Thanatkit
เกิดมามีอายุสองขวบครึ่งแล้วสำหรับ “ไลน์แมน (LINE MAN)” บริการสั่งอาหาร, ส่งพัสดุ, แมสเซ็นเจอร์, สั่งของจากร้านสะดวกซื้อ และบริการเรียกแท็กซี่ ซึ่งทุกอย่างที่ว่ามา มีจุดเริ่มต้นจากใน “เมืองไทย” ทั้งสิ้น
ชาญวุฒิ ลือชัยสิทธิ์ ผู้อำนวยการการตลาดและสื่อสารองค์กร LINE ประเทศไทย, ธารวิทย์ ดิษยวงศ์ ผู้จัดการบริการ LINE MAN Messenger & Parcel (ส่งพัสดุ) และนพปฎล วชิรโกวิทย์ ผู้จัดการบริการ LINE MAN – Food Delivery (ส่งอาหาร) ร่วมกันฉายภาพ “ไลน์แมน” ทั้งปี 2018 เติบโตกว่า 300%
“บริการสั่งอาหาร” เป็นกลุ่มที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดเติบโตกว่า 250% ส่วนใหญ่ชอบสั่งมื้อกลางวันและมื้อเย็น โจทย์ของบริการนี้อยู่ที่ “ต้องสร้างความคุ้มค่า” และมีตัวเลือกเยอะ เพราะคนไทยมักจะมีคำถามติดปาก “วันนี้กินอะไรดี”
ไลน์แมนจึงต้องหาร้านใหม่เข้ามาเติมอีกเรื่อยๆ เพื่อสร้างตัวเลือกให้กับผู้ใช้งาน วันนี้มีทั้งหมด 40,000 ร้าน กว่า 80% เป็นร้านสตรีทฟู้ด โดยครึ่งหนึ่งของคำสั่งซื้อทั้งหมด ร้านอาหารจะรู้เลยตั้งแต่ลูกค้ากดสั่ง เพราะไลน์แมนได้ทำซอฟต์แวร์ให้ร้านได้ใช้ด้วย ส่วนที่เหลือพนักงานต้องไปต่อคิวเอง
“บริการเรียกแท็กซี่” ถือเป็นพระเอกสำหรับไลน์แมน เพราะเพียงครึ่งปีเติบโต 330% แม้ช่วงแรกที่เปิดให้บริการเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา การเติบโตไม่ค่อยหวือหวามาก เพราะยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไข จากจำนวนแท็กซี่ที่มีในระบบน้อย ทำให้ระยะเวลาแมทซ์กับผู้ใช้นานกว่าปรกติ ตอนนี้ดีขึ้นมากมีจำนวนคนขับแท็กซี่อยู่ในระบบทั้งหมด 90,000 ราย เมื่อเทียบกับคู่แข่งไลน์แมนบอกสูสีกัน หากมีค่าเรียกที่ถูกกว่าอยู่ที่ 20 บาท
ปีหน้าวางแผนขยายประเภทรถที่ให้บริการ จากที่มีเพียงรถเก๋งอย่างเดียว จะเพิ่มรถขนาดใหญ่เข้ามาเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่มากขึ้น และกระเป๋าขนาดใหญ่หากต้องการเดินทางไปสนามบิน รวมไปถึงวางแผนไปยังต่างจังหวัด โดยจะเริ่มจาก “หัวเมืองท่องเที่ยวก่อน”
“ส่งพัสดุ” อีกหนึ่งบริการที่มีการเติบโตอย่างมาก ด้วยอานิสงส์จากมหกรรมช้อปปิ้ง 11/11 และ 12/12 โดยพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้งานส่งพัสดุสูงถึง 4 เท่าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ไลน์แมนมองโอกาสยังสามารถเติบโตได้อีก เพราะปัจจุบันกลุ่มพนักงานบริษัทหันมาขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น แต่ไม่สามารถออกไปส่งสินค้าตอนกลางวันได้ ต้องรอเลิกงานถึงจะกลับมาห่อสินค้า ไลน์แมนจึงอุดช่องวางด้วยการขยายเวลาเข้ารับพัสถุถึง 4 ทุ่ม
“แมสเซ็นเจอร์” บริการส่งด่วนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เรียกได้ 24 ชั่วโมง โดยสิ่งของที่นิยมส่งมากที่สุดคือ เอกสารสำคัญ รองลงมา คือ สินค้าแฟชั่นเสื้อผ้า และที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ คือ การส่งกระเช้าและของขวัญปีใหม่
ผู้บริการไลน์แมนฉายภาพให้เห็นถึงบริการที่คนทั่วไปไม่ค่อยนึกถึง แต่เกิดคำสั่งกับแมสเซ็นเจอร์จริงในไลน์แมน มีทั้งให้จองร้านอาหาร หรือโต๊ะในผับ รวมไปถึงให้ไปซื้อบัตรคอนเสิร์ต ไลน์แมนวางแผนเพิ่มคำสั่งบริการพื้นฐานเข้าอีก แต่ทั้งนี้ต้องดูก่อนว่าบริการที่จะเพิ่มเข้าไปมีทรานแซคชั่นมากน้อยแค่ไหน และจะสร้างอิมแพกต์ให้กับคนทั่วไปหรือไม่
