ศึกชิงเวลาคนดู! “Workpoint” จับมือ “Viu” ปั้นออริจินัลคอนเทนต์ หวังลด “ต้นทุน” เพิ่ม “กำไร”

 การแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ได้เริ่มเปลี่ยนไปอีกครั้ง จากเดิมจุดตัดระหว่างผู้เข้าแข่งขัน คือ การมีคอนเทนต์เยอะๆ เข้ามาสร้างความหลากหลายให้กับผู้ชม ช่วงปีที่ผ่านมาจึงเห็นการจับมือกับทีวีช่องต่างๆ และคอนเทนต์ โพรวายเดอร์ ในการนำละครหรือรายการวาไรตี้ มาเซ็นสัญญาในลักษณะเอ็กซ์คลูซีฟ รีรัน 

แต่การทำเอ็กซ์คลูซีฟ รีรัน ก็ใช่ว่าจะทำให้แพลตฟอร์มเป็นเพียงผู้เดียว ที่มีคอนเทนต์นั้นอยู่ในมือ เพราะหลังจากหมดระยะเวลา 30 วัน หรือตามที่ดีลไว้ เจ้าของคอนเทนต์ก็สามารถนำไปลงที่แพลตฟอร์มไหนก็ได้ เป็นวิธีหารายได้อีกต่อหนึ่ง ดังนั้นการจะสร้างความแตกต่างที่แท้จริง จึงใช้วิธีปั้น ออริจินัลคอนเทนต์ เพื่อเสิร์ฟให้กับฐานผู้ชมของตัวเองโดยเฉพาะ

เหมือนอย่างที่ “Viu” (วิว) แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ของกลุ่ม PCCW Media ยักษ์ใหญ่ด้านสื่อของฮ่องกง ที่เข้าสู่เมืองไทยได้เกือบ 2 ปีแล้ว ก็เลือกจะใช้วิธีทำออริจินัลคอนเทนต์ สร้างแรงดึงดูดให้กับฐานผู้ชมโดยการจับมือกับ “Workpoint”

คนดูชอบโรแมนติก คอมเมดี้

ทำไมถึงเลือกให้ Workpoint ทำ? เพราะก่อนหน้านี้ Viu เข้ามาเปิดตลาดด้วยการชูโรงคอนเทนต์ เกาหลีใต้ ทั้งละครและรายการวาไรตี้ จากทีวีทุกช่องกว่า หมื่นชั่วโมงจนสามารถสร้างฐานผู้ชมหลักเป็นผู้หญิงอายุ 18-34 ปี ก่อนที่จะเติมคอนเทนต์อื่นๆ ที่มาจากจีนและญี่ปุ่น

วิธีการเติมคอนเทนต์ของ Viu มี 4 รูปแบบ คือ

  1. ซื้อสิขสิทธิ์คอนเทนต์ที่เคยออกอากาศไปแล้ว 1-2 ปี เข้าสะสมในแพลตฟอร์ม
  2. เอ็กซ์คลูซีฟ รีรันในระยะเวลา 30 วัน
  3. ซื้อสิขสิทธิ์แล้วฉายพร้อมกับแพลตฟอร์มอื่น และ
  4. ออริจินัลคอนเทนต์

ดังนั้น เมื่อมีคอนเทนต์ในระบบแน่นแล้ว ก็ได้เวลาของการเติมคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ รีรัน โดยเจ้าแรกที่ Viu เลือกจับมือคือ “GMM25” ราวต้นปีที่แล้ว นำคอนเทนต์ละครและรายการวาไรตี้มารีรันประมาณ 200 ชั่วโมง และเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก็เพิ่งเซ็นสัญญากับ Workpoint ในการนำคอนเทนต์อีก 1,500 ชั่วโมงเข้ามาเสริม

แม้จำนวนพาร์ตเนอร์ที่ Viu มีอยู่ในมือตอนนี้เมื่อเทียบกับคู่แข่งโดยตรงอย่าง “LINE TV” จะมีจำนวนที่ห่างกันอยู่มาก แต่ Viu บอกว่า ไม่ได้เน้นที่ปริมาณ คอนเทนต์ที่จะเข้ามาต้องถูก จริตกับฐานคอนดูหลักที่ชื่นชอบแนวโรแมนติก คอมเมดี้

ฉายในทีวีก่อน ได้ทั้ง “Reach” และรายได้

ซึ่งเหตุผลที่ว่านี้ก็คือเหตุผลที่เดียวกับที่ Viu ตัดสินใจให้ “Workpoint” ผลิตออริจินัลคอนเทนต์ เนื่องจาก Workpoint มีชื่อเสียงจากการผลิตรายการคอมเมดี้อยู่แล้ว เรื่องแรกที่ทำเป็นซีรีส์ ชื่อ โฮะ แฟมิลี่ ใช้ เก้า จิรายุ และ ปันปัน นำแสดง ซึ่งมาจากพฤติกรรมคนดูที่ชอบตัวละครพระเอกหล่อ และนางเอกน่ารัก

