จากการเก็บข้อมูลของนีลเส็น มูลค่าโฆษณากลุ่มธุรกิจทีวีดิจิทัลใน 11 เดือนปี 2561 มีการเติบโตประมาณ 8% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 เมื่อแยกเป็นหมวดธุรกิจตามหมวดการประมูลทีวีดิจิทัลของ กสทช. พบว่า หมวด HD เป็นกลุ่มที่ทำรายได้สูงสุดจากทุกกลุ่ม
กลุ่มช่อง HD มีทั้งหมด 7 ช่อง ประกอบไปด้วย ช่อง 7, ช่อง 3, ช่องวัน, ช่อง 9, ไทยรัฐทีวี, อมรินทร์ทีวี และพีพีทีวี ทำรายได้โฆษณาทั้งปี มีมูลค่ารวมกว่า 3.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่ารายได้ส่วนใหญ่ประมาณ 70% ยังเป็นของกลุ่ม HD ยังเป็นของ 2 ช่องใหญ่ คือช่อง 3 และช่อง 7 ที่เหลือเฉลี่ยกันไปตามสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับเรตติ้งเฉลี่ยช่อง โดยที่พีพีทีวียังเป็นช่องที่มีรายได้น้อยที่สุดในกลุ่มนี้
จากตัวเลขคาดการณ์นี้แม้เป็นตัวเลขเรตการ์ด ที่ยังไม่รวมส่วนสด แต่ก็แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์แนวโน้มรายได้ของแต่ละช่องเป็นอย่างไร ในกลุ่มนี้ “พีพีทีวี” กลายเป็นช่องที่มีมาร์เก็ตแชร์น้อยที่สุด ทำให้พีพีทีวีกลายเป็นช่องที่มีความ aggressive สูงสุด ที่ประกาศพร้อมทุ่มทุน ดึงรายการใหญ่จากช่องต่างๆ ตั้งแต่ The Voice จากช่อง 3 และ “กิ๊ก ดู๋” จากช่อง 7 รวมถึงแผนการสร้างสังกัดดารา โดยดึง “ปุ๊กลุก-ฝนทิพย์ วัชรตระกูล” นักแสดงดังมาเข้าสังกัดรายแรก ที่คาดว่าจะเปิดตัวในปีหน้านี้
หมวด SD เวิร์คพอยท์นำกลุ่ม
สำหรับหมวดช่อง SD วาไรตี้ มีทั้งหมด 7 ช่อง เวิร์คพอยท์, ช่อง 8, โมโน, ช่อง 3SD, ทรูโฟร์ยู, จีเอ็มเอ็ม 25 และนาว 26 ทำรายได้โฆษณาไปรวมกันกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 26.6% ของรายได้รวมของทุกช่อง โดยที่เวิร์คพอยท์เป็นผู้นำรายได้สูงสุดของกลุ่มนี้
ถัดจากเวิร์คพอยท์ คือ ช่อง 8, โมโน, ทรูโฟร์ยู, 3SD, จีเอ็มเอ็ม 25 และช่องนาว 26 ซึ่งไม่เป็นไปตามตัวเลขเรตติ้งเฉลี่ยและอันดับของช่อง เพราะจุดเด่นจุดแข็งของแต่ละช่องมีความแตกต่างกัน
ช่อง 8 เป็นช่องที่ให้ความสำคัญกับโฮมช้อปปิ้ง รายได้โฆษณาจึงมาจากการขายสินค้าและบริการเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่โมโนเป็นช่องลงหนังยาว มูลค่าโฆษณามีน้อยกว่า จึงทำให้เห็นได้ชัดว่าโมโนต้องประกาศธุรกิจโฮมช้อปปิ้งของตัวเองด้วยเช่นกัน ในชื่อรายการ 29 Shopping
ทรูโฟร์ยู ส่วนใหญ่เป็นสินค้าและบริการในเครือซีพี แม้เรตติ้งน้อยกว่าช่อง 3 SD แต่มูลค่าโฆษณาจึงมีสูงกว่า ส่วนช่องนาว 26 แม้เรตติ้งเฉลี่ยช่องอยู่ในอันดับ 10 เพราะได้รายการถ่ายทอดสดมวยไทยเป็นรายการหลัก แต่รายได้โฆษณาช่องไม่ได้สูงมากนัก อยู่เป็นอันดับสุดท้ายของกลุ่มนี้
กลุ่มช่องข่าว รายได้ไล่เรี่ยกัน
กลุ่มช่องข่าว มีอยู่ทั้งหมด 6 ช่อง เนชั่นทีวี, ทีเอ็นเอ็น, ไบรท์ทีวี, สปริงนิวส์, นิวทีวี และวอยซ์ทีวี นั้น มีรายได้โฆษณาใกล้คียงกันในกลุ่ม 4 ช่อง คือ เนชั่นทีวี,ทีเอ็นเอ็น, ไบรท์ทีวี และสปริงนิวส์ โดยมี 2 ช่อง นิวทีวีและวอยซ์ทีวีเป็นอีกกลุ่มที่ไล่เรี่ยกัน
รายได้รวมของกลุ่มช่องข่าวรวม 11 เดือนอยู่ที่ 2.368 ล้านบาท คิดเป็น 3.79% ของรายได้รวมของทุกช่อง โดยในกลุ่มนี้ เนชั่นทีวีมีเรตติ้งเฉลี่ยช่องสูงสุดเมื่อเทียบกับช่องอื่นๆในกลุ่ม
จากสถานการณ์รายได้โฆษณาในกลุ่มช่องข่าวที่มีสัดส่วนน้อยมาก ในจำนวน 6 ช่องนี้ จึงมีสปริงนิวส์ เป็นช่องแรกที่ต้องขายธุรกิจให้กับทีวี ไดเร็ค เพื่อเตรียมตัวเป็นช่องทีวีช้อปปิ้งเต็มรูปแบบในปีหน้าเป็นต้นไป
ส่วนกลุ่มช่องเด็กที่เหลืออยู่เพียง 2 ช่อง คือ 3 Family และ MCOT Family นั้น มีรายได้โฆษณารวมกันเพียง 568 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.91% เท่านั้น
ทั้งนี้การเป็นช่องเด็ก มีข้อจำกัดมากจากเงื่อนไขการโฆษณาสินค้าในกลุ่มช่องเด็ก ทำให้ไม่สามารถลงโฆษณาได้ทุกชิ้น จึงกลายเป็นจุดอ่อนของกลุ่มช่องเด็ก ที่แทบจะไม่มีกำไรในการบริหารงาน เนื่องจากรายได้โฆษณาลงน้อยมาก
ช่องรัฐยัง “อู้ฟู่”
กลุ่มช่องรัฐ มี 3 ช่องหลัก คือ ช่อง 5, NBT และ ไทยพีบีเอส แต่เนื่องจากไทยพีบีเอสไม่สามารถมีรายได้จากโฆษณาได้ ในกลุ่มรายได้จากค่าโฆษณาของกลุ่มนี้ จึงหมายรวมถึง 2 ช่อง ช่อง 5 และ NBT เท่านั้น
รายได้รวมของกลุ่มช่องรัฐ 2 ช่อง ในรอบ 11 เดือนของปีนี้มีมูลค่ารวม 4,236 ล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 7% ของมูลค่ารวม มีรายได้สูงกว่ากลุ่มช่องข่าว และช่องเด็กเสียอีก
ทั้งนี้เกินกว่า 50% ของรายได้ในกลุ่มนี้เป็นของช่อง 5 ที่ได้สิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ในปีนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขคาดการณ์จากเรตการ์ด ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงจะต้องมีการหักส่วนลด ของแถมที่แตกต่างกันในแต่ละช่องอีก แต่ตัวเลขประมาณการทั้งหมดนี้ ก็แสดงให้เห็นภาพรวมของวงการทีวีดิจิทัลในปี 2561 ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ปีหน้าใครจะอยู่ใครจะไป รอลุ้นกัน.