บริการนี้แข่งกันที่ความเร็วในการรับงาน โดยตอนนี้ทำได้เร็วขึ้น 10% จาก 13.9 วินาทีเป็น 12.3 วินาที อีกอย่างคือความสะดวกในการให้บริการ ไลน์แมนวางแผนปรับปรุงระบบการขอใบกำกับภาษีให้เร็วยิ่งขึ้น รวมถึงขยายการรับชำระเงินจากเงินสดไปสู่ E-payment เช่น “แรบบิท ไลน์ เพย์” อีกหนึ่งบริการที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของ “ไลน์ ประเทศไทย” เช่นเดียวกัน
สุดท้าย “สั่งของจากร้านสะดวกซื้อ” ขณะนี้ไลน์แมนกำลังเจรจาในการเพิ่มร้านค้าเข้ามา จากปัจจุบันที่มีเพียง 7-Eleven โดยร้านใหม่ๆ อาจจะไม่ได้จำกัดแค่ร้านสะดวกซื้อ มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มร้านโมเดิร์นเทรด์อื่นๆ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต
อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 “ไลน์แมน” ต้องเผชิญกับ “คู่แข่งหน้าใหม่” ที่เพิ่งเผยตัวออกมา ทั้ง 7-Eleven ที่เริ่มให้บริการรับซื้อและส่งสินค้าจากในร้าน โดยผู้บริหารไลน์แมนให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า ถึงจะเพิ่มเข้ามาแต่เป้าหมายไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวกัน เพราะ 7-Eleven ใช้พนักงานไปส่งเองจึงมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ ส่วนไลน์แมนมีพื้นที่ไกลมากกว่า
นอกจากนี้ยังมี “Get!” ซับแบรนด์ที่เอาไว้ใช้ในเมืองไทยของ “Go-Jek” แพลตฟอร์มให้บริการแบบออนดีมานด์จากประเทศอินโดนีเซีย ที่เริ่มทดลองให้บริการแล้วในกรุงเทพฯ กับ 2 บริการเรียกวินมอเตอร์ไซค์ (GET WIN) และส่งของ (GET DELIVERY)
การเข้ามาของ Get! ไลน์แมนมองว่า เป็นเรื่องที่ดีในแง่การแข่งขัน เพราะสุดท้ายแล้วการสั่งให้การใช้บริการแอป O2O (Online To Offline) ยังเป็นบริการที่ใหม่สำหรับคนไทย การมีผู้เล่นเข้ามาใหม่ซึ่งจะต้องกระตุ้นช่วงแรกด้วยโปรโมชั่นและการสื่อสาร จะทำให้คนที่เห็นอยากทดลองใช้งานบ้าง สุดท้ายฐานลูกค้าโตทั้งหมด
“ไลน์แมนได้เปรียบจากการที่อยู่ในไทยมานาน และเป็นส่วนหนึ่งของไลน์ที่มีผู้ใช้งานกว่า 44 ล้านคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าบริการต่างๆ ไลน์แมนไม่ได้เป็นรายแรกที่ทำ แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครสามารถแก้ Painpoint และสร้างบริการที่ตรงใจมากกว่า ก็จะได้ฐานลูกค้าไป”
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้งานของไลน์ทั้งหมด 44 ล้านราย ไลน์แมนยังมีผู้ใช้งานเพียง 1.5 ล้านรายต่อเดือน จึงมองว่ายังมีโอกาสอีกมากสำหรับตัวเอง โดยฐานลูกค้าส่วนใหญ่ตอนนี้อายุ 24-35 ปี ต่อไปวางแผนเจาะกลุ่มที่เหลือมากขึ้น
ทั้งกลุ่มต่ำกว่า 24 ปีที่แม้กำลังซื้อไม่มาก หากเป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับสมาร์ทโฟน และสั่งซื้อของออนไลน์อยู่แล้ว จึงไม่ยากที่จะดึงเข้ามา ส่วนมากกว่า 35 ปีถึงจะไม่คุ้นกับเทคโนโลยีมากนัก หากมีเงินและเวลาที่จำกัด จึงอยากได้บริการเข้ามาอำนวยความสะดวก
ขณะนี้ไลน์แมนยังไม่ได้ทำ “กำไร” เพราะยังอยู่ในช่วงลงทุน เพื่อสร้างการเติบโตของฐานผู้ใช้งาน โดยปี 2019 ไลน์แมนอยากมีอัตราเติบโตระดับตัวเลข 3 หลักในทุกบริการ.