มีทั้งหมด 15 ตอน โดยรูปแบบการออกกาศจะฉายที่ช่อง Workpoint ก่อน ทุกวันอังคาร เวลา 21.15 . ซึ่ง Workpoint ให้ พัน พลุแตกเข้าร่วมแสดงเป็นตัวเอกด้วย เพื่อคงลายเซ็นของช่องไว้ ซึ่งตัวของ พัน พลุแตกก็มีภาพจำของคนดูอยู่แล้ว คือเห็นหน้าปุ๊บรู้เลย ยี่ห้อ Workpoint ก่อนที่จะนำไปรีรันทันทีใน Viu

ดีลนี้ Viu จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพราะเป็นฝ่ายลงทุน ส่วน Workpoint มีรายได้จากการรับจ้างผลิต และโฆษณาตอนที่ฉายในช่อง ซึ่งรายได้ในส่วนนี้จะต้องแบ่งกับ Viu

ธวัตวงศ์ ศิลมานนท์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท พีซีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย) กล่าวว่า

คนไทยชอบดูคอนเทนต์ฟรี จึงเป็นเหตุผลที่ต้องไปออกทีวีก่อน เพื่อสร้าง Reach แล้วค่อยมาดูย้อนหลังใน Viu แต่มากกว่านั้นคือรายได้จากโฆษณาที่จะเข้ามา เพราะเมื่อไปดูเม็ดเงินในภาพรวม มากกว่า 50% ยังถูกถือครองด้วยทีวี ซึ่งใน Viu เองผู้ชมที่จ่ายเงินก็ยังมีไม่มากนัก จากแพ็กเกจเดือนละ 119 บาท

อย่างไรก็ตาม Viu ยังสามารถนำออริจินัลคอนเทนต์ไปหารายได้อีก โดยการขายสิขสิทธิ์ให้กับทั้งทีวีและช่องทางออนไลน์ ในประเทศที่พฤติกรรมและความชอบของผู้ชมคล้ายกับเมืองไทย เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น

ต้องแย่ง เวลาถึงจะชนะ” 

ความท้าทายของ Viu คือการทำคอนเทนต์ที่ต้องไปแย่งเวลา กับคอนเทนต์อื่นๆ จึงต้องทำมาให้ตอบโจทย์ และให้คนดู Enjoy ถึงจะ ชนะ ซึ่งตอนนี้มีคนดู Viu เฉลี่ยรายวันถึง 108 นาทีต่อคน ในขณะที่ชาวเอเชียทั่วไปใช้เวลา 186 นาทีต่อวันในการดูวิดีโอในทุกแพลตฟอร์ม

สิ่งที่ Viu ต้องการต่อไปคือ แม้เวลาการรับชมจะไม่เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องทำยังไงไม่ให้ลด ซึ่งวิธีการที่ทำจึงต้องเพิ่มคอนเทนต์ไปเรื่อยๆ อย่างเช่นออริจินัลคอนเทนต์ ซึ่งปีที่แล้ว Viu มีในรูปแบบนี้ทั้งหมด 70 รายการ 900 ตอน

ในภาพรวมของ Viu ได้ให้บริการไปแล้ว 16 ประเทศ มี Active Users 20 ล้านราย โดยประเทศที่ Viu ให้ความสำคัญมากที่สุดคืออินโนนีเซียและไทย เพราะมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่สูง เฉพาะเมืองไทยปีที่ผ่านมายอดดาวน์โหลดโตจาก 2.3 ล้านครั้งเป็น 4.5 ล้านครั้ง

Workpoint ต้อง กำไร

ในขณะที่ฝั่ง “Workpoint” การจับมือกับ “Viu” เรียกได้ว่าตอบโจทย์ธุรกิจที่วางไว้ในปี 2019 ทั้ง 2 ข้อคือ 

  1. ขยายคอนเทนต์สู่แพลตฟอร์มอื่นให้เร็ว จากทีวีไปสู่ออนไลน์ ผ่านการจับมือกับพันธมิตร เป็นตัวกลางนำคอนเทนต์ในมือไปเสิร์ฟผู้ชมในแพลตฟอร์มอื่นๆ รวมไปถึงการนำคอนเทนต์ออกสู่ต่างประเทศ ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นรายได้ โดยปีที่แล้วมีรายได้จากการขายคอนเทนต์ต่างประเทศ 30 ล้านบาท ปีนี้ต้องการ 40 ล้านบาท
  2. การลดต้นทุนเพื่อรักษาระดับของกำไรโดยปีนี้ Workpoint วางแผนใช้เงินลงทุนคอนเทนต์ 600 ล้านบาท จากปีก่อนที่ใช้ไป 800 ล้านบาท ซึ่ง 200 ล้านบาทที่หายไปคือการที่มีพันธมิตรมาช่วยจ่ายนั้นเอง

ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

ความท้าทายของ Workpointในปีนี้คือ การทำกำไรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนเรตติ้งที่ขึ้นอันดับ 2 ได้ เราไม่คิด กำไรเป็นเรื่องใหญ่กว่า เพราะสุดท้ายเรื่องใหญ่ในการทำธุรกิจบนโลกดิจิทัล คือมุ่งโกยยอดการเข้าถึงกลุ่มคนดู ซึ่งสถานการณ์ตลาดที่เกิดขึ้นคือเราเริ่มเห็นธุรกิจออนไลน์ดาวรุ่ง ขาดทุนล้มหายตายจากกัน เมื่อธุรกิจไม่ทำกำไรเราจึงต้องเลือกว่าจะมุ่งเรตติ้ง หรือกำไร” 

ชลากรณ์ ขยายความเรื่องกำไรว่า ปี 2019 คาดหวังกำไรต้องไม่น้อยกว่าปี 2018 ซึ่งยังไม่ปิดงบ ตัวเลข 9 เดือนอยู่ที่กว่า 420 ล้านบาท แต่ก็คงไม่คาดหวังกำไรเหมือนปี 2017 ที่ทำได้ 900 กว่าล้านบาท เติบโตหวือหวาจากปีก่อนหน้าที่ทำได้เพียง 100 ล้านบาท

หารายได้จากวิธีอื่นๆ

ดังนั้นนอกเหนือจากการมีคนเข้ามาช่วยจ่ายต้นทุนแล้ว Workpoint จึงวางแผนหารายได้ทางใหม่ๆ ทั้งการลุยธุรกิจทีวีช้อปปิ้งโดยนำเวลาช่วงเวลากลางวันและหลังเที่ยงคืน ประมาณ 100-120 นาทีต่อวัน ที่เคยให้แบรนด์ขนาดใหญ่ และรายเล็กๆ อื่นเช่า กลับมาทำเอง

โดยการจับมือกับบริษัทอื่นไม่ได้ลงทุนเองทั้งหมด Workpoint รับหน้าที่เป็นช่องทางขายสินค้า ส่วนบริษัทร่วมทุนรับหน้าที่จัดการคลังและส่งสินค้า ซึ่งการทำทีวีช้อปปิ้ง Workpoint ไม่ได้คาดหวังกำไรมากนัก เพราะต้นทุนสูง

แต่หวังรายได้ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 400-600 ล้านบาท เบียดขึ้นมาเป็นที่สองของตารางรายได้แทนออนไลน์ ส่วนหัวตารางยังเป็นค่าโฆษณา เฉลี่ยทั้งวันอยู่ที่ 70,000 บาทต่อนาที ช่วงไพรม์ไทม์ 250,000 ต่อนาที

นอกจากนั้นยังได้จับมือตำมั่วของกลุ่มเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ทำตลาดสินค้าต่างๆ ผ่านทางสื่อในมือทั้งทีวีและออนไลน์

ขณะเดียวกันด้านผังรายการ ได้เตรียมรายการใหม่อีก 10 รายการ มีทั้งรายการใหม่แกะกล่อง และนำรายการเดิมมาปัดฝุ่นใหม่ เช่น “Earth Quake เกมแผ่นดินไหว ที่มีปัญญา นิรันดร์กุล เป็นพิธีกรเอง ซึ่งได้ปรับมาจากรายการปริศนาฟ้าแลบ เนื่องจากคนดูอยากได้ความตื่นเต้นใหม่ๆ

หรือรายการวิคตอรี่ BNK48” ที่หลุดผังไปก่อนหน้านี้ เหตุที่หยุดเพราะสมาชิกใน BNK48 ไม่มีเวลาที่จะถ่ายทำ จึงวางแผนปรับรายการใหม่ นอกจากนั้นยังมีรายการของ BNK48 อยู่ในแผนอีก 1-2 รายการที่เตรียมทำ รวมไปถึงรายการออนไลน์โดยเฉพาะ ซึ่งต้องรอดูทิศทางก่อน

ปัจจุบันฐานคนดูหลักของ Workpoint อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ส่วนในออนไลน์อายุ 13-45 ปี เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 ปีนี้ตั้งเป้ารักษาให้อยู่ในระดับ 1.1-1.2 ส่วนรายได้ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท โดย 9 เดือนแรกของปี 2018 มีรายได้ 2,700 ล้านบาท.