ท่ามกลางสินค้าอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) และเบเกอรี่ รวมกันกว่า 900 SKUs ที่ผลิตโดยซีพีแรม เบื้องหลังคือกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อเลือกผลิตภัณฑ์ที่ “ใช่” มาตอบโจทย์ผู้บริโภค ไม่ใช่อะไรก็ได้
วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด บอกถึงแนวคิดดังกล่าวที่เปรียบเสมือนคัมภีร์พิชิตชัยธุรกิจของซีพีแรมว่า ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่
1. Basic Requirement
อาหารนั้นจะต้องอร่อย ปลอดภัย และมีราคาที่เหมาะสม หากไม่มีคุณสมบัติสำคัญทั้ง 3 อย่างนี้แล้ว ก็อย่าคิดที่จะทำธุรกิจนี้เลย เพราะไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จได้
2. Voice of Customer
เสียงจากลูกค้าที่บอกหรือเสนอแนะความคิดเห็นว่าอยากได้อะไร อะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ อะไรที่เขาไม่ชอบ ต้องรับฟังและนำเสนอสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ขณะเดียวกันสินค้านั้นก็ต้องสอดคล้องและเหมาะสมกับช่องทางจำหน่ายด้วย
3. Customer Insight
รู้จักวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค พร้อมกับตีแตกความต้องการนั้นออกมาให้ได้ เช่น คนชอบกินน้ำเต้าหู้ต้องกินกับปาท่องโก๋ ขายด้วยกันก็น่าจะทำยอดได้ดีกว่าขายแยก เป็นต้น ในส่วนนี้อาจรวมถึงสินค้าที่กำลังอยู่ในกระแส และกำลังเป็นที่นิยม ก็ต้องรีบจับกระแสทันที ถ้ากระแสหายก็เตรียมนำเสนอสินค้าตัวใหม่ที่มาแรงกว่า เพราะคนไทยชอบลองของใหม่
4. Latent Need
ต้องใช้จินตนาการและใช้กึ๋นในการที่จะค้นหาความต้องการแอบแฝงหรืออุปสงค์ซ่อนเร้นของลูกค้าให้เจอ แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เพราะลูกค้าไม่พูด แต่ถ้าเราหาจนเจอ แล้วนำเสนอให้กับเขาได้ มันจะว้าวทันที
ตัวอย่างล่าสุดที่ชัดเจนคือ “ข้าวต้มหมู” น้ำหนักสุทธิ 300 กรัม จำหน่ายในราคา 69 บาท ซึ่งแม้จะมีราคาแพงกว่าข้าวต้มหมูทั่วไป หรือเมนูอื่นของซีพีแรมอยู่บ้าง แต่การตอบโจทย์ตามความต้องการก็ถือเป็นราคาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นไปตาม Basic Requirement
“เราใช้เวลาคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ราว 1 ปี เพราะเห็นว่าครอบครัวคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เวลากินข้าวจะประกอบด้วยคน 3 เจนเนอเรชั่น นั่งกินด้วยกัน แต่ทำไมปู่ย่า ตายาย ต้องกินเหมือนกันกับลูกหลาน และเด็กอ่อนต้องกินเหมือนพ่อแม่ ทั้งๆ ที่คนสูงอายุส่วนใหญ่ฟันจะเริ่มสึกหรอ ทำให้เคี้ยวอาหารลำบาก การดูดซึมอาหารก็ยาก ท้องอืดบ่อยๆ เราเลยพัฒนาเมนูข้าวต้มหมูนี้ออกมา ทำให้พวกเขาสามารถกินอาหารได้อร่อยและง่ายขึ้น เพียงเคี้ยวแค่ 2-3 คำก็กลืนได้เลย โดยชูจุดขายว่าเป็นอาหารที่เหมาะกับผู้สูงวัยที่สูญเสียฟัน เนื้อนิ่ม เคี้ยวง่าย ขณะเดียวกันเด็กอ่อนก็กินได้ง่ายด้วย”
ขณะที่สูตรของข้าวต้มหมูเพื่อผู้สูงอายุและเด็กอ่อนนี้ ก็จัดเป็นเมนูสุขภาพด้วย เพราะมีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ
“อาหารสำหรับผู้สูงอายุและเด็กอ่อน เป็นอาหารที่คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน ดังนั้น เราจะต้องทำให้พ่อแม่ หรือลูกหลานซึ่งเป็นคนซื้อ เกิดความเชื่อมั่นเสียก่อนว่าอาหารของเราได้รับการคิดค้นมาอย่างรอบคอบ และตอบโจทย์ความต้องการของคนที่เขารักได้อย่างแท้จริง”
ข้าวต้มหมูประเดิมจำหน่ายที่เซเว่น อีเลฟเว่นในโรงพยาบาล 50 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 นี้ ก่อนที่จะออกสู่ตลาดทั่วประเทศเป็นลำดับถัดไป
นอกเหนือจากข้ามต้มหมูแล้ว ยังมีสินค้าใหม่ที่เกิดจากการค้นหา Latent Need อยู่ในไปป์ไลน์อีก แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนานานพอสมควร เพราะทำได้ยากและมีรายละเอียดที่ซับซ้อน
นอกจากนี้การปั้น FTEC หรือ Food Technology Exchange Center ที่เชื้อเชิญนักวิจัยจากทั้งในและต่างประเทศมาร่วมผลิตคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาสินค้าเมนูใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ Latent Need ของผู้บริโภคให้ได้ จึงเป็นอีกกลยุทธ์สำคัญที่อยู่ภายใน Transformation Roadmap ของซีพีแรม.