินเตอร์เชนจ์ ชั้น B2 ซึ่งหวังว่าจะทำให้มีการสมัครมากขึ้น

ลอรี่กล่าวว่า ที่เลือกประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดรับภูมิภาคนี้ร่วมกับสิงคโปร์ เพราะไทยมีฮับการบิน สนามบินสุวรรณภูมิเป็น Top 20 สนามบินที่มีการจราจรสูงสุดในโลก (ก่อนเกิดโรคระบาด) ทำให้เดินทางเข้ามาได้ง่าย และเป็นสถานที่ที่ชาวต่างชาติมาอาศัยอยู่จำนวนมาก

 

เอสโตเนียได้อะไรจากการเปิดรับคนทั่วโลก

ประเด็นนี้ต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น “ดรวีระชัย เตชะวิจิตร์” กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์เอสโตเนียประจำกรุงเทพมหานคร เล่าว่า เอสโตเนียเป็นประเทศที่ได้รับอิสรภาพจากโซเวียตเมื่อปี 1991 นี้เอง ช่วงเริ่มต้นประเทศเรียกได้ว่า ‘หลังพิงฝา’ ทางเศรษฐกิจ มีประชากรเอสโตเนียเพียง 1 ล้านคนในเวลานั้น เป็นประเทศเล็กๆ และยังไม่มีจุดเด่นอะไร

เมื่อไม่มีจุดเด่น ในที่สุดรัฐบาลเอสโตเนียวางแผนว่าจะสร้างจุดเด่นให้ประเทศ โดยมุ่งสู่การเป็น Digital Society-สังคมดิจิทัล อย่างแท้จริง เป็นที่มาของการทำระบบราชการดิจิทัล และมุ่งดึงดูดสตาร์ทอัพ ตามด้วยการออก e-Residency เป็นชาติแรกในโลก

“ยานาร์ โฮล์ม” ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเอสโตเนีย เปิดเผยเมื่อปีก่อนว่า โปรแกรม e-Residency ทำให้ประเทศสร้างงานสร้างอาชีพให้คนเอสโตเนียไปแล้ว 1,300 คน

โปรแกรมยังทำรายได้ให้ประเทศสะสมตั้งแต่เริ่มโครงการ 41 ล้านยูโร (31 ล้านยูโรในจำนวนนี้มาจากภาษี) ถือว่าทำกำไรเพราะประเทศลงทุนไปแค่ 10 ล้านยูโรกับโครงการ และโครงการยังมีผลโดยอ้อมต่อการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ

“ลอรี่ ฮาฟ” กรรมการผู้จัดการ e-Residency

ลอรี่ เอ็มดีของโครงการเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้สมัครเป็น e-Resident กับเอสโตเนียแล้วกว่า 80,000 คน มีบริษัทจัดตั้งผ่านโปรแกรมนี้ 16,000 ราย ส่วนใหญ่คือชาวรัสเซีย ยูเครน และฟินแลนด์ แต่ที่กำลังมาแรงคือ “จีน”

การมีโปรแกรมรวมคนจากทั่วโลกทำให้เอสโตเนียเคยสร้างสตาร์ทอัพระดับ ‘ยูนิคอร์น’ มาแล้ว 7 ราย เทียบกับจำนวนประชากรเอสโตเนีย 1.3 ล้านคน จึงกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนยูนิคอร์นต่อประชากรสูงที่สุดในยุโรป และเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอิสราเอล

ส่วนคนไทยที่สมัครเป็น e-Resident แล้ว ดร.วีระชัยระบุว่ามี 135 ราย สูสีกับมาเลเซียและเวียดนามที่มีประเทศละประมาณ 140 ราย ขณะที่สิงคโปร์มีกว่า 300 ราย

แน่นอนว่ามีได้ก็มีเสีย โฮล์มระบุว่า ขณะนี้เมื่อโครงการถูกพูดถึงไปทั่วโลก อาชญากรและผู้ที่ต้องการเลี่ยงภาษีเริ่มเล็งเห็นประโยชน์จากโครงการนี้ ทำให้เอสโตเนียต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะย่อมไม่มีใครต้องการให้ประเทศของตนมีชื่อเสียงในทางลบ

Source เพิ่มเติม