เพิ่งเปิดร้านสาขาที่ 700 ตรงปั๊มน้ำมัน ปตท. ถนนสวนหลวง–พุทธสาคร อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ไปหมาดๆ สำหรับ “เคเอฟซี” แบรนด์ไก่ทอดจากอเมริกา ที่บอกว่าเสิร์ฟไก่ทอดให้กับคนไทยได้มากถึงราว 800,000 ชิ้นต่อวัน หรือ 292 ล้านชิ้นต่อปี เฉลี่ยสาขาละ 1,500-2,000 ชิ้นต่อวัน
โดยครั้งนี้ เคเอฟซี ยังเปิดเคล็ดลับหลังครัว พาสื่อมวลชนเข้าไปถึง “ครัว” เพื่อดูที่มา ของไก่ทอด ที่ไม่มีนโยบายใช้ “ครัวกลาง” แบบเชนอื่นๆ แต่ให้ทุกสาขาทอดเอง
แววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป เคเอฟซีประเทศไทย บอกว่า การสร้างแบรนด์ร้านอาหารให้สามารถขยายสาขาไปทั่วไปประเทศ เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย การรักษามาตรฐานให้คงที่เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก
หลายเชนจึงเลือกรักษามาตรฐานด้วยการสร้าง “ครัวกลาง” แล้วค่อยส่งอาหารไปยังสาขาต่างๆ ซึ่งช่วยทั้งลดต้นทุนขนาดของร้าน อุปกรณ์ต่างๆ และพนังงานซึ่งต่างจาก “เคเอฟซี” ที่ไม่มีนโยบายสร้างครัวกลาง แต่ทุกสาขาที่ไปเปิดจะมีครัวเป็นของตัวเองเพื่อทำไก่ทอดแบบสดใหม่วันต่อวัน แม้ว่านั้นจะทำให้ต้นทุนเพิ่มแต่ “เคเอฟซี” ยอมเพื่อรักษาสูตรที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองไว้
“ราคาที่ขายชิ้นละ 37 บาทเมื่อเทียบร้านอื่นๆ ถือว่าเป็นราคาที่ไม่ได้แตกต่าง ดังนั้นเพื่อให้ผู้บริโภคแยกออกได้อย่างชัดเจน และเป็นตัวเลือกแรกเมื่อนึกถึงไก่ทอด ความท้าทายของเคเอฟซีจึงอยู่ที่การรักษามาตรฐานของรสชาติไว้เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าจะขยายสาขาไปมากเท่าไหร่ก็ตาม”
การเปิดครัวในครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงการดูสูตรทอดไก่ แต่ “เคเอฟซี” ต้องการสื่อถึงความแตกต่างในตลาดไก่ทอด เพราะในเวลานี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหนคนไทยสามารถหาไก่ทอดกินได้อย่างง่ายดาย
ไม่ว่าจะเป็น “แมคโดนัลด์” คู่แข่งที่อยู่ในตลาดร้านอาหารจานด่วนซึ่งก็มี ไก่ทอด เป็นหนึ่งในเมนูหลัก
รวมถึงคู่แข่งอย่าง “เท็กซัส ชิคเก้น” แบรนด์ไก่ทอดจากอเมริกา ที่ “ปตท.” ซื้อแฟรนไชส์มาเปิดในไทย แม้วันนี้จะมีเพียงไม่กี่สิบสาขา แต่อย่าลืมว่า “ปตท.” อำนาจเงินอยู่ในมือ สามารถขยายสาขาได้ทั้งในปั๊มน้ำมันที่มีกว่า 1,600 สาขา และนอกปั๊มได้สบายๆ ก็ถือเป็นคู่แข่งที่น่าจับตา
ดังนั้นการเปิดตัวครัวครั้งนี้จึงเปรียบเสมือน “กลยุทธ์ตลาด” ที่ “เคเอฟซี” ต้องการสื่อสารไปยังผู้บริโภคถึงที่มา “สูตรไก่ทอด” แบบฉบับผู้พัน ซึ่งแตกต่างไปจากทั่วไป
เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่ “เคเอฟซี” ได้ปรับสู่การเป็นธุรกิจแบบแฟรนไชส์ 100% ทำให้เคเอฟซีไม่ต้องแบกรับต้นทุนในการขยายสาขา แต่จะมีเวลาไปโฟกัสเรื่อง “แบรนด์” และการควบคุมคุณภาพของอาหาร เพื่อต่อกรกับการแข่งขันที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากคู่แข่งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่มีเกิดขึ้นตลอด
โดยภายในปี 2018 “เคเอฟซี” จะมีครบ 701 สาขา ในจำนวนนี้เป็นร้านแบบไดรฟ์ทรู 65 แห่ง โดยปีนี้มีการเปิดสาขาใหม่ทั้งหมด 75 สาขา ซึ่ง “แววคนีย์” บอกว่า เป็นปีที่เปิดสาขาใหม่มากที่สุดตั้งแต่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งปรกติแล้วจะเปิดเฉลี่ยอาทิตย์ละ 1 สาขา หรือรวมทั้งปี 52 สาขาเท่านั้น
“เคเอฟซี” 258 สาขาอยู่ภายใต้ “เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป” (CRG) ซึ่งเป็นแฟรนไชส์รายแรกของเมืองไทย ซึ่งในปีนี้เปิดร้านใหม่ 23 สาขา อีก 273 เป็นของแฟรนไชส์รายใหม่ล่าสุด “คิวเอสอาร์ออฟเอเชีย” (QSA) ซึ่งอยู่ได้ร่มเงาของ “เจ้าสัวเจริญ” ที่ทุ่มทุนในการปรับปรุงร้านเคเอฟซีถึง 47 สาขา
นอกจากนี้ยังมี “เรสเทอรองตส์ดีเวลลอปเม้นต์” (RD) ซึ่งเป็นแฟรนไชส์รายที่สองที่มีการเติบโตเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ จาก 130 สาขาในปี 2016 เป็น 170 สาขาในปี 2018 นี้ โดยปีหน้า RD บอกว่าจะขยายอีก 30 สาขา โฟกัสที่ภาคอีสานและภาคใต้เป็นหลัก ใช้เงินลงทุน 10-20 ล้านบาทต่อสาขา
“เคเอฟซี” ตั้งเป้าภายในปี 2020 จะต้องมีสาขาทั้งหมด 1,000 แห่งทั่วประเทศ และเป็นร้านแบบไดรฟ์ทรูอย่างน้อย 100 สาขา โดยเป้านี้ได้ปรับจากเดิมที่ตั้งไว้เพียง 800 สาขา แต่เพราะเป็นแฟรนไชส์ 100% ทำให้การขยายสาขาเป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น.