ถึง “ตัวแทนธนาคารพาณิชย์” หรือ “แบงกิ้ง เอเย่นต์” (Banking Agent) จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในเมืองไทยเพราะมีการประกาศเป็นกฎหมายเกือบ 10 ปีแล้ว แต่เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2018 ที่ผ่านมาได้เกิดเสียงฮือฮาในวงการเกิดขึ้น เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศแก้ไขกฎเดิม ที่สามารถตั้งได้เฉพาะธนาคารพาณิชย์อื่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และไปรษณีย์ ไปสู่นิติบุคคลประเภทอื่น
ทำให้ทุกสายตาต่างจับจ้องว่าธนาคารไหนจะตั้งตัวแทนเป็นใครบ้าง? เพราะต่อจากนี้ “แบงก์กิ้ง เอเย่นต์” จะสามารถเป็น “ใคร” ก็ได้ ไล่มาตั้งแต่ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ ซึ่งจะต้องมี 3 คุณสมบัติดังต่อไปนี้ 1.ต้องมีสถานที่เป็นหลักแหล่งชัดเจน 2.มีเครื่องมือ อุปกรณ์และระบบที่เหมาะสม และ 3.กรรมการผู้มีอำนาจหรือเจ้าของต้องไม่เป็นผู้ที่ต้องโทษทางกฎหมาย
อีกทั้งได้ขยายขอบเขตธุรกรรมให้อำนาจรับฝากเงินรับถอนเงินจ่ายเงินสำหรับผู้ใช้บริการรายย่อย และชำระเงิน แต่สามารถให้บริการถอนเงินและจ่ายเงินสำหรับผู้ใช้บริการรายย่อยได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ และไม่เกิน 20,000 บาทต่อวันสำหรับผู้ใช้บริการแต่ละราย และสุดท้ายการจ่ายเงินให้กับผู้ใช้บริการรายใหญ่
ท่ามกลางการรุกคืบของ “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” การตั้ง “แบงกิ้ง เอเย่นต์” จะทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถใช้เป็นอีกหนึ่งอาวุธในการรับมือกับคลื่นที่ถาโถมเข้ามาโดยเฉพาะกลุ่ม FinTech เพราะถึงจะพยายามดันโมบายแบงกิ้งให้เข้าถึงกลุ่มคนทั้งประเทศแต่เป็นความจริงที่ว่าส่วนใหญ่ยังเข้าถึงเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในเมือง
ส่วนกลุ่มชาวบ้านทั่วไปยังไม่ได้มีคนที่เข้าถึงมากนัก ดังนั้นการตั้ง “แบงกิ้ง เอเย่นต์” ที่สามารถ “เข้าถึง” ประชาชนกลุ่มอื่นๆ ได้ นอกเหนือจากการได้ฐานลูกค้าใหม่แล้ว ยังจะให้ธนาคารไม่จำเป็นต้องมี “ต้นทุน” ในการตั้งสาขาอีกต่อไป กลายเป็น “หมากรบ” ของธนาคารที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
“ออมสิน” เริ่มก่อน จับมือ “CP All”
“ธนาคารออมสิน” ถือเป็นรายแรกๆ ที่ตื่นตัวเรื่อง “แบงก์กิ้ง เอเย่นต์” โดยได้จับมือกับซีพีออลล์ และเคาน์เตอร์เซอร์วิส ในการฝากเงินเคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขา โดยใช้เลขบัญชีธนาคารออมสิน และเบอร์โทรศัพท์ในการทำรายการ คิดค่าธรรมเนียม 15 บาทต่อรายการ ฝากได้สูงสุด 30,000 บาทต่อรายการ
สำหรับบริการถอนเงินสดจะใช้ผ่านเมนู MyMo My Card บนแอปพลิเคชั่น MyMo และรับเงินสดได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ตั้งแต่เวลา 08.00-22.00 น.ทุกวัน สามารถถอนเงินได้ตั้งแต่ 1 ถึง 5,000 บาท คิดค่าธรรมเนียม 15 บาทต่อรายการ
“กสิกรไทย” กินรวบ 3 เจ้า
ถ้านับในบรรดาธนาคารทุกราย “ธนาคารกสิกรไทย” ถือเป็นธนาคารที่ตั้ง “แบงกิ้ง เอเย่นต์” ในง่ของจำนวนรายมากที่สุดถึง 3 รายด้วยกัน เริ่มต้นด้วยการตั้ง “ไปรษณีย์ไทย” เป็นตัวแทนในการให้บริการ “เคแบงก์ เซอร์วิส” ผ่านสาขาไปรษณีย์ที่พร้อมให้บริการในเบื้องต้นจำนวน 964 แห่งกระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ช่วงแรกให้บริการฝากเงินสดเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยสูงสุด 20,000 บาทต่อรายการ และไม่เกิน 40,000 บาทต่อวัน ค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อรายการ ตั้งเป้ามีลูกค้าใช้บริการ 150,000 ธุรกรรมภายในสิ้นปีที่ผ่านมา
ส่วนการให้บริการเต็มรูปแบบทั้งรับฝากเงินสดและถอนเงินนี้คาดว่าภายใน 3 ปีแรกจะมีปริมาณลูกค้าใช้บริการทุกธุรกรรมที่สาขาไปรษณีย์ไทยประมาณ 600,000 ธุรกรรม นอกจากนั้นแล้วทางธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้ในการเปิดบัญชีเงินฝากในอนาคตด้วย
ถัดมาได้ตั้ง “เซ็นเพย์” ในเครือเซ็นทรัล ให้เป็นตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) ผ่านเคาน์เตอร์เซ็นเพย์ ที่ร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท ในเบื้องต้นจะเปิดให้บริการรับฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทยในสาขาร้านแฟมิลี่มาร์ทที่มีความพร้อมจำนวน 5 แห่ง โดยรับฝากเงินสูงสุด 2,500 บาทต่อครั้ง ไม่เกิน 5,000 บาทต่อวัน ค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อรายการ จากนั้นจะขยายสาขาให้บริการเพิ่มเติมในอนาคต
ที่ผ่านมาได้ตั้งในเซ็นเพย์โดยจะเปิดบริการรับฝากเงินนำร่องที่แฟมิลี่มาร์ทก่อน และจะขยายไปทั่วประเทศทุกสาขาทุกกลุ่มธุรกิจของเครือเซ็นทรัลในปีหน้า
รายล่าสุดที่ตั้งคือ “คาเฟ่ อเมซอน” ซึ่งอยู่ภายใต้ ปตท. โดยนำร่องที่สาขาพีทีที สเตชั่น (เอกมัย – รามอินทรา) โดยมีเงื่อนไขรับฝากเงินสดสูงสุด 5,000 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 40,000 บาทต่อวัน มีค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อรายการ ผู้ใช้บริการกรอกใบนำฝากเพื่อแจ้งเลขที่บัญชีที่ต้องการฝากเงินและจำนวนเงิน ซึ่งผู้ฝากจะได้รับหลักฐานการทำธุรกรรมเมื่อทำรายการเสร็จสมบูรณ์เป็นใบเสร็จและ SMS ซึ่งเงินจะเข้าบัญชีปลายทางทันที
“ไทยพาณิชย์” เอาบ้าง ตั้ง “เซเว่นอีเลฟเว่น” เป็นตัวแทน
“ธนาคารไทยพาณิชย์” ถือเป็นรายล่าสุดที่ประกาศการตั้ง “แบงกิ้ง เอเย่นต์” โดยได้จับมือกับ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ที่มีจุดบริการมากกว่า 11,000 สาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับพันธมิตรอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์มีจุดให้บริการแบงกิ้ง เอเย่นต์รวมแล้วมากกว่า 14,000 จุด
ไทยพาณิชย์แจงว่าการตั้งตัวแทนจะทำให้เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐานในพื้นที่ที่การให้บริการธนาคารเข้าไม่ถึง และรองรับพฤติกรรมการใช้บริการที่เปลี่ยนไป เนื่องจากในบางพื้นที่ลูกค้าอาจต้องการเพียงบริการธนาคารพื้นฐานในชีวิตประจำวัน อาทิ ฝาก–ถอน–โอน–จ่ายบิล ไม่ได้ต้องการทำธุรกรรมแบบเต็มรูปแบบ และบางส่วนอาจยังเข้าไม่ถึงบริการด้านโมบายแบงกิ้ง
ดังนั้นบริการแบงกิ้ง เอเย่นต์จะเข้ามาตอบโจทย์ลูกค้าในส่วนนี้ได้ดียิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในครั้งนี้ จะพร้อมให้บริการภายในไตรมาส 1 ของปี 2562 ส่วนรายละเอียดค่าธรรมเนียม และวงเงินจะเผยรายละเอียดในตอนที่เปิดตัวเลย
สำหรับธนาคารอื่นๆ นั้นยังไม่ได้ออกมาประกาศถึงการตั้งอย่างเป็นทางการ เชื่อได้เลย “ปี 2562” นี่แหละที่จะออกมาเคลื่อนไหวกัน เพราะธนาคารใหญ่อย่างกสิกรไทยและไทยพาณิชย์ ออกมาตื่นตัวก่อนคนอื่นๆ แล้วจะให้อยู่เฉยได้ไง จริงไหม